ภาษีพลาสติก มาตราการเพิ่มทุนการผลิต เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก  

ภาษีพลาสติก มาตราการเพิ่มทุนการผลิต เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก  

“ทุกวันนี้ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ก็เป็นพลาสติกไปหมด ยิ่งเราใช้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำร้ายโลกเรามากเท่านั้น (หรืออาจมากกว่านั้น) ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทั่วโลกตระหนักต่อเรื่องพลาสติกได้แล้ว”  

โลกร้อน วิกฤตภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ ขยะล้นโลก ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ นี้เป็นปัญหาที่โลกของเรากำลังเผชิญ โดยพลาสติก เป็น หนึ่งในต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ขึ้น 

แม้ว่าพลาสติกจะเป็นตัวร้ายตัวสำคัญของโลกใบนี้ ทว่าปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกกลับไม่มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงเลย มิหนำซ้ำปัญหาดังกล่าวยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย  

สัตว์และพืชมากมายต่างก็ได้รับผลกระทบจากพลาสติก ทั้ง ๆ ที่พวกมันไม่ได้ใช้พลาสติกเหล่านั้นด้วยซ้ำ  

ในความมืดยังมีแสงสว่าง หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนัก และเริ่มมีมาตรการ การจัดการ หรือกฎหมาย เกี่ยวกับพลาสติกอย่างจริงจังมากขึ้น หนึ่งในนั้น คือ การเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ อีกหนึ่งความร่วมมือระดับนานาชาติที่ยกระดับปัญหาพลาสติก สู่การแก้ไขปัญหาระดับโลก  

ภาษีพลาสติก คืออะไร  

ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ “ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก” (Plastic Packaging Tax: PPT) เป็นมาตรการทางภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ ผลิต นำเข้า หรือใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) และย่อยสลายยาก อย่างไรก็ดี ภาษีนี้ไม่ได้รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล   

การเก็บภาษีพลาสติกนั้นจะส่งผลให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือใช้ซ้ำได้แทนมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการมีภาษีพลาสติกจะช่วยให้ในท้ายที่สุดปริมาณขยะพลาสติกจะลดลง และที่สำคัญภาครัฐก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย 

ปัจจุบันมีประเทศที่จัดเก็บภาษีพลาสติกแล้ว คือ สหภาพยุโรป เริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป โดยคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโร ต่อ กิโลกรัม  

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังสามารถที่จะออกมาตรการทางภาษีพลาสติกของตนได้ เช่น สเปนและอิตาลีเก็บภาษีจากทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า ในอัตรา 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม เป็นต้น  

ส่วนสหราชอาณาจักร เริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน  

ในเอเชียมีที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เริ่มจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและนำเข้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งแล้ว ในอัตรา 100 เปโซ ต่อ กิโลกรัม  

ประเทศไทยมีมาตราการด้านภาษีพลาสติกบ้างหรือยัง?  

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีพลาสติกแต่อย่างใด แต่ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ได้ศึกษาและติดตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทย จึงพบว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติก เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น  

นายพูนพงษ์ได้กล่าวว่า “ในปี 2564 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังตลาดโลก มูลค่ารวม 140,772.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.07 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขยายตัวร้อยละ 13.46 สำหรับใน 11 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นมูลค่า 146,580.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.09 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 19.26 ญี่ปุ่น (ร้อยละ 16.74) เวียดนาม (ร้อยละ 5.69) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.94) และจีน (ร้อยละ 4.75)”  

จากข้อมูลดังกล่าวนายพูนพงษ์ได้วิเคราะห์ว่า แม้ตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยยังไม่มีการเก็บภาษีพลาสติก แต่ในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้จะจัดเก็บ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกพลาสติกอันดับ 1 ของไทย กำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น ประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมแผนการสำหรับรองรับและปรับตัวในการส่งออกผลิตภัณฑ์ต่อไป 

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันไทยได้พยายามวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และพลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล ทั้งนี้ก็เพื่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป  

ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เนื่องจากการจะทำให้การจัดการพลาสติกนั้นมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และความสามารถจากภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมด้วยช่วยกัน  

ถึงแม้ว่าในอีกปีสองปีข้างหน้า ปัญหาพลาสติกอาจจะยังไม่หมดไปในทันที แต่เชื่อว่าขณะที่หลายประเทศเริ่มตระหนักต่อปัญหาพลาสติกกันมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ก็เป็นได้  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ