คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก แคมเปญที่ (ไม่) ใหม่ ถูกกลับมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อความเป็นจริงสวนทางกับวาระด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับทำไม่ได้จริง ทำให้ประชาชนหลายฝ่ายแสดงความกังวล และออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพิจารณาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ พร้อมให้เหตุผลว่าภาครัฐควรเน้นการจัดการขยะภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ มากกว่าจะอ้าแขนรับซื้อขยะจากต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือแผนและโรดแมป มรดกจากรัฐบาลคสช. ที่จัดเตรียมแผนพัฒนาประเทศ และวางกรอบแนวทางปฏิบัติงานให้กับรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป เข้ามาสานต่อ ให้สอดคล้องกับแผนที่คสช. ได้เขียนไว้ โดยมีการพูดถึง 6 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย
- ด้านความมั่นคง เพื่อจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับและทุกมิติ
- ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก
- ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ คนไทยในอนาคตมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และมีคุณธรรม
- ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสในทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
- ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ต่อความยั่งยืน
- ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ การปรับเปลี่ยนภาครัฐยึดหลักภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม
ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สาระสำคัญในแผนนี้ระบุเป้าหมาย 20 ปี คือ การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างยั่งยืน เป้าหมายต่อมาคือการฟื้นฟูและสร้างฐานทรัพยากรใหม่ เพื่อลดผลกระทบทางลบจากการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติตามขีดความสามารถของระบบนิเวศ
ตัวชี้วัดได้พูดถึงแบบองค์รวมคือ การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู ความสมดุลทางทะเล คุณภาพอากาศ การจัดการขยะต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องของพื้นที่สีเขียว ก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำ มีการกำหนดอัตราร้อยละอย่างชัดเจน คือ พื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศลดลง อย่างน้อย ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ การบริหารจัดการน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ความมั่นคงน้ำในทุกมิติเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 80
เป้าหมายที่กล่าวแบบกว้าง ๆ กับตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาในอนาคต สฤณี อาชวานันทกุล – กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ แห่ง “ป่าสาละ” เคยออกมาพูดถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติใน the101.world ระบุว่า
น่าสังเกตว่าตัวชี้วัดข้างต้นส่วนใหญ่ (ไม่นับเป้าหมายพื้นที่สีเขียว และการลดก๊าซเรือนกระจก) ยังมีความเป็นนามธรรมสูง ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็น “ดัชนีชี้วัด” แต่อย่างใด
เนื้อหายุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่พูดถึงการสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่าง ๆ อย่างกว้าง ๆ โดยใช้กลไกเชิงบวกหรือ ‘โลกสวย’ อาทิ “ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” หรือ “มุ่งเป้าสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคเอกชน” โดยแทบไม่พูดถึงกลไกเชิงบังคับ เช่น การยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การนำร่องใช้ภาษีคาร์บอน การตั้งเป้าเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 พฤษภาคม 2560 บนเว็ปไซต์ the101.world ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสือกระดาษที่ใช้ได้ แต่ไม่จริง
หากย้อนดูโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก กรณีการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศพบว่า การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ได้มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยช่วงผ่อนผันมีการกำหนดโควตาการนำเข้าปีที่ 1 ได้ไม่เกิน 70,000 ตัน ในปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ (โดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาดังกล่าวจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน 2563)
แต่จากข้อมูลการนำเข้าเศษพลาสติกของประเทศไทย พบว่า ในปี 2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง 552,912 ตัน ในปี 2562 มีการนำเข้าถึง 323,167 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งนำเข้าในปริมาณ 152,738 ตัน และมีการส่งออกพลาสติกไปยังต่างประเทศด้วย และในปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีมีการนำเข้า 96,724 ตัน
ส่วนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2560 นำเข้าในปริมาณ 54,260 ตัน และในปี 2561 ในปริมาณ 38,404 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2559 ก่อนที่จะมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราว มีปริมาณนำเข้า 1,986 ตัน
จากแผนงานตามโรดแมป นอกจากไม่เป็นไปตามคาดการณ์แล้ว ยังพบการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกปนเปื้อนและขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกด้วยการกำหนดโควตาของภาครัฐ
นอกจากปัญหาขยะพลาสติกแล้ว ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่สวนทางกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุในตัวชี้วัดหนึ่งว่าด้วยสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจะต้องได้รับการฟื้นฟู เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลพยายามเดินหน้าโครงการเก่าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ภาพฝัน ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ พื้นที่อุตสาหกรรมครบวงจรขนาดยักษ์ โดยมีท่าเรือเป็นประตูทางน้ำด้านตะวันออกของไทย ซึ่งล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ยุติการศึกษาทบทวน ผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA เรียบร้อยแล้ว เหมือนว่าชาวบ้านจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แต่กลับมีโครงการอื่น ที่กรมเจ้าท่าพยายามเสนอทดแทนอย่างโครงการศึกษาและออกแบบพัฒนาท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ในพื้นที่ กระบี่ พังงา ตรัง สตูล) ในปี 2564 โดยให้เหตุผลว่าการขนส่งทางน้ำยังคงมีความจำเป็นต้องพัฒนา
โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ พื้นที่บางส่วนมีราษฎรชาวไทยภูเขา เชื้อสายกระเหรี่ยงอยู่อาศัยและทำกินกว่า 400 ไร่ การสร้างอ่างเก็บน้ำนอกจากจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่แล้ว ยังจะส่งผลกระทบให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องอพยพออกด้วย ซึ่งขณะนี้โครงการยังอยู่ขั้นตอนของการพิจารณาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการสำรวจผลกระทบเพิ่มเติม
ภาพฝันอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่า แผนนี้จะทำได้สำเร็จ หรือล้มเหลว ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดเราอาจจะเสียเวลาไป 20 ปี โดยที่ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้เลย