แม่นํ้าโขง มีความสำคัญต่อประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ และพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการเลี้ยงชีพ
เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีโอกาสพูดคุยกับคนในพื้นที่
เกี่ยวกับมุมมองของคนในพื้นที่ต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงประเด็นนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จักร กินีสี – นักกิจกรรมอิสระ : น้ำเหล่านี้ไหลมาจากบ้านผม บ้านผมอยู่ต้นน้ำที่หนองเล็งทราย จ.พะเยา ผมมาดูว่าต้นน้ำเป็นอย่างนี้แล้วปลายน้ำจะเป็นอย่างไร พบว่าตอนนี้ต้นน้ำก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ จึงถูกทำลายไปเยอะ แล้วโดยเฉพาะต้นน้ำบ้านผมปลูกลิ้นจี่กันจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นดินแดนลิ้นจี่เพราะอร่อยที่สุดในประเทศไทย แต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนขึ้นจึงทำให้สวนลิ้นจี่หลายสวนต้องล้มเลิกไปเพราะว่าอากาศมันร้อน ลิ้นจี่ชอบอากาศเย็น ดังนั้น Climate Change จึงมีผลกระทบมาก
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ : ผมมองว่าเขื่อนเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงแม่นํ้า เพราะเปรียบเทียบแม่นํ้าโขงกับสาละวินที่ยังไม่มีเขื่อน หากดูจากคนหาปลา แม่นํ้าโขงหาปลาทั้งวันยังไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว แต่สาละวินต้องหาได้ เราสรุปว่าเขื่อนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของแม่นํ้าเพราะมันสามารถเปลี่ยนแปลงทันที ประเด็นพวกนี้ผมว่ามันมีผลต่อเนื่องไปเรื่องภูมิอากาศหมด อีกทั้งมีข้อมูลจากนักเคมีว่าเขื่อนจะปล่อยความร้อนขึ้นสู่อากาศ แต่ว่าในขณะที่สร้างก็จะมีการตัดต้นไม้อยู่แล้ว ทุกเขื่อนที่สร้างผมเห็นมีการตัดต้นไม้หมด เรื่องโลกร้อนเป็นผลต่อเนื่องโดยองค์รวมของการทำร้ายทำลายทรัพยากร
จิระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ : หากแม่น้ำโขงเป็นแบบเมื่อก่อนเราสามารถกำหนดอะไรหลายๆ อย่างได้ อย่างเช่นไก หรือการท่องเที่ยว เราสามารถกำหนดได้ แต่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ เราดูเรื่องสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่มันเปลี่ยนไปโดยกระแสของการทำลายโดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ แล้วก็สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ตอนนี้เราเห็นว่าพื้นที่มันถูกใช้สอยเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เช่นในประเทศลาวมันเข้าไปรุกป่าแล้วก็กิจการต่างๆ ตามมาด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนคนเข้ามาใช้พื้นที่เยอะขึ้น พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ป่ามันลดลง ทรัพยากรมันลดลง เหล่านี้จะไปส่งผลกระต่อสภาพภูมิอากาศโลก