โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน กำลังการผลิตติดตั้งขนาด 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,850 ไร่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพาจังหวัดสงขลา พื้นที่โครงการทั้งหมดอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขามปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาใช้ถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัส จากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย ในปริมาณมากกว่า 21,000 ตันต่อวัน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยโครงการจะมีความต้องการใช้น้ำราว 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีความต้องการใช้น้ำจืดราว 4 พัน ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การสูบน้ำและการระบายน้ำหล่อเย็นจะระบายลงสู่คลองตูหยงและทะเล มีการเผาถ่านหินมากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยควันพิษและสารพิษที่มองไม่เห็น ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนจะกระจายทั่วสงขลาและปัตตานี
ซึ่งถูกมองว่าเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด ขณะที่ประชาชนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน อาจแสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในหลายๆ มิติ เช่น ทำลายระบบนิเวศและวิถีชุมชนที่อาศัยทรัพยากรท้องถิ่นในการดำรงชีพ ด้านมลภาวะที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว อีกทั้งยังสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน เพราะถูกแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน อีกทั้งการดำเนินโครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะทำให้ประชาชนพื้นที่ถูกย้ายออกกว่า 148 ครัวเรือน พื้นที่มัสยิด กุโบร์ โรงเรียนปอเนาะบางแห่งอาจจะถูกย้ายออกจากพื้นที่
โครงการดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้กำหนดรายละเอียดของสิ่งที่จะต้องทำ แต่ได้ลงรายละเอียดไปถึงขั้นที่ตั้งของการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า คำถามจากประชาชนในพื้นที่จึงเกิดขึ้นว่า ทำไมต้องเลือกที่นี่ ทำไมต้องเป็น ‘เทพา’ การที่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่อยู่และตัวบุคคลออกไป ถือเป็นการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ใหญ่มาก ที่สำคัญคือประชาชนภายในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเลย
เป็นเหตุให้วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ เรือรณรงค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของกรีนพีซ เดินทางมายังจังหวัดสงขลา ในโครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” โดยจะทำงานร่วมกับชุมชน และกลุ่มพลเมืองที่มีความตระหนักในประเทศไทย และกระตุ้นผู้กำหนดนโยบายพลังงานให้ลด ละ เลิกถ่านหิน และผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นธรรม
ซึ่งเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์จะทอดสมอที่ชายหาดสมิหลาเป็นเวลา 6 วัน และจะมีกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” ซึ่งรวมถึงนิทรรศการเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซและขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม เวทีสาธารณะ เกมส์ และการสาธิตระบบโซล่าเซลล์ ขนาด 1,000 วัตต์
ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ที่ข้างเกาะขาม อ่าวเทพา อำเภอเทพาจังหวัดสงขลา เรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ได้เดินทางไปถึงตือโละปาตานี (อ่าวเทพา) เพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา โดยเรือประมงพื้นบ้านจัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตร ในทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม เป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” (หมายถึง “ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล”) เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านถ่านหิน (No coal) และเทใจให้ทะเล (Heart for Sea)
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อ่านคำประกาศเจตนารมย์ “อะโบ๊ยหมะ เทใจให้ทะเล” บนเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ความว่า ท่ามกลางการพัฒนาที่ล้างผลาญ ทะเลคือส่วนหนึ่งของการถูกกระทำให้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว การมาถึงของเรือเรนโบว์วอริเออร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งของคนในพื้นที่สงขลา-ปัตตานีในวันนี้
วันนี้ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่แห่งนี้ มีสำนึกในการปกป้องทะเลอย่างเต็มเปี่ยม พวกเราร่วมกันทำปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ฟูมฟักสัตว์น้ำวัยอ่อน ใช้อวนตาใหญ่ขึ้น เพื่อจับแต่สัตว์น้ำที่โตเต็มวัย พยายามส่งเสียงให้จำกัดหรือหยุดการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง รวมทั้งยังพยายามเก็บขยะจากทะเลที่มาเกยริมชายหาด เพื่อไม่ให้ลงไปในทะเลอีก พวกเราพยายามทำการตลาดและขนส่งปลาปูกุ้งหอยหมึกกั้งสดๆจากทะเลไปสู่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องใส่สารเคมีใดๆ ความพยายามเหล่านี้กำลังเติบโต ทะเลกำลังฟื้นตัว ทะเลคือธนาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ต้องมีใครเลี้ยง ไม่ต้องให้อาหาร ต้อนรับทุกคนที่มีแรงมาลงเรือทำการประมงโดยไม่ต้องมีวุฒิ ขอเพียงแต่ให้มีสำนึกของการอนุรักษ์ ปลาปูกุ้งหอยหมึกกั้ง สัตว์ทะเลอื่นๆกำลังค่อยๆเพิ่มจำนวน ทะเลจึงกลายเป็นความหวังไม่เฉพาะของชุมชนชาวประมง แต่รวมถึงของคนทั้งโลก และนี่คือทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
แต่ในท่ามกลางสถานการณ์การฟื้นตัวของทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปจนถึงปลายแหลมตาชี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กลับมีความเสี่ยงที่ทะเลแถบนี้จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง นั่นคือการคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำร้ายไม่เฉพาะทะเล แต่จะทำลายชุมชน ทำลายผืนดินสายน้ำ และอากาศด้วย
ด้าน น.ส.สุกัญญา หัดขะเจ เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา คือสองโครงการหายนะที่รัฐบาลพยายามผลักดัน หากสำเร็จลง เมื่อรวมกับโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะที่เดินเครื่องไปก่อนแล้ว การตามมาของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หายนะจะคืบคลานมาสู่พื้นแผ่นดิน สายน้ำ และทะเลอย่างยากที่กู้กลับคืนมา การรวมตัวของพี่น้องประมงพื้นบ้านในพื้นที่จะนะ เทพา และปัตตานีในวันนี้ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน นักพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่หวังเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในวันนี้ เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องการสานพลังความเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น และร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร ฐานชีวิตของผู้คนให้พ้นจากหายนะจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สุขสงบและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
เราทั้งหลายขอประกาศว่า เราจะร่วมกันปกป้องทะเลอันอุดม อากาศที่บริสุทธิ์ แผ่นดินที่สมบูรณ์ และวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่สุขสงบแห่งนี้ ให้ปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และโครงการขนาดใหญ่ใดๆ ที่ชุมชนไม่ต้องการเราจะสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน สังคมที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมที่ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง มีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง เพื่ออนาคตของเราเอง ของลูกหลาน ของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงของโลกที่ต้องการความยั่งยืนด้วย