จากเหตุการณ์เสือดำตายที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ถือได้ว่าเป็นอีกปรากฏการณ์ที่สาธารณชนจากหลายภาคส่วนลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับความตายผิดธรรมชาติของสัตว์ป่าอย่างพร้อมเพรียง
ทุกคนพร้อมใจกันพูด และลงมือกระทำ ตามทักษะ ความรู้ และความสามารถที่ตัวเองมีอย่างไม่จำเป็นต้องรีรอว่าเมื่อไหร่จะมีผู้นำเคลื่อนไหว
เพื่อให้เรื่องนี้ไม่เงียบหายไปกับสายลมเหมือนเรื่องราวอื่นๆ และเพื่อย้ำเตือนความหวังให้คงอยู่
เสือดำต้องไม่ตายฟรี
เสือดำไม่ตายฟรี ไม่ใช่เพียงเพราะผู้กระทำผิดได้รับโทษ แต่เสือดำไม่ตายฟรี เพราะสาธารณชนต่างตระหนักและให้ความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกันถ้วนหน้า
และมากไปกว่านั้นคือการมองต่อไปยังอนาคต ว่าจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง
ในบทนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ชวน 2 หนุ่ม นักวาดภาพ (เป็นงานอดิเรก) และ 1 วงดนตรี มาพูดคุยที่มาของการเคลื่อนไหวเล็กๆ ตามความถนัด แต่มากด้วยความหมายใหญ่ยิ่งในการกระทำ
คุณโอ๊ค พงษ์พันธ์ พลสิทธิ์ สมาชิกวง Big Ass ในตำแหน่งมือเบส หลายคนคงคุ้นตาผลงานของเขามาบ้างแล้วกับภาพ Blackened สัญลักษณ์ “โครงการก้าวคนก้าว” และผลงานภาพวาดอื่นๆ ที่เจ้าตัวใช้เวลาว่างเว้นระหว่างทัวร์กับวงบรรเลงลายเส้นไว้ในสมุดบันทึกและเผยแพร่ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว
พอมาถึงเรื่องเหตุการณ์เสือดำถูกยิงตายที่ทุ่งใหญ่ คุณโอ๊คได้อธิบายความรู้สึกของตัวเองผ่านผลงานที่ชื่อ No More Killing
“No More Killing เราอยากแสดงออกตามสิ่งที่เราถนัด ซึ่งก็คือการวาดรูป แล้วให้เพื่อนที่เป็นดีไซนเนอร์ช่วยวางภาพลงบนเสื้อยืด ออกวางขาย ตอนแรกคิดว่าจะวางขายกันแค่ 100-200 ตัว แต่เกินความคาดหมายที่มีคนสนใจสั่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก รายได้จากตรงนี้ก็เอามาสมทบทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร”
ส่วนที่มาของคำว่า No More Killing มือเบสวง Big Ass อธิบายว่า เกิดจากประเด็นเรื่องการล่าสัตว์ป่าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรผืนป่าในประเทศไทยหรือที่อื่นๆ ทั่วโลก เขาไม่ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเสือดำ ไก่ป่า นก ลิง ค่าง ชะนี กวาง หรืออะไรก็ตาม เพราะเมื่อสัตว์ป่าถูกฆ่า วงจรของสัตว์ป่าก็จะถูกทำลาย เป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง
สำหรับเสื้อ No More Killing นี้ นอกจากจัดทำขึ้นเพื่อมอบรายได้แก่องค์กรการกุศลที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว คุณโอ๊คยังคาดหวังไว้ว่าภาพที่วาดออกมา จะเป็นเครื่องเตือนใจต่อสาธารณชน ให้จดจำถึงเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งได้เกิดขึ้นในผืนป่ามรดกโลก และเป็นโจทย์ให้คิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่กระแส อยากจะเตือนว่าเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเสือดำตายสัตว์ตัวอื่นตาย เราก็ตาย ต้นไม้ตาย เราก็ตาย ธรรมชาติเป็นเจ้านายเรา เราไม่ใช่เจ้านายธรรมชาติ อยากจะให้เสื้อตัวนี้คอยเตือนใจเราได้ตลอดเวลา อยากจะให้สิ่งนี้ส่งผลไปกับทุกคนที่เห็นผลงาน” คุณโอ๊ค กล่าวทิ้งท้าย
อีกหนึ่งกลุ่มศิลปินร็อกที่เราชวนมาพูดคุย คือ วงเรโทรสเปกต์ ที่เพิ่งจัดคอนเสิร์ตใหญ่อย่างเฉพาะกิจ “Retrospect : Heart of the Panther หัวใจเสือดำ” (เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561) เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น
จากประโยคเด็ดกลางงานคอนเสิร์ต จี19 (G19) “ร็อกไม่มีวันตาย แต่เสือดำตายใครรับผิดชอบ” คุณแน็ป ชนัทธา สายศิลา นักร้องนำเท้าความถึงที่มาของการจัดคอนเสิร์ตนี้ว่า
“ในฐานะที่ผมมีไมค์อยู่ในมือ เราพยายามคิดว่าเราจะทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง ในฐานะเราเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ในวันนั้นเรามีเสียงดังมากกว่าคนอื่น ก็เลยพูดออกไปนิดนึง”
แต่กลายเป็นว่าประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ในงานคอนเสิร์ต G19 กลับกลายเป็นที่สนใจของสาธารณชน รวมถึงสื่อมวลชน
“เราคิดว่าเสียงของเรามันใหญ่พอที่จะปลุกให้สาธารณชนได้หันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะสร้างปลุกจิตสำนึกให้กับคน ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะ การที่สัตว์มันจะตายไปสักตัวหนึ่งมันหมายถึงระบบนิเวศ และสิ่งต่างๆ มันเป็นเรื่องสะเทือนใจ ก็เลยสร้างคอนเสิร์ตขึ้นมาพร้อมกับเพื่อนๆ ช่วยกันระดมทุน ให้อีกหลายๆ มูลนิธิที่ทำงานรักษาป่า”
นอกจากทำคอนเสิร์ตเพื่อปลุกจิตสำนึกและระดมทุนเพื่อองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว วงเรโทรสเปกต์ยังได้แต่งเพลงพิเศษขึ้นสำหรับงานนี้โดยเฉพาะชื่อเพลงว่า “หัวใจเสือดำ” มีท่อนร้องหนึ่งว่า
หัวใจเสือดำ อย่าปล่อยมันให้เงียบงัน มารับกรรมสิ่งนั้นที่คุณก่อ… หัวใจสีดำ ตะโกนอยากให้โลกฟัง จะรอวันนั้น วันที่ความเป็นธรรมทอแสง…
คุณแน็ป อธิบายความหมายของเพลงนี้ว่า “ผมพยายามเขียนให้ทุกคนมีอารมณ์ร่วมไปกับการเป็นเสือดำตัวหนึ่ง ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดขนาดไหน เขารู้สึกทุรนทุรายขนาดไหนก่อนที่เขาจะตายไป และก็พูดไปถึงบุคคลที่เขากำลังทำอยู่ว่า นี่มันสมควรใช่ไหมที่เรียกว่าคน สักวัน ผลกรรมก็จะตามคุณทัน”
ปิดท้ายเรื่องนี้อีกหนึ่งความเห็นจากนักแสดงรุ่นใหญ่ คุณดุ๊ก ภาณุเดช วัฒนสุชาติ
คุณดุ๊ก เล่าว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์อยู่ในช่วงที่กำลังบวช พอสึกออกมาก็เห็นเพื่อน คือ คุณท๊อป ดารณีนุช ปสุตนาวิน กำลังทำโครงการ “ใครรักป่า ยกมือขึ้น” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เดียวกัน ด้วยความที่เป็นคนพอมีฝีมือทางด้านวาดภาพจึงยกมือเข้าไปช่วยวาดภาพสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อยืดออกขายระดมทุน และเพื่อย้ำเตือนถึงทุกคนที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรมว่า เราต้องดูแลป่า โดยเริ่มต้นที่คนที่ดูแลป่า
นอกจากร่วมทำกิจกรรมกับโครงการ “ใครรักป่า ยกมือขึ้น” คุณดุ๊ก ภาณุเดช ยังได้แสดงออกถึงเรื่องนี้ผ่านภาพวาดเสือดำ
สำหรับที่มาที่ไปและความหมายภาพเสือดำนั้น คุณดุ๊กอธิบายว่า “เราเข้าใจที่ทุกคนลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าคุณทำไปทำไม ทำไปเพราะอะไร แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้คำตอบ ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่ทำที่ตัวเราก่อน เราคิดว่าคนที่ตามเราน่าจะเข้าใจเรา ผมอยากให้มองข้ามไปอีกจุด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไรและเพราะใคร อาจจะไม่ใช่คนคนนั้นคนเดียว อาจจะเริ่มต้นจากตัวเรานี่ล่ะ เราอาจสปอยสังคมในรูปแบบที่ไม่ถูกต้องกันมา เพราะฉะนั้นในขณะที่เราเรียกร้องให้เขารับผิดชอบ ให้ภาครัฐรับผิดชอบ อย่าลืมเรียกร้องให้ตัวเองรับผิดชอบด้วย
อย่าลืมว่าเสือดำตัวนี้เขาไม่ตายฟรีหรอก เขาปลุกจิตสำนึกพวกเรา อย่างน้อยเราได้ภูมิใจที่ได้ทำอะไรบางอย่างที่ได้เริ่มต้นที่ตัวเรา อยากให้ทุกคนลุกขึ้นคิดว่าเราต้องทำอะไร และต้องบอกต่อออกไปอีกแค่ไหน เพื่อที่เราจะดูแลสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์ป่า อย่าให้กรณีนี้เป็นแค่แฟชั่น