จากข้อมูลขององค์การนาซา ในปี พ.ศ. 2559 อุณหภูมิพื้นผิวโลกได้ทุบสถิติปีที่ร้อนที่สุด 0.12 องศาเซลเซียส โดยตัวเลขดังกล่าวบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งทุบสถิติก่อนหน้า 0.13 องศาเซลเซียสซึ่งบันทึกเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยก่อนหน้านั้น มีการบันทึกการทำลายสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2548 ตามลำดับ
หากคุณกำลังคิดว่า เหตุการณ์ทุบสถิติปีที่ร้อนที่สุดดูจะมีบ่อยครั้งขึ้น คุณเข้าใจถูกแล้วครับ การทุบสถิติปีที่ร้อนที่สุดต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันนั้นไม่เคยมีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จากข้อมูลที่จัดเก็บตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 ตลอด 35 ปีระหว่าง พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2522 ไม่มีการบันทึกสถิติปีที่ร้อนที่สุดครั้งใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ต่อไป 37 ปี มีการบันทึกสถิติใหม่ทั้งสิ้น 12 ครั้ง
คลิปวีดีโอนี้แสดงให้เห็นถึงปีที่ร้อนทำสถิติใหม่ทุกปีจากข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่จัดเก็บโดยองค์การนาซาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423
ในอดีต มีการระบุสถิติปีที่ร้อนที่สุดต่อเนื่องกันในช่วงสั้นๆ คือระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2487 ทั้งหมด 5 ครั้ง อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่คาดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีวัดอุณหภูมิระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจริงๆ
อย่างไรก็ดี ถึงจะรวมข้อมูลในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดเวลา 100 ปี ของข้อมูลที่จัดเก็บโดยองค์การนาซา การทำสถิติปีที่ร้อนที่สุดมีเพียง 7 ครั้งเท่านั้น แต่จากปัจจุบันย้อนกลับไป 20 ปี เราก็จะพบการทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดถึง 7 ครั้ง
การทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดบ่อยครั้งขึ้น (ประมาณ 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง) ค่อนข้างใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์การภูมิอากาศ งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดย Stefan Rahmstorf และ Dim Coumou ระบุว่าหากสภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป เราน่าจะได้เห็นการทำลายสถิติใหม่ทุกๆ 4 ปี
“หากเราใช้ข้อมูลย้อนหลังกลับไปแค่ 30 ปี เราจะเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็นเส้นตรงประมาณ 0.017 องศาเซลเซียสต่อปี หรือการทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุด 2.5 ครั้งในรอบทศวรรศที่ผ่านมา (1 ครั้งต่อทุก 4 ปี)”
Stefan Rahmstorf ให้สัมภาษณ์ว่า การทุบสถิติอุรหภูมิบนพื้นผิวโลกนั้นสอดคล้องกับแนวโน้มสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
“เราไม่มีหลักฐานทางสถิติถึงอัตราเร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เราก็ไม่มีหลักฐานทางสถิติเช่นกันว่าสภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มบรรเทาลงจากข้อมูลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มดังกล่าวยังซ่อนตัวอยู่ในคลื่นรบกวน (ซึ่งอาจเป็นอัตราเร่ง แต่จากข้อมูลเท่าที่เรามี ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้)”
ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
แน่นอนว่าผู้ที่ไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมแสดงการไม่เห็นด้วย กลุ่มต่อต้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการ GWFP อ้างว่าการทุบสถิติปีที่ร้อนที่สุดต่อเนื่องลักษณะนี้หมายความว่าสภาวะโลกร้อนกำลังจะหยุด เนื่องจากสถิติดังกล่าวเป็นผลของปรากฏการณ์เอลนิโญ แต่แน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวตรงกันข้ามกับนักวิทยาศาสตร์และนักสถิติหลายคน
ค่อนข้างชัดเจนว่าการทุบสถิติปีที่ร้อนที่สุดต่อเนื่องเช่นนี้มีแรงผลักดันคือกิจกรรมของมนุษย์ โดยปกติแล้วปรากฎการณ์เอลนีโญจะทุบสถิติใหม่ก่อนหน้า เช่นในปี พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2559 (แต่ไม่รวมถึง พ.ศ. 2557) อย่างไรก็ดี ปีที่เกิดเอลนีโญในปัจจุบัน ก็ร้อนกว่าปีที่เกิดเอลนีโญในอดีตอย่างเห็นได้ชัด
Scott Pruit ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่สหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency –EPA เทียบเท่ากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) อ้างว่าเราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน
ความคิดดังกล่าวนั้นผิดแบบเต็มๆ เพราะไม่มีทางที่เราจะทุบสถิติอุณหภูมิโลกต่อเนื่องถึง 3 ปี หากไม่เป็นเพราะสภาวะโลกร้อน และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ รายงานล่าสุดโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่ากิจกรรมของมนุษย์คือสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ด้วยระดับความเชื่อมั่น 95% และมีแนวโน้มที่จะเป็นส่วนรับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิทั้งหมด
กลุ่มผู้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มมากขึ้น ตัวแทนของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการหลอกลวงครั้งใหญ่ และตั้งข้อสงสัยถึงสัดส่วนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ รวมถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กลุ่มคนเหล่านี้อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเชิงกายภาพไม่ได้ผันเปลี่ยนไปตามความคิดของกลุ่มคนเหล่านั้น หากเราไม่รับมือกับปัญหา สิ่งที่เราจะเผชิญในอนาคตก็คือการทุบสถิติโลกร้อนครั้งใหม่ และสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ยิ่งเราปฏิเสธนานเท่าไร ผลที่ร้ายแรงกว่านั้นก็จะตามมา
ถอดความและเรียบเรียงจาก We’re now breaking global temperature records once every three years
โดย Dana Nuccitelli