ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมใหญ่ ๆ ช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นกรณี “ครูสอนดำน้ำ ฆ่าปลาวัวไททัน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล”
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นประเด็นถกเถียงกันในโลกออนไลน์อย่างมาก จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งโพสต์รูปภาพรอยแผลถูกกัดและภาพปลาวัวไททันที่ถูกฆ่า พร้อมกับข้อความ
“ดำน้ำอยู่เฉยๆ ไม่เคยยุ่งกันน้าาา แต่มากัดเราก่อนน้าาาา ตาย!!!
“ปลาวัวไททัน (Trigger fish)” ตัวนี้เป็นตำนานที่เกาะร้านเป็ด ดุมาก!!! กัดลูกทัวร์ทั้ง Freedive และ Scuba หลายคนแล้ว … วันนี้โดนกบตัวเอง ยอมไม่ได้ และเพื่อป้องกันมันไปโจมตีนักดำน้ำท่านอื่น “จัดให้เน้นๆ” ทำเมนูอะไรเด่วมาอัพเดท”
แน่นอนว่าหลังจากโพสต์เฟสบุ๊กเสร็จ กระแสตอบรับและความคิดเห็นในโลกออนไลน์เป็นไปในทิศทางลบ อาทิ “ไปดำน้ำในถิ่นของเขาแล้วฆ่าเขา ก็ไม่ควรไปดำน้ำที่ไหนเลย” หรือ “ปลากระโดดมางับบนบกหรอ ลงไปในน้ำเองนิคะ นั่นบ้านเขาค่ะพี่ เขามีสิทธิ์ปกป้องแหล่งที่อยู่เขานะคะ” เป็นต้น
ด้วยกระแสเชิงลบในโลกออนไลน์ทำให้ วันที่ 29 เมษายน 2566 ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายดังกล่าว ลบโพสต์ต้นเรื่องออกไป และออกมาโพสต์ขอโทษสังคมต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับแสดงความรู้สึกสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทว่าเรื่องราวยังไม่จบเท่านี้ เมื่อโลกโซเชียลได้ทำการขุดค้นข้อมูล แล้วพบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นครูสอนดำน้ำ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบโดยด่วน กระทั่งวันที่ 30 เมษายน 2566 นายนฤพล สังเกตุ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร เข้าพบกับครูสอนดำน้ำแล้ว
ในเบื้องต้นครูสอนดำน้ำคนดังกล่าวสำนึกผิดและขอรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ครูดำน้ำคนดังกล่าวได้จดทะเบียนประกอบอาชีพจังหวัดอื่น ทำให้ไม่สามารถดำนเนินการใด ๆ ได้ เพราะตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว ถ้าประกอบอาชีพในพื้นที่จังหวัดใด ก็ต้องจดทะเบียนในจังหวัดนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ยุติธุรกิจไว้ก่อนและต้องไปยืนทะเบียนหลักฐานจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มอบหมายให้ นายวิชัย สมรูป ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้เรียกตัวครูคนดังกล่าวมารับทราบกฎระเบียบในการดำน้ำ และการท่องเที่ยวทางทะเลแล้ว หากตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในภายหลัง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ฝากถึงครูดำน้ำและผู้ประกอบกิจการดำน้ำทุกคนว่า “การเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียนคือหัวใจสำคัญ และต้องเข้าใจก่อนว่าการไปดำน้ำนั้นคือการที่เราเข้าไปในบ้านคนอื่น เข้าไปในโลกที่ไม่ใช่ของเรา ดังนั้น บ้านเขา เขามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ ส่วนหน้าที่ของเราคือเคารพในสิทธิของเจ้าของบ้าน ไม่ใช่เขาไล่แล้วเราก็ไปฆ่าเขา หากเป็นคน คุณคงติดคุกไปแล้ว”
ปลาวัวไททัน มีความสำคัญอย่างไร
ถึงแม้ว่าปลาวัวไททันจะไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ก็เป็นปลาที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก สายพันธุ์นี้จะอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อน และเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ส่วนไทยสามารถพบได้ทั้งอันดามันและอ่าวไทย ทำรังตามพื้นทรายใกล้แนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ โดยพวกมันมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างหวงถิ่น และมีนิสัยก้าวร้าวเมื่อมีศัตรูเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน
ปลาวัวไททันยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นศัตรูผู้ล่าตัวฉกาจของปะการังเลย ทำให้พวกมันมีประโยชน์ในการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล ถือเป็นการปกป้องและรักษาสุขภาพของปะการังจากภัยคุกคามด้วย
“เชื่อว่าหากระบบนิเวศแนวปะการังขาดปลาชนิดนี้ไป อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนเกิดภาวะเสียสมดุลในปะการัง”
เราในฐานะมนุษย์พึงตระหนักไว้เสมอว่า เราเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่ไปเยือนถิ่นอาศัยของสัตว์เหล่านั้น พวกมันในฐานะเจ้าบ้านเป็นธรรมดาที่จะหวงแหนอาณาเขต ก็เหมือนกับมนุษย์ที่คงไม่อยากให้ใครมาบุกรุกบ้านของเรา
ดังนั้น เราควรปฏิบัติตนต่อสัตว์น้ำและสัตว์อื่น ๆ ด้วยความเมตตา เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะถ้าหากมีสัตว์ชนิดใดหายไปจากระบบนิเวศ ในไม่ช้าโลกของเราก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
อ้างอิง
- พักใบอนุญาต “ครูสอนดำน้ำ” ฆ่าปลาวัวไททัน-เอาผิดไม่ได้ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง
- ‘วราวุธ’ สวดยับ ครูดำน้ำมือฆ่าปลาวัวไททัน ไล่เข้าคอร์สปรับทัศนคติใหม่
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ