“ตอนนี้เนื้อที่พื้นนาประมาณ 300 ไร่ ถูกน้ำเค็มกลืนไปแล้ว” ประวัติ คลองรั้ว ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.คลองประสงค์ อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เล่าสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่งแก่ผู้มาเยือนภายใต้โครงการนำเสนอความรู้และพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 จัดโดยสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
“ผืนนา” บนพื้นที่เกาะ วิถีคนคลองประสงค์
จากแผ่นดินใหญ่ ท่าเทียบเรือสวนเจ้าฟ้า ใกล้เคียงบริเวณลานปูดำสัญลักษณ์ตัวเมืองกระบี่ ประมาณ 200 เมตร ใช้เวลา 15 นาที สู่ท่าเทียบเรือท่าหิน (เกาะกลาง) พื้นที่เกาะกลางแม่น้ำกระบี่ ห้อมล้อมด้วยป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์นับพันไร่ เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิต ชุมชนที่เรียบง่าย และยังคงรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นไว้ได้อย่างดี
ชุมชนแห่งนี้ ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน และรับจ้างทั่วไป
“มีการอพยพมาอยู่ที่นี่ประมาณ 200 ปีแล้ว ปู่ของแม่เล่าให้ฟังว่า ปู่เป็นชาวมุสลิมมาจากรัฐไทรบุรีคือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน มีชาวพุทธไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มาจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชาวประมง ส่วนพวกเราทำนา อยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกข้าวกับปลาซึ่งเป็นผลผลิตของแต่ละคน” ประวัติ เล่า
การทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กินเองจึงเป็นเรื่องราววิถีชีวิตของที่นี่ พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านใช้ปลูกในระยะเริ่มต้นคือ ข้าวนางพญา ข้าวลูกหมี ข้าวยาคู ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์หนักต้องใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตนาน 6 เดือน ประกอบกับผลผลิตต่อไร่ก็ได้จำนวนไม่มาก ราคาไม่สามารถสู้ข้าวจากภาคอื่นได้
น้ำเค็มรุกล้ำ เปลี่ยนพื้นที่นาถูกทิ้งร้าง
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาในเรื่องพื้นที่นาหลายไร่ถูกน้ำเค็มรุกล้ำจนไม่สามารถปลูกข้าวได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ต้องหาซื้อข้าวสารกินแทน กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเข้าไปช่วยเหลือโดยการก่อสร้างแนวกั้นน้ำเค็ม ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกข้าวในพื้นที่นาที่ถูกทิ้งร้างได้บางส่วน
พื้นที่ ต.คลองประสงค์ มีพื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 700 ไร่ แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ทั้งหมดเพราะติดปัญหาน้ำเค็มท่วมที่นา
ประวัติ ในฐานะประธานกลุ่มชาวนาตำบลคลองประสงค์ ผู้มีประสบการณ์การทำนากว่า 20 ปี ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่ใกล้บ้านของตัวเองเป็น “ศูนย์ชาวนาข้าวสังข์หยด (Rice Center)” จุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลคลองประสงค์แก่นักท่องเที่ยว และผู้มาเยือนตลอดทั้งปี เล่าว่า พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ มีปัญหาเรื่องน้ำเค็มท่วมถึง ระดับน้ำทะเลไม่คงที่ และเพิ่มระดับความสูงมากขึ้นจนท่วมพื้นที่นาข้าวรอบนอก หากปีไหนของฤดูกาลการทำนาเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงจนเอ่อล้นท่วมแปลงนา ส่งผลให้ทำนาไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร ผลผลิตข้าวจะเสียหายทั้งหมดจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
เขาเล่าต่อว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเกษตรกรไปอบรมเรื่องการปลูกข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุงจึงมีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ข้าวเดิมมาเป็นพันธุ์ข้าวสังข์หยดจนกระทั่งปัจจุบันชาวนาที่นี่เลือกปลูกแต่ข้าวพันธุ์สังหยดเพียงอย่างเดียวปัจจัยของปริมาณน้ำฝนและช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไป
“ถ้าใช้พันธุ์ข้าวเดิมจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ช่วงข้าวใกล้เก็บเกี่ยวถ้าเกิดน้ำท่วมจะทำให้ข้าวเสียหาย เพราะในระยะออกรวงถึงเก็บเกี่ยวนาน ทำให้เสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหาย ส่วนพันธุ์ข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นข้าวเบาใช้เวลาแค่ 4 เดือน ความเสี่ยงก็น้อยลงไป เนื่องจากระยะเวลาจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวสั้น อีกอย่างหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจเนื่องจากราคาขายข้าวสังข์หยดแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่น” ประวัติ กล่าว
วิกฤติน้ำเค็มรุกพื้นที่ ผลพวงวิกฤตโลกร้อน
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยฯ (2554) ระบุตัวอย่างการศึกษาการที่น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่นาข้าวในพื้นที่บ้านเกาะกลาง ต.คลองประสงค์ จ.กระบี่ ว่าการหนุนสูงของระดับน้ำทะเล เนื่องทั้งจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ เนื่องจากลมมรสุม และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากปัจจัยระดับมหาสมุทร อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวในบริเวณพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่นาที่สำคัญของบ้านเกาะกลางได้
สอดคล้องกับรายงานวิจัย “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจ และชุมชนชายฝั่งทะเลในประเทศไทย พื้นที่ศึกษาต้นแบบจังหวัดกระบี่ โดย กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF-Thailand) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ ตัวอย่างผลการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อพื้นที่ชายฝั่งอันดามันโดยใช้เครื่องมือ Dynamic Interactive Vulnerability Assessment (DIVA)
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณ จ.กระบี่ ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) และ 2050 (พ.ศ.2593) จะเพิ่มขึ้น 11 เซนติเมตร และ 21 เซนติเมตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงปีฐาน คือ ปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538)
นอกจากนี้มีการรายงานว่า อิทธิพลจากลมท้องถิ่นก็ยังมีผลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มมากขึ้นในบางฤดูกาลอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลนี้จะส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อไปยังระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะผลกระทบต่อเสถียรภาพของชายฝั่งและการปนเปื้อนของน้ำเค็มในชั้นน้ำจืดหรือบ่อน้ำตื้นบริเวณชายฝั่ง