ผลการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกที่พิจารณาการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เมื่อค่ำวานนี้ (7ก.ค. 62) คณะกรรมการฯให้โอกาสไทยกลับมาทบทวนประเด็นข้อห่วงใยและนำเสนอเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป โดยมี 3 ข้อห่วงใยดังนี้
- ขอให้กลับมาปรับแนวเขตพื้นที่ที่เสนอ ให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาร์
- ทำข้อมูลวิเคราะห์ให้เห็นและยอมรับได้ว่าขอบเขตใหม่ที่ตกลงกันแล้วนั้น ยังคงคุณค่าในเชิงนิเวศ ตามเกณฑ์ข้อที่ 10 (แหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหายากหรืออยู่ในภาวะอันตราย) ควบคู่กับการนำเสนอมาตรการในการดูแลคุ้มครองพื้นที่ด้วย
- ให้นำเสนอผลการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนในพื้นที่ ตามข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว
สรุปว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่ได้รับประกาศเป็นมรดกโลก
สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่ ซึ่งไทยผลักดันขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2553
อ.ศศิน เฉลิมลาภ ในฐานะผู้จัดทำแผนการจัดการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ข้อคิดน่าสนใจว่าพื้นที่แห่งนี้จะได้เป็นมรดกโลกหรือไม่ มันไม่สำคัญเท่ากับการที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นสู่ความเป็นมาตราฐานมรดกโลกอยู่แล้ว ตามวิสัยทัศน์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ว่า
“รักษาป่าต้นน้ำ 1.8 ล้านไร่ให้แม่น้ำ เพชรบุรีและ แม่น้ำปราณบุรี ในมาตรฐานมรดกโลก อย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน”
จึงขอส่งกำลังใจ และขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้
เรื่องนึงที่น่าคิด คือเราคนไทยเองเห็นคุณค่าของป่าผืนนี้แค่ไหน ก่อนที่จะเป็นมรดกของคนทั้งโลก…
บทความ : ภาณุเดช เกิดมะลิ