เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง หมู่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) โดยยื่นถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (ลำปาง) และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อ “ปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ)”
หนังสือระบุว่า “ตามที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ประสานงานมายังผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และ บ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อสำรวจการครอบครองสัตว์เลี้ยงของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ในวันที่ 18 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน และได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาด้านพื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐ รวมถึงมีความกังวลต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน”
“ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานราชการในพื้นที่มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี เห็นได้จากการประชุมเพื่อจัดทำบันทึกการรับฟังความเห็น และตรวจสอบพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ตามข้อเรียกร้องของชุมชนบ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566”
เหตุผลในการค้านการสำรวจ
ตามหนังสือระบุว่า “ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จึงขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ด้วยเหตุผลดังนี้…”
1. พื้นที่ทั้งหมดของชุมชนได้รับการกันออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามข้อเรียกร้องของชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
2. ชุมชนอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาร่วมกับขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ว่าด้วยการเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ซึ่งตามแนวทางข้อที่ 3 ที่ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562
3. ขณะนี้อยู่ในระหว่างบรรยากาศในการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ในขณะที่กระบวนการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนก็จะได้รับการสานต่อในรัฐบาลต่อไป” หนังสือระบุ
อุทยานฯ ชี้แจง เลี้ยงวัว-ควาย สาเหตุเสี่ยงเกิดไฟป่า
นายธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ให้ข้อชี้แจงกับชาวบ้านว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานฯ นายอรรถพล เจริญชันษา ว่าไฟป่าส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเผาเพื่อให้หญ้าออก ทางเราแค่ต้องการนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการร่วมกัน จะได้รู้ว่ามีคนเลี้ยงกี่คน เลี้ยงกี่ตัว ที่ผ่านมาเราปล่อยอิสระ แต่เราจะได้บริหารจัดการร่วมกัน เจ้าหน้าที่จะได้ช่วยกันดูด้วย เผื่อมีเสือมากิน
โดยอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้นำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านเรื่อง สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระบุว่า อธิบดีอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อนะบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และกระทบกับสุขอนามัยของประชาชน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์
ทั้งนี้ เพื่อควบคุมและกำกับดูแล สกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุไฟป่าลุกลามและรุนแรงมากขึ้น จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดดำเนินการสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ/เขตรักษาสัตว์ป่า/เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ชาวบ้านยืนยันคัดค้าน ไม่ยอมตกเป็นแพะไฟป่า ในช่วงสุญญากาศการเมือง
นายแก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ชี้แจ้งว่า บ้านของพวกเขานั้นมีการกันพื้นที่อุทยานฯ ออกไปแล้ว ทำไมยังต้องมีอุทยานฯ มาดำเนินการอยู่ และพวกเขาเองก็ดูแลป่า บริหารจัดการป่ากันอยู่แล้ว การสำรวจวัวควายนั้นมันกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง วัวควายเหล่านี้ก็เลี้ยงตามธรรมชาติอยู่แล้วด้วย
ทางด้านนายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 กล่าวเพิ่มเติม หากตรวจสอบหนังสือของอธิบดีคือชัดเจนมากว่าจะเอาคนในป่าไปเป็นแพะรับบาปเรื่องไฟป่า จากหนังสือดังกล่าวนำไปสู่คำถามที่ว่า มันชอบธรรมหรือไม่ที่จะบอกว่าคนเลี้ยงวัวควายเป็นควันรับบาป อยู่ ๆ จะมาสำรวจด้วยสมมติฐานแบบนี้ ซึ่งมันเป็นความไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนในเผ่าที่เลี้ยงวัวควายเลย กล่าวคือ มันล่อแหลมมาก
“หัวหน้ามีเงินเดือน 3-4 หมื่น ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ผมไม่มีเงินกัน ต้องเลี้ยงลูก ส่งเรียน ก็ต้องเลี้ยงวัวควาย ถ้ามองความเป็นจริงมันคือการละเมิดสิทธิ ไม่มีความเป็นธรรม แล้วจะเอาบัตรประชาชนของชาวบ้านไปเราก็กลัว ว่าใครเลี้ยงที่ไหน เกิดไฟไหม้ ผมก็ตายสิ เพราะไฟป่าทุกวันนี้เราทำสุดความสามารถแล้ว แต่มันไหม้มาจากที่อื่น มันเป็นเรื่องอคติและการเหมารวมของอธิบดี มันจะเกิดปัญหาในอนาคต” นายสมชาติกล่าวต่อกรณีดังกล่าว
หลังจากนั้นชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) รับว่าจะนำไปรายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป
นี่เป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกับชาวบ้าน ต้องติดตามกันต่อไปว่ากรมอุทยานฯ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ก็ต้องรับฟังเสียงของชาวบ้านด้วยเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาเองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการดำเนินการบางอย่างเกิดขึ้น
อ้างอิง
- ชุมชนกะเหรี่ยงลำปางยื่นค้านอุทยานสำรวจพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในชุมชน
- ชาวกะเหรี่ยง จ.ลำปาง ค้านอุทยานฯ สำรวจเลี้ยงวัว-ควาย เขตป่า หวั่นกระทบวิถีทำกิน
- ภาพประกอบ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ