จับตา 7 อ่างเก็บน้ำเตรียมผุดกลางป่ามรดกโลก “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่”

จับตา 7 อ่างเก็บน้ำเตรียมผุดกลางป่ามรดกโลก “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่”

หากยังจำภาพของคุณสืบที่พยายามช่วยชีวิตกวางตัวหนึ่งที่กำลังลอยคออยู่ในน้ำให้รอดพ้นจากวินาทีแห่งความตายภายหลังที่บ้านของพวกมันถูกแปรสภาพเป็นเขื่อนขนาดใหญ่

เขื่อนรัชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน คือภาพแห่งความเจ็บปวดของสัตว์ป่าที่ต้องสละชีวิตเพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตต่อไปได้ ภาพเหล่านั้นอาจถูกมาฉายซ้ำอีกครั้งหากมีการสร้างเขื่อนกลางป่าโดยเฉพาะป่ามรดกโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยอย่างกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่

7 อ่างเก็บน้ำกลางป่ามรดกโลก “ดงพญาเย็นเขาใหญ่” ซึ่งตั้งอยู่ในจุดสำคัญรอบกลุ่มป่า

.
ที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อช.ตาพระยา พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รวม 4,753 ไร่ ความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 22.32 ล้าน ลบ.. และ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รวม 1,853 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ของราษฎรรวมอยู่ด้วย ความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 85.17 ล้าน ลบ..

ปัจจุบันทั้งสองโครงการได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว เตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก.

ด้านโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อยใสใหญ่ ที่มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 8,500 ไร่ ความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 334.43 ล้าน ลบ.. ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องทำ (EHIA) และโครงการอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ซึ่งทั้งสองโครงการมีแผนจะก่อสร้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังไม่อนุญาตให้มีการเข้าไปทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่

ส่วนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด ในพื้นที่ อช.ทับลาน โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว และอ่างเก็บน้ำที่ 7 คือโครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา ทั้งสองแห่งมีแผนก่อสร้างในพื้นที่ อช.เขาใหญ่

ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่ป่ามรดกโลกอยู่ภายใต้ข้อตกลงอนุสัญญาฯ ว่าควรหลีกเลี่ยงหรือยกเลิกแผนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งปลูกสร้างประเภทอ่างเก็บน้ำ หรือการเข้าทำประโยชน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่ป่ามรดกโลก เพื่อสงวนรักษาพื้นที่นี้ไว้อย่างเต็มที่

กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ นอกจากจะเป็นป่ามรดกโลกแล้วยังถือเป็นพื้นที่สำคัญในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รองจากกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร ที่นี่ยังคงมีพื้นที่มากพอให้ประชากรเสือโคร่งได้เติบโต ทั้งยังพบร่องรอยสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง อาทิ กระทิง หมูป่า ช้างป่า กวางป่า เก้ง และวัวแดง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่งอีกด้วย

จากเอกสารการศึกษาผลกระทบ EIA บางส่วนพบว่า พื้นที่สร้างเขื่อนบางจุดซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ พบสัตว์ป่าในพื้นที่ศึกษาโครงการ 220 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 38 ชนิด นก 116 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 43 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก 23 ชนิด พบสัตว์ป่าสงวน 1 ชนิด คือ เลียงผาเหนือ และสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 4 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ได้แก่ กระทิง หมีหมา หมีควาย และช้างป่า และสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

จากบทสรุปข้อหนึ่งของหนังสือรายงานการประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชประภา) โดย สืบ นาคะเสถียร ระบุว่า การแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นงานที่มิอาจเป็นไปได้ในเชิงของการปฏิบัติ เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นขบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้