เมื่อวันที่ 21 มีนาคม หลังอัยการภาค 7 สั่งให้สอบสวนเพื่อเติมสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ฝ.34/2561 หนึ่งในนั้นมีเรื่องให้ตำรวจสอบสวนในประเด็นการสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จากการเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งจะเป็นการฟ้องคดีทางแพ่งเพิ่มเติม
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ได้ประเมินความเสียหายไว้ที่ 3 ล้านบาทเศษ และได้แจ้งให้นายเปรมชัย กรรณสูต และผู้ต้องหาอีก 3 คนรับทราบแล้ว (แต่ทั้งหมดยังคงให้การปฏิเสธเหมือนข้อกล่าวหาอื่นๆ)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม กรมอุทยานฯ ได้มีการปรับตัวเลขใหม่ค่าเสียหายใหม่ รวมทั้งสิ้น 12,797,724 บาท มาจากการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการพิจารณาคำนวณค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีนายเปรมชัย กับพวก ร่วมกันล่าสัตว์ป่า ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
รายละเอียดของการประเมินค่าเสียหายนั้น พิจารณาจากรายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้
ข้อมูลนิเวศของเสือดำ พบว่าเสือดำมีอายุสูงสุดประมาณ 18 ปี ค่าเฉลี่ยอายุคือ 12 ปี เสือดำเพศเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2.5-3 ปี ในวงจรชีวิตหนึ่งจะให้ลูกได้ประมาณ 8 ตัว เสือดำที่ตายเป็นเพศเมีย อายุ 3-5 ปี ราคาซื้อขายทั่วไปประมาณ 2,550,000 บาท เมื่อเทียบเคียงกับโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่งเพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติบริเวณพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าอนุรักษ์อื่นๆ ประจำปีงบประมาณ 2558 สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี ประกอบกับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติของกรมอุทยานฯ มีอัตรารอดตายประมาณ 20% เมื่อคิดมูลค่าตั้งแต่เสือดำตัวเล็กๆ การฝึก ค่าอาหาร ยารักษาโรคเป็นเวลา 5 ปี กระทั่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ มีการสรุปความเสียหายของเสือดำรวมทั้งสิ้น 12,750,000 บาท
ส่วนมูลค่าความเสียหายของไก่ฟ้าหลังเทาอยู่ที่ 25,224 บาท มูลค่าความเสียหายของหมูป่าอยู่ที่ 22,500 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทางแพ่งในคดีทั้งสิ้น 12,797,724 บาท
ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าเสียหายทางระบบนิเวศจากการสูญเสียสัตว์ป่าทั้ง 3 ชนิด อันหมายถึงกลไกการทำหน้าที่ของสัตว์แต่ละชนิดในระบบนิเวศ เนื่องจากยังไม่มีผลงานวิจัยทางวิชาการรองรับ จึงยังไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้แจ้งว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งทีมงานศึกษาว่าเมื่อสัตว์ป่าเหล่านี้ถูกล่าแล้วจะเกิดผลกระทบ และมีค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นมูลค่าเท่าไรต่อไป
รายนามคณะกรรมการพิจารณาคำนวณค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีนายเปรมชัย กับพวก ร่วมกันล่าสัตว์ป่า
1. นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตำแหน่งประธานกรรมการ
2. นางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ตำแหน่งกรรมการ
3. นายเพ็ญวิชญ์ ศรีชัย ผู้อำนวยการกองนิติการ ตำแหน่งกรรมการ
4. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ตำแหน่งกรรมการ
5. นางสาวดาราพร ไชยรัตน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ตำแหน่งกรรมการ
6. นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ตำแหน่งกรรมการ
7. นายสมปอง ทองสีเข้ม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ