การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยมีมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการกระจายของไวรัสจากคนสู่คน ซึ่งหน้ากากอนามัยส่วนใหญ่ ถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันโรคแบบ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ ที่กลายเป็นขยะติดเชื้อจำนวนมาก หากไร้ซึ่งการจัดการตามวิธีที่ถูกต้องย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์
ข่าวการนำ ‘หน้ากากอนามัยมือสอง’ มาจำหน่ายซ้ำถือเป็นการรีไซเคิลในทางที่ผิด เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ถูกผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ที่ไม่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะทันทีที่หน้ากากถูกซัก เส้นใยที่ถักทอขึ้นมาจะสูญเสียคุณสมบัติในการป้องกันไวรัส และอาจมีเชื้อโรคตกค้างมาจากผู้ใช้รายเก่า ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ถูกใช้แล้วจะถือเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อ
ตามกฏกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 นิยามคำว่ามูลฝอยติดเชื้อ หมายถึง มูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือมีความเข้มข้น ซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใกล้กับมูลฝอยนั้นจะสามารถทําให้เกิดโรคได้ และยังหมายถึงขยะที่เกิดจากกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล รวมถึงที่ใช้ในงานวิจัยด้วย
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้มีการโพสต์ข้อความบนหน้าเฟซบุ๊ก ถึงปัญหาการจัดการหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ว่า ควรมีตั้งถังขยะพิเศษในชุมชน เพื่อทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว
ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้มีหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใช้ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกทิ้งปะปนกับขยะชุมชนทั่วประเทศประมาณเกือบ 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งหน้ากากเหล่านี้หากปนเปื้อนด้วยเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก ของบุคคลที่เป็นพาหะนำโรคก็เข้าข่ายเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งไม่มีใครทราบได้เลยว่ามีอยู่ปริมาณเท่าไหร่ และพนักงานที่ทำหน้าที่เก็บขนขยะจะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส
ยิ่งกว่านั้นท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 85 จะนำไปเทกองรวมเป็นภูเขาประมาณ 1,100 แห่งทั่วประเทศ จึงมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายได้ทั้งทางน้ำและทางอากาศ เรื่องนี้ภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ได้มีการยกกรณีศึกษาจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสรุปได้ว่า ในแผ่นดินใหญ่มีการตั้ง ‘ถังขยะพิเศษ’ ขึ้นในชุมชนต่าง ๆ และมีการออกกฎให้ประชาชนที่จะทิ้งหน้ากากอนามัย (ที่ผ่านการใช้แล้ว) จะต้องพับใส่ถุงพลาสติกและทิ้งใส่ทั้งขยะสีแดงที่จัดตั้งไว้เท่านั้น ซึ่งทุกถังจะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ตลอดเวลา หากใครทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วผิดถัง จะมีโทษและถูกปรับครั้งละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท
หากเป็นร้านค้าที่ทิ้งเป็นจำนวนมาก จะมีการปรับครั้งละไม่เกิน 50,000 หยวนหรือประมาณ 250,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เก็บขนขยะติดเชื้อเหล่านี้ ต่างมีการแต่งกายด้วยชุดป้องกันอย่างดี และมีการฉีดพ้นแอลกอฮอล์ที่ถังขยะทุกครั้งก่อนนำส่งเตาเผา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการเปิดเผยถึง ปริมาณหน้ากากอนามันที่กลายเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการเทียบกับอัตรากำลังการผลิต
พบว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 1.2-1.3 ล้านชิ้น และจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้หนึ่งวันจะเกิดขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว จำนวนกว่า 1-2 ล้านชิ้น ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 240 กิโลกรัม (เฉลี่ย 1 ชิ้น มีน้ำหนักประมาณ 0.012 กิโลกรัม)
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการทำข้อเสนอแนะไปยังกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดูแลและกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร