ซารอน ชายวัย 60 ปีนั่งอยู่ริมฝั่งน้ำโขงพลางซ่อมแหจับปลา เขาเล่าเรื่องราวที่ปู่ของเขาเคยเล่าให้ฟังว่า “ในตอนเช้าที่อากาศค่อนข้างเย็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ลุงซมเนงกำลังทอดแหนอกชายฝั่งก่อนที่คลื่นจะซัดเรือจนพลิกคว่ำ เขาพยายามที่จะพลิกเรือกลับแต่ก็หมดแรงเพราะกระแสน้ำที่ค่อนข้างรุนแรง ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ด้านล่าง โลมาแม่น้ำสีเทาช่วยดันเขากลับไปที่เรือ และพยุงให้เขาขึ้นไปบนเรือได้”
พิน ภรรยาของซารอนเสริมว่า “ในอดีต ในแม่น้ำมีโลมาเยอะมาก พวกมันชอบทำให้เราตกใจโดยกระโดดเลียบข้างๆ เรือจับปลา เหมือนว่าพวกมันแวะมาทักทายและยิ้มให้เรา” ในมุมมองของเธอ “โลมาก็เหมือนกับมนุษย์เพียงแต่อาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำ พวกมันเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจึงสอนไม่ให้เราจับพวกมัน”
เขตสมโบร์ (Sambor District) ตั้งอยู่ริมลำน้ำโขงบริเวณใจกลางประเทศกัมพูชา แม่น้ำแห่งนี้จึงเปรียบเป็นสายธารแห่งชีวิตของชุมชน ประชากรในเขตซัมบอราว 50,000 คนทำอาชีพประมงและเกษตรริมชายฝั่ง หรือบริเวณเกาะกลางแม่น้ำซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำโขง
โลมาอิรวดี (Orcaella brevorostris) ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันอาศัยอยู่หนาแน่นในแอ่งน้ำลึก 9 แห่งตลอดความยาว 190 กิโลเมตรของลำน้ำโขงซึ่งติดต่อกับเขตสมโบร์และน้ำตกคอนพะเพ็งซึ่งอยู่ในอาณาเขตของประเทศลาว การลดลงของโลมาเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้การนำของเผด็จการพลพต เนื่องจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้น้ำมันโลมาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงตะเกียง มอเตอร์ไซค์ และเครื่องยนต์เรือ อีกทั้งยังกินเนื้อโลมาเป็นอาหาร หลังจากสิ้นยุคของพลพต ปืนกลายเป็นของหาง่ายทั้งในกัมพูชาและเวียดนาม มีรายงานว่าทหารของกัมพูชายิงโลมาในแม่น้ำสำหรับฝึกยิงปืน
ปัจจุบัน โลมาแห่งลำน้ำโขงกำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งใหม่ จากโครงการก่อสร้างเขื่อนสมโบร์ ซึ่งจะตัดขวางแม่น้ำสายหลักและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญพันธ์ของโลมาที่ยังรอดชีวิต และส่งผลกระทบรุนแรงต่อปลาชนิดพันธุ์อื่นๆ เช่นเดียวกับชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาการประมงเป็นอาชีพ เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งขนาดที่อยู่อาศัย การไหลของน้ำ ตะกอนดิน รวมทั้งทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และกีดขวางการเดินทางไปวางไข่ของปลาหลายชนิด นอกจากนี้ การใช้ระเบิดเพื่อการก่อสร้างเขื่อน อาจส่งเสียงดังที่ส่งผลกระทบต่อโลมาเนื่องจากโลมามีประสาทการรับเสียงที่อ่อนไหวอย่างมาก
เขื่อนดอนสะโฮงในลาวซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนกัมพูชาประมาณ 2 กิโลเมตร ได้ปิดช่องทางการอพยพของปลาและโลมาที่อยู่ด้านล่าง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน รวมทั้งการใช้เครื่องมือจับปลาแบบทำลายล้าง เช่น การใช้ไฟฟ้าช็อต หรือการวางยาเบื่อ ทำให้คาดว่าโลมาอิรวดีได้สูญพันธุ์อย่างไม่เป็นทางการแล้วในเขตประเทศลาว
แอ่งน้ำลึกคัมปี (Kampi pool) ไม่ไกลจากเมืองสมโบร์ เป็นที่อยู่อาศัยของโลมากว่า 20 ชีวิตจากประชากรในกัมพูชาทั้งหมดราว 80 ตัว พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยพบว่าผู้หญิงในชุมชนสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการพานักท่องเที่ยวไปชมโลมาแม่น้ำ
รายงานของกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ระบุว่า “พบอัตราการตายของโลมาอิรวดีราวร้อยละ 16 – 20 ซึ่งถือเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลมาอิรวดีจะมีโอกาสรอดได้ในระยะยาวก็ต่อเมื่ออัตราการตายของโลมาอยู่ที่ร้อยละ 1 – 2 เท่านั้น นอกจากนี้ อัตราการตายของลูกโลมายังสูงอย่างน่ากังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีลูกโลมาอยู่รอดจนสามารถแยกตัวออกจากครอบครัวได้เลย”
การสร้างเขื่อนสมโบร์นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นการสูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี เขื่อนแห่งนี้ยังจะกั้นไม่ให้ปลาจำนวนมากอพยพ ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 70 ของปลาพาณิชย์จากลำน้ำโขงในปัจจุบัน ทำให้ผลผลิตจากการประมงอาจลดลงถึงร้อยละ 26 – 42 และนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารของประชากรนับล้านคน
เขื่อนดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชาชนจะอดอยาก ยังทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย รายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่าประชาชนราว 20,000 คนจะต้องอพยพเพื่อสร้างเขื่อนสมโบร์
สิ่งหนึ่งที่ชาวชุมชนริมฝั่งน้ำโขงกังวล คือลูกหลานของเขาอาจรู้จักโลมาอิรวดีว่าเป็นสัตว์ในเทพนิยาย คล้ายกับการสาบสูญของเพื่อนคนหนึ่ง
นอกจากโลมาอิรวดีจะเป็นที่รักของคนในท้องถิ่น โลมาแม่น้ำยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญในการเรียกร้องให้คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแม่น้ำในมุมที่กว้างขึ้น รัฐบาลกัมพูชาจึงมีทางเลือกแทนที่จะสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือการใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ และเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์โลมาแม่น้ำในธรรมชาติ ให้พ้นจากสภาวะใกล้สูญพันธุ์