ขณะนี้โลกของเราเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลก บางเมืองที่ไม่เคยมีหิมะก็มีหิมะตกหนัก บางเมืองที่ไม่เคยมีลูกเห็บกลับมีพายุลูกเห็บโหมกระหน่ำ หรือแม้แต่ประเทศไทยที่เป็นที่รู้ดีว่าช่วงมีนา-เมษาเป็นช่วงฤดูร้อน ทว่าในปีนี้มันกลับร้อนเกินกว่าหน้าร้อนทั่วไป
วิกฤตด้านภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ต้องรอถึงอนาคตในอีกร้อยหรือสองร้อยปี แค่ระยะเวลาอันสั้นโลกก็เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ดังที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติ ออกมาคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ ฤดูฝนของไทยจะมาช้ากว่าปกติ จากปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนได้
การคาดการณ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประมาณการว่า มีโอกาส ร้อยละ 60 ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ และมีโอกาสร้อยละ 80 ที่จะเกิดเอลนีโญภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งสร้างความกังวลต่อหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเอลนีโญถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างในหลายประเทศ
ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนตัวและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจึงจะขาดฝนและแห้งแล้ง แต่ฝั่งอเมริกาใต้จะฝนตกมากขึ้นแทน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2018-2019 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์เพตเตอร์รี ตาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่า “ช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่เอลนีโญเป็นอีกหนึ่งตัวการที่สำคัญที่มีส่วนทำให้อุณหภูมิโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและอาจจะสูงทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเลยก็เป็นได้”
“โลกควรเตรียมตัวให้พร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่จะมาถึงได้แล้ว พวกมันกระตุ้นให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มใช้คำเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น”
จากคำคาดการณ์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกสู่การเตรียมตัวของประเทศไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 คาดว่าฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้อาจมาช้ากว่าปกติเล็กน้อย ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดกลางตุลาคม ทั้งนี้ปริมาณน้ำฝนรวมทั้งประเทศ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปีที่แล้วพอสมควร
ในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายตัวของฝนมีน้อย นำไปสู่การเกิดพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก บริเวณนอกเขตชลประทานอาจเกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้
ส่วนในช่วงครึ่งหลัง จนถึงกลางเดือนตุลาคม มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทสไทย ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำ
อ้างอิง
- WMO Update: Prepare for El Niño
- WMO เตือนโลก เตรียมรับมืออากาศร้อนจาก ‘เอลนีโญ่’ ด้าน กรมอุตุฯ เผย ฤดูฝนของไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติ
- ภาพประกอบ Abhishek Pawar
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ