อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสาเหตุหลักของการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นการผันผวนของสภาพอากาศ โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งค่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาตรฐานในระดับความปลอดภัยถูกพิจารณาว่าไม่ควรเกิน 350 ppm แต่เมื่อปี 2556 มีปริมาณค่า CO2 ในชั้นบรรยากาศ 400.3 ppm ต่อมาปี 2559 มีปริมาณค่า CO2 ในชั้นบรรยากาศ 401 ppm และปีนี้ (2560) มีปริมาณค่า CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงถึง 410 ppm
ความพยายามของแต่ละประเทศที่ผู้นำประเทศจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ที่จัดขึ้นในปี 2558 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส นำไปสู่เป้าหมายของการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้สัตยาบันในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม COP21 ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2030 โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พร้อมทั้งลดการพลังงานฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2558 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 350 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ทั้งนั้นมีที่มาจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล 254 ล้านตัน ที่เหลือมาจากการเกษตร 58 ล้านตัน, สิ่งที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 24 ล้านตัน และขอเสีย 15 ล้านตัน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยยอมรับในหลักการดังกล่าว แต่ที่น่าเป็นกังวลคือผ่านมาแล้วกว่าปีครึ่ง การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในขั้นมาตรการและการปฏิบัติจริงยังไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปริมาณตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก และแสดงความเป็นห่วงนายกรัฐมนตรีที่ได้ไปรับปากไว้ในเวทีระดับโลก
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หากต้องการลดปริมาณ CO2 โดยเฉพาะถ่านหินที่เป็นแหล่งปล่อย CO2 ต้องปฏิรูปพลังงานสิ่งแวดล้อม นั่นหมายถึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการควบคุมภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่นการควบคุมโรงงานปูนซีเมนต์ และกรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ หากเดินหน้าต่อก็ไม่ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เราเห็นต่างประเทศตั้งเป้าและพยายามเปลี่ยนแปลงด้วยการลดการใช้พลังงานถ่านหินไปเรื่อยๆ และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ดิฉันเชื่อว่าหากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่ดิฉันยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจน
เมื่อให้สัตยาบันไปแล้วมันต้องตามมาด้วยมาตรการและนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หากต้องการลดก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมีหลักเกณฑ์จำกัดและลดการใช้ถ่านหินโดยตรง โดยเฉพาะลิกไนต์ แต่ว่าบ้านเรายังไม่มีนโยบายที่จะลด ทยอย หรือเลิกการใช้ถ่านหิน เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวหนึ่งที่บอกได้ชัดว่ายังไม่มีแนวทางหรือมาตรการในการควบคุมภาคอุตสาหกรรม ก็ยังเป็นห่วงท่านนายกอยู่ว่าท่านไปรับปากเขาไว้ แต่ว่ายังไม่ได้ดำเนินการในประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ที่มีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่อีกเป็นพันเมกะวัตต์ ดิฉันว่ามันจะไม่ทำให้เราลดก๊าซเรือนกระจกได้
ในขณะเดียวกันนั้นขยะก็เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซมีเทน ที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการหรือระบบจริงจังในการดักจับก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมันสามารถทำได้และมีหลายพื้นที่ใช้ แต่ยังไม่เห็นนโยบายระดับชาติที่สั่งไปเลยว่ากองขยะทุกกองต้องพัฒนาการจัดการขยะให้ดี นอกจากจะเป็นการพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีแล้วยังสามารถจัดการก๊าซมีเทนที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นมาตรการเป็นรูปธรรมชัดเจน
ทุกวันนี้ยิ่งเรากระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็จะการลงทุน มีการบริโภค ซึ่งทุกการลงทุน การบริโภคเหล่านี้คือการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงแสดงความเป็นห่วงท่านนายกที่ได้ไปรับปากเขาไว้แล้ว แต่ยังไม่มีแผนปฏิบัติการในประเทศในหลายภาคส่วน
การที่โลกร้อนขึ้นมันกระทบกับมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน แต่คนจนจะมีความบอบบางต่อความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า เช่นในเชิงการเกษตร ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ที่ภาคเกษตรเป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งชุมชนที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติสูงมากจะได้รับผลกระทบ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่คนในเมืองเองก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งการขาดแคลนอาหาร และภัยพิบัติจะรุนแรงมากขึ้น เราไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะเห็นได้ว่าผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมมันเยอะและก่อความเสียหายมาก ซึ่งภัยพิบัติไม่เลือกกระทำกับคนใดคนหนึ่งจึงเชื่อว่าเราทุกคนได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า
แต่มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน แต่เราไม่สามารถทำได้กว้างนัก เราสามารถทำได้เฉพาะตัวเรา แต่รัฐบาลสามารถทำได้ทั้งประเทศเพียงแค่ท่านนายกสั่ง