สัมพันธภาพสารเคมีทางการเกษตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

สัมพันธภาพสารเคมีทางการเกษตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่เพียงความสะดวกสบาย การประหยัดเวลา และลดแรงงานในการทำการเกษตรเท่านั้นที่ทำให้เกษตรกรหันมาใช้สารเคมีในการดูแลพืชผลทางการเกษตรของตน แต่ยังทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการจับจ่ายซื้อผลผลิตที่สวยงามดูมีคุณภาพ สารเคมีจึงเข้ามาผูกพันกับวิถีเกษตรกรอย่างไม่ง่ายที่จะหลีกเลี่ยง

ตัวเอกของสารเคมีที่กำลังตกเป็นประเด็นร้อนระอุขณะนี้หนีไม่พ้นสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย แห่งประเทศไทยมีมติไม่แบนด้วยอ้างว่าข้อมูลผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอที่จะประกาศยกเลิก ในขณะที่กว่า 50 ประเทศทั่วโลกออกมาแบนสารเคมีทางการเกษตรดังกล่าว ด้วยเหตุผลโดยรวมเพื่อความห่วงใยต่อสุขภาพและปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา

อย่างไรก็ตามจากมุมมองของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพทางการเกษตรมายาวนานนั้น คุณยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก แสดงความเห็นใจต่อเกษตรกรที่ไม่ใคร่มีทางให้เลือกนัก

 

 

เกษตรกรต้องการพึ่งพาความสะดวก รวดเร็ว ลดการใช้แรงงาน กลายเป็นการเสพติดความสะดวกสบาย แต่จะไปโทษตัวเกษตรกรอย่างเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียนพอถึงฤดูกาลฟันและเผาไร่ แต่ช่วงที่ต้องเผานั้นกลับเป็่นช่วงเวลาเดียวกันกับมาตรการควบคุมไฟป่าของรัฐบาล แต่เมื่อพ้นช่วงเวลาห้ามเผาก็ล่วงเลยเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านถึงจะเผาก็ไม่ได้ผลแล้ว จึงหันไปพึ่งพาสารเคมียาฆ่าหญ้าในที่สุด

ภาระหน้าที่ที่หลายภาคส่วนต้องหันหน้าคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ที่ปรากฏข่าวโรคเนื้อเน่าที่อาจมีความเกี่ยวกับกับการใช้สารเคมีทางเกษตรที่สร้างความแคลงใจก็ดี รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น ผลกระทบของสารเคมีที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทบกพร่องของเด็กและทารก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือโรคพาร์กินสัน เป็นต้น

“ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างชัดเจน” ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก บอกเล่าจากประสบการณ์ การสังเกต การเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย “สารเคมีพวกนี้สุดท้ายมันไหลลงไปตามริมห้วย ผ่านแหล่งน้ำ แหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่เคยมีคุณประโยชน์ ยกตัวอย่างโซนเมืองกาญจน์สมัยก่อนที่ยาฆ่าหญ้ายังไม่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านมีผักกูดที่ขึ้นตามริมห้วยเป็นแหล่งอาหารที่สามารถเก็บหากินได้ทั่วไป แต่ปัจจุบันเมื่อมีการใช้สารเคมีเหล่านี้เยอะขึ้น สารเคมีสะสมในระดับเข้มข้นมากๆ เข้า พืชท้องถิ่นก็ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ”

“จากที่ชาวบ้านเคยถ้อยทีถ้อยอาศัย ข้าวปลาหาเอาได้จากธรรมชาติแถวบ้าน ก็ผลัดเปลี่ยนไปบริโภคและพึ่งพารถกับข้าวมากขึ้น เลิกใส่ใจกับระบบนิเวศของลำน้ำ นี่เป็นผลมาจากการใช่สารเคมีทั้งยาฆ่าหญ้าและแมลง สารเคมีนี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ สุดท้ายแล้วสัตว์น้ำและพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ก็ลดความหลากหลายลง เหลือไว้แต่ชนิดพันธุ์ที่ทนและสามารถปรับตัวได้ดีเท่านั้น ซึ่งอย่างผักกูดนั้นทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเราก็เข้าไปส่งเสริมให้เขาเก็บรักษาไว้ ไม่ให้ทิ้ง ไม่ให้ใช้ยา และเมื่อผลผลิตออกมากลายเป็นว่าทุกคนก็แย่งชิงกันใช้ กลายเป็นคนที่อนุรักษ์แทบไม่เหลือใช้ ก็เป็นการใช้ร่วมกันที่พื้นที่อื่นนั้นหมดไปแล้ว และอาจจะต้องหมดไปหากไม่ส่งเสริมการลดใช้สารเคมี”

สิ่งหนึ่งที่ควรพึงกระทำนั่นคือสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน รู้เท่าทันพิษภัยที่จะเกิดขึ้น

“ต้องสร้างความรู้ให้เกษตรกรถึงภัยที่แท้จริงของสารเคมีทางการเกษตรว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นต้องแลกมาด้วยสุขภาพของตัวอย่างอย่างไร และจะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอนาคตว่าคุ้มค่าหรือไม่ และสิ่งแวดล้อมที่เราจะสูญเสียหรือถูกทำลายไปด้วยวิวัฒนการของความสะดวกสบายจะเป็นอย่างไร”

 

 

ด้านกิจกรรมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ยังคงดำเนินการผลักดันเกษตรกรหรือชาวบ้านให้ออกมาจากวงโคจรวิถีชีวิตที่พึ่งพาสารเคมีไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีคนชาวบ้านในชุมชนเป็นต้นแบบโมเดลให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน

คุณยุทธนา เพชรนิล ชี้แจงว่า เรามีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนชุมชนหรือระบบนิเวศทั้งหมด จึงอาศัยแกนนำที่ถือเป็นผู้กล้าในการนำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นเกษตรอินทรีย์นั้นดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเราไม่ได้บังคับว่าเขาต้องเชื่อ ต้องทำ หรือต้องให้ความร่วมมือ ชุมชนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เริ่มเปลี่ยนและพลิกชีวิตมาทำการเกษตรอินทรีย์ด้วยตาตัวเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านนั้นได้นำสมุนไพรอินทรีย์ไปต่อยอดและยกระดับต่างๆ มากมาย อาทิ ด้านการแพทย์แผนไทย ร้านนวดสมุนไพร รวมถึงการดูแลสุขภาพภายในชุมชนกันเองด้วยการจ่ายยาสมุนไพรง่ายๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในการใช้สารเคมีทางการเกษตรนั้น สารพิษก็จะวนเวียนอยู่รอบตัวเรามิได้หายไปไหนไกล แวดล้อมทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เนื่องการใช้สารเคมีที่ใช้ในการฉีดพ่นพืชผลทางเกษตร นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ใช้เองแล้ว ผลผลิตที่นำมาจำหน่าย หรือบางส่วนกลายเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ หรือการแทรกซึมผ่านสิ่งแวดล้อมก็ดี เราซึ่งเป็นผู้บริโภคทั้งพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์เหล่านั้นย่อมได้รับสารพิษดังกล่าวอยู่แล้ว การสะสมสารเหล่านั้นภายในร่างกายอาจก่อเกิดเป็นโรคภัยต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วหากเรายังไม่ลดหรือเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายเกินค่ามาตรฐาน พวกเราหรือลูกหลายเองก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากสารเคมีพ้น

ที่สุดแล้วปัญหาพืชผลและสารเคมีทางการเกษตร ชีวิตมนุษย์ในเรื่องของปากท้อง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนั้นล้วนเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก กล่าวทิ้งท้ายว่า นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเลือกปกป้องอะไรอย่างไร

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร