ภาพผู้คนที่ต่างทยอยมาริมท่าน้ำ ถือวัตถุสิ่งหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาคล้ายภาชนะที่ถูกเย็บด้วยใบตอง มีฐานเป็นต้นกล้วยปักด้วยธูปหอมและเทียนไข เมื่อพร้อมแล้วต่างคนต่างยกสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวขึ้นเหนือศรีษะ บ้างวางอยู่กับพื้นดินแต่พนมมือเสมอหน้าอก กล่าวคำขอขมา และอาราธนาขอพร จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในสายวารี ก่อนจะลอยสิ่งประดิษฐ์นั้นลงสู่แม่น้ำ
จากการบรรยายข้างต้นเชื่อว่า ผู้อ่านทุกท่านคงเคยได้เห็นภาพเหล่านี้อยู่เป็นประจำในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งหากหยิบยกประเด็นเรื่อง ‘เทศกาลลอยกระทง’ มาพูดคุยกัน นอกจากประเด็นเรื่องความเชื่อความศรัทธาแล้ว คงต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย พูดถึงประวัติ การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนานว่า ประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นในสมัยใดกันแน่ ?
จากข้อมูลที่ถูกระบุในศิลาจาลึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไม่ได้มีการระบุคำว่า ลอยกระทงแต่อย่างใด มีแต่ ‘เผาเทียน เล่นไฟ’ ที่มีความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่าเป็นการทำบุญไหว้พระ ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานยืนยันชัดว่า การลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่โปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยจะสมมุติฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน
แม้การลอยกระทงจะไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน แต่กระนั้นเทศกาลลอยกระทงก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมหรสพอันคึกครื้น เสมือนเป็นงานเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน สิ่งหนึ่งที่การันตีความนิยมของเทศการลอยกระทงคือ จำนวนของกระทงในแต่ละปีที่มากมายมหาศาล
ย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนกระทงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 พบว่า หลังคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกระทงในแม่น้ำ ลำคลอง สวนสาธารณะ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แสนใบ โดยในปี พ.ศ. 2557 มีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 982,064 ใบ โดยสามารถแบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 885,995 ใบ กระทงที่ทำจากโฟม 96,069 ใบ
ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะมองว่า กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักจาก ต้นกล้วย ใบตอง หรือกาบมะพร้าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดมลภาวะในแม่น้ำลำคลอง
คุณผู้อ่านลองจินตนาการว่า กระทงธรรมชาติเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาย่อยสลายถึง 14 วัน ซึ่งหากไม่มีการจัดเก็บ กระทงเหล่านี้ย่อมสร้างปัญหาทำให้น้ำเน่าเสีย รวมไปถึงกีดขวางทางไหลของน้ำ และสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า กระทงเหล่านี้ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ออกมาด้วยวัสดุธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนประกอบที่เป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ในระบบนิเวศ อาทิ เข็มหมุน เข็มเย็บกระดาษ ก้านธูป
ดังนั้นกระบวนการต่อมาหลังการเก็บจึงต้องเพิ่มขั้นตอนการแยกขยะเข้าไปด้วยใน ซึ่งหากกระทงเหล่านี้ไม่ถูกเก็บสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ย่อมกลายเป็น สิ่งตกหล่นเหลือค้างอยู่ในธรรมชาติ ที่นี้คงไม่ต้องนึกถึงกระทงที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมในแบบต่าง ๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการที่เข้าใจผิดของมนุษย์
หลาย ๆ คนมีแนวคิดที่ว่า กระทงที่ทำมาจากขนมปังปอนด์ หรือกระทงที่ทำมาจากน้ำแข็ง จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เขียนมองว่า กระทงดังกล่าวได้สร้างปัญหากับระบบนิเวศโดยที่เราไม่รู้ตัว สำหรับกระทงที่ทำมาจากขนมปัง ตามข้อมูลระบุว่า หากในพื้นที่ที่ไม่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ หรือมีสัตว์น้ำที่เข้ามากินขนมปังเป็นจำนวนน้อย ส่งผลให้ให้ขนมปังยังคงสภาพเดิม และต้องใช้เวลาย่อย 3 วัน ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
เนื่องจากเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ยจะทำให้น้ำมีค่าบีโอดีหรือค่าสารอินทรีย์สูง ขณะที่กระทงน้ำแข็งเองยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ต้องพูดถึงกระทงที่ทำมาจากโฟมเลยว่า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน การันตีจำนวนปีย่อยสลาย 50 ปี คงไม่ต้องบอกถึงความเลวร้ายของมันเลย
มาถึงตรงนี้แล้วผู้อ่านคงจะคิดว่า ในเมื่อการลอยกระทงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ ทำไมไม่ยกเลิกไปเลย สำหรับผู้เขียนมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลอยกระทงนั้น อยู่ที่ ‘จำนวนของกระทง’ ที่มากจนเกินไป ทุกคน ๆ เราลองนึกภาพไปพร้อม ๆ กัน ตามข้อมูลจำนวนกระทงปี 2557 พบว่า แค่ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนถึง 982,064 ใบ แม้จะเป็นจำนวนกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติถึง 885,995 ใบก็ตาม ยังมีกระทงอีกจำนวนเท่าไหร่ในจังหวัดอื่น ๆ หรือมีกระทงอีกสักกี่ใบที่รอดพ้นการเก็บของเจ้าหน้าที่กลายเป็น ‘ขยะ’
ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังเชื่อว่าเรากำลัง ‘ขอขมาพระแม่คงคา’ มันจะกลับกลายเป็น ‘การทำลายพระแม่คงคาหรือเปล่า’
อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นความกระตือรือร้นของผู้คน ที่ออกมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และความสมดลของระบบนิเวศ ผ่านแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับเทศกาลประจำค่ำคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เช่น การเลือกลอยกระทงในรูปแบบออนไลน์ หรือการรณรงค์ให้ลอยกระทง (ที่ทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์) หนึ่งใบต่อหนึ่งครอบครัว หรือหนึ่งคณะ เพื่อลดจำนวนขยะในแม่น้ำ
ข้อมูลเชิงประจักษ์อีกหนึ่งชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้คนคือ เทศกาลวันลอยกระทงประจำปี 2563 นี้ กรุงเทพมหานครได้เก็บกระทงได้เป็นจำนวน 492,537 ใบคิดเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ หรือร้อยละ 96.4 และกระทงที่ทำด้วยโฟมจำนวน 17,731 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.6
โดยจากข้อมูลทางสถิติพบว่า ในปี 2563 นี้ ซากกระทงที่พบในคูคลอง สวนสาธารณะ และแม่น้ำเจ้าพระยา มีจำนวนลดลงจากปี 2562 จำนวน 9,487 ใบ (เทศกาลวันลอยกระทงปี 2562 กทม. สามารถเก็บซากกระทงได้ 502,024 ใบ) คิดเป็นร้อยละ 1.89 ข้อมูลข้างต้นถือเป็นสิ่งชี้วัดสำคัญว่า จำนวนขยะในแหล่งน้ำมีน้อยลง เพราะประชาชนต่างให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการนำซากกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ และย่อยสลายง่าย ไปส่งยังโรงงานผลผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยกรุงเทพมหานครทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หนองแขม อ่อนนุช และสายไหม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบ เพื่อรอการย่อยสลายต่อไป
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนคิดว่า เทศกาลวันลอยกระทงยังสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม กระนั้นต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างความตระหนักในการประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเชื่อที่ว่า ‘เราขอขมาพระแม่คงคา’ ไม่ใช่ ‘สร้างภาระให้พระแม่คงคา’
ข้อมูลประกอบ
ถ้าลอยกระทงกลับกลายเป็นประเพณี ‘สร้างขยะ’ แล้วทำไมเรายังต้องมีประเพณีนี้ต่อไปอีก
วัดระดับความกรีนของ 5 กระทงรักษ์โลก
ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?