จากกระแสโซเชียลที่ร่วมกันผลักดันให้สัตว์ทะเลหายาก 4 ชนิด ประกอบด้วย วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน เมื่อปี 2558
ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างรอการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาและจากมติในที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 มีมติเห็นควรชะลอการเสนอพระราชกฤษฎีหาข้างต้นไว้ก่อน เนื่องจากมีผลกระทบและลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนผู้ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจนำมาสู่ความไม่เข้าใจของสาธารณชนในวงกว้าง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนิตยสารสารคดี จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “เหตุใดจึงต้องชะลอว่าที่สัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด” ในวันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
…
ความเป็นมา
ระหว่างการผลักดันสัตว์ป่าทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เป็นต้น เมื่อผ่านไปถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้มีการหารือร่วมกันทั้ง 3 กรม ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อหารือกรณีการครอบครองสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ว่ากรมประมงได้อนุญาตให้ผู้ใดครอบครองอยู่หรือไม่
พบการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง 3 ชนิด ได้แก่ ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า และเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่กรมประมงได้อนุญาตให้ครอบครอบตั้งแต่ปี 2535 โดยเป็นบุคคลธรรมดาครอบครองซากเต่ามะเฟืองจำนวนประมาณ 10 คน และหน่วยงานราชการที่ครอบครองซากฉลามวาฬ ซึ่งการเปลี่ยนจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนอย่างเช่นเต่ามะเฟืองนั้นกฎหมายมิได้เปิดช่องให้บุคคลธรรมดาสามารถครอบครองได้
เมื่อว่าที่สัตว์ป่าสงวนติด ร. เนื่องจากลิดรอนสิทธิประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาแล้วว่าการที่สัตว์ป่าคุ้มครองเลื่อนสถานะขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนนั้น ข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มิได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถมีครอบครองซากสัตว์ป่าสงวนได้ ทำให้ผู้ครอบครองตามกฎหมายอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เดิมอาจได้รับผลกระทบจากการที่สัตว์ป่าชนิดดังกล่าวได้ขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวน
การอัพเดทสถานะของสัตว์ป่าคุ้มครองเดิม ทั้ง ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า และเต่ามะเฟือง จึงอาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนผู้ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันทั้ง 3 ชนิดนี้แม้จะไม่ได้รับการอัพเดทสถานะให้กลายเป็นสัตว์ป่าสงวน ก็ยังได้รับการคุ้มครองทั้งตัวสัตว์และแหล่งอาศัยตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในฐานะสัตว์ป่าคุ้มครอง
แต่ขณะเดียวกันนั้นเอง วาฬโอมูฬะ ยังไม่ถูกครอบด้วยชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนก็ยังพอมี พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 คุ้มครองในแง่ของการห้ามจับและนำขึ้นเรือประมงอยู่
คุณวิกานดา พ่วงเจริญ นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง กล่าวถึงการคุ้มครองวาฬโอมูฬะว่า “วาฬโอมูฬะได้รับความคุ้มครองภายใต้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ตามมาตรา 66”
ซึ่ง มาตรา 66 นี้เองระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือนำสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น
เมื่อพิจารณาแล้วว่าประชาชนอาจถูกลิดรอนสิทธิจึงตัดสินให้ชะลอการขึ้นบัญชีว่าที่สัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิด วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ไปก่อน
ความแตกต่างระหว่างสัตว์ป่าคุ้มครองกับสัตว์ป่าสงวน
ขณะเดียวกันการที่ว่าที่สัตว์ป่าสงวนเหล่านี้ยังไม่ถูกยกสถานะขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนจึงมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ได้ชี้แจงความเหมือนและแตกต่างระหว่างสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนดังนี้
สัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนนั้น ห้ามล่า ห้ามครอบครอง เช่นเดียวกัน แต่สัตว์ป่าคุ้มครองมีข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่กระทำโดยทางราชการเพื่อการศึกษา วิจัย การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ในขณะที่สัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มาก จนไม่อนุญาตให้นำมาศึกษา วิจัย หรือนำมาเพื่อการเพาะพันธุ์ได้ เพราะอาจสูญพันธุ์
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสถานะของสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนแล้ว สัตว์ป่าสงวนถือเป็นสัตว์ที่เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และมีประชากรน้อยมาก จากเกณฑ์การพิจารณาเพื่อเสนอขึ้นบัญชี สัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) ขึ้นไป มีการพบเห็นน้อยหรือมีจำนวนประชากรประมาณ 250-25,000 ตัว และมีระดับภัยคุกคามที่สูงและไม่สามารถใช้มาตรการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่สัตว์ป่าสงวนนั้นมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) หรือ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) มีข้อมูลประชากรเหลือน้อยกว่า 250 ตัว และมีระดับภัยคุกคามที่สูงและไม่สามารถใช้มาตรการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากการยกระดับสถานะของสัตว์ป่าตามเหตุผลด้านความสำคัญและระบบนิเวศแล้ว ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ มองไปถึงความสำคัญของการยกระดับว่าที่สัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิดให้สามารถปลดล็อคขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนจริงๆ เสียทีด้วยเล็งเห็นด้านการยกระดับคุณค่าทางจิตใจในการอนุรักษ์ของประชาชน องค์กร หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากเหล่านี้
“เชื่อว่าสัตว์ทะเลหายากทั้งสี่ชนิดต้องได้ขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนร้อยเปอร์เซ็นต์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นกับพิธีกรต่อหน้าผู้ร่วมงานเสวนา “เหตุใดจึงต้องชะลอว่าที่สัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด”
ยิ่งใกล้ชิดยิ่งหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านคนทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ทะเลหายาก สัตวแพทย์ และเครือข่ายในการเจอสัตว์ทะเลหายาก ความรู้สึกหลังทราบข่าวการชะลอการผลักดันสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิดนี้มีผลกระทบต่อจิตใจทุกคนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่เองด้วย คุณจิรายุ เอกกุล บริษัท Wild Encounter Thailand แสดงความรู้สึกเสียใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่เมื่อกำแพงกฎหมายปรากฏขึ้น “อาจเป็นเพราะคนยุคสมัยนั้นไม่ได้คาดคิดจะเพิ่มชนิดสัตว์ป่าขึ้นมาใหม่ หรือกรณีอื่นๆ จึงไม่ได้เปิดช่องเหล่านี้ไว้ ทำให้การผลักดันขึ้นไปครั้งนี้เจอทางตัน”
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้พยายามผลักดันให้สัตว์ทะเลหายากทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าสงวน คุณจิรายุมองว่าความใกล้ชิด รับข่าวสาร ได้เห็นพฤติกรรม สัตว์ทะเลหายากทำให้ผู้คนหวงแหนทรัพยากรมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงมีผลต่อจิตใจ
“คนที่ออกมาดูวาฬเขาเห็นข่าวเขาแคร์มากขึ้น สมมุติวาฬบรูด้าและฉลามวาฬเข้าไปอยู่ในสัตว์ป่าสงวนแล้ว เราก็จะมีสัตว์ป่าทั้งสองที่เราเห็นและจับต้องทั้งสองชนิดนี้ได้ จับต้องในที่นี้หมายความว่า ได้เห็นตัวมันเป็นๆ เพราะกูปรีหรือนกแต้วแล้วท้องดำเราไม่มีใครมีโอกาสได้เห็น แต่วาฬบรูด้ากับฉลามวาฬเป็นอะไรที่คุณขับรถจากกรุงเทพฯ ไปชั่วโมงหรือสองชั่วโมง มันอยู่หน้าอ่าวไทยแล้ว หรือขับรถไปเกาะเต่าคุณดำน้ำคุณก็ได้เจอ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนที่ได้เห็นเกิดความตระหนักจะริเริ่มที่จะหวงแหนทรัพยากรที่เขามีอยู่ ผมมองว่าสิ่งนี้สำคัญมากในเชิงของผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ หลายๆ ที่สอนให้คนรู้จักการอนุรักษ์ทะเล เพราะนี่คือสิ่งที่เขามี เขาเห็นแล้วว่าวาฬว่ายอยู่ในมวลขยะมากมาย เห็นเรือลาก เห็นคนจับฉลามวาฬขึ้นมา มันเกิดอิมแพ็คมากขึ้น เพราะสิ่งนี้เองเมื่อเกิดการชะลอว่าที่สัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิด เพราะแรงผลักดันของสังคม เพราะคนเข้าถึงสังคมมากขึ้น”
ทั้งโลกมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่จะดูวาฬบรูด้าและฉลามวาฬได้ ณ ตอนนี้มัน ‘กำลัง’ จะขึ้นมาเป็นสัตว์ป่าสงวน เขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่หายาก ได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ เช่นการอ้าปาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหน้ากรุงเทพฯ นี้เอง ผู้ประกอบการบริษัท Wild Encounter Thailand กล่าว
การดูแลคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก
ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นั้นไม่นิ่งนอนใจ มีแผนงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากด้วย Road Map 8+1 ที่แบ่งออกเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ไว้คอยดูแล คุ้มครอง และฟื้นฟูประชากรสัตว์ทะเลหายาก ดังนี้ (0) การวิจัยและพัฒนา (1) ข้อมูลสัตว์ทะเลหายาก (2) การคุ้มครองตามกฎหมายโดยการยกระดับความสำคัญ (3) คณะกรรมการ ทั้งพื้นที่ องค์กร และการมีส่วนร่วมของประชาชน (4) ฟื้นฟูศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและศุนย์เพาะพันธุ์และอนุบาล (5) ลดภัยคุกคาม (6) พื้นที่คุ้มครองที่เป็นมาตรการเชิงพื้นที่ (7) ประกาศ ด้านกฎหมาย ระดับพื้นที่ การบังคับใช้ และเผยแพร่ (8) ติดตามประเมินผล
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ อธิบายแผนงานดังกล่าวว่า แผนงานนี้เพื่อสัตว์ทะเลหายากได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในเชิงชนิดพันธุ์ แต่ในหลายๆ ครั้งแม้แต่กฎหมายใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเอง ประเด็นปัญหาคือเราคุ้มครองเฉพาะตัวสัตว์เราไม่ได้ดูแลพื้นที่อยู่อาศัยของเขา นอกจากจะคุ้มครองสัตว์แล้วก็ต้องคุ้มครองบ้านที่เขาอยู่ด้วย และใช้กฎหมายมาช่วยลดภัยคุกคาม โดยการบังคับใช้ด้วยความร่วมมือของชุมชน องค์กร และประชาชน เพื่อฟื้นฟูสัตว์ป่าให้มีประชากรมากขึ้น
รู้จักว่าที่สัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิด กับภัยคุกคาม
ฉลามวาฬ
ฉลามวาฬที่พบในประเทศไทยไม่ได้อยู่ประจำถิ่น จะอยู่ประจำถิ่นบางเวลา และทำการอพยพระยะไกล ดังนั้นการใช้ข้อมูลเทคนิค Photo ID ร่วมกับข้อมูลการพบพื้นที่อื่นๆ จะช่วยตอบเราได้ว่าฉลามวาฬเหล่านี้มาจากที่ไหน และจะไปที่ไหนได้ อพยพเมื่อไรได้
ประเด็นที่เป็นภัยคุกคามต่อฉลามวาฬอย่างมากคือการล่าจับและการค้าหูฉลาม แม้ฉลามวาฬจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย แต่การที่ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่อพยพย้ายถิ่นระยะไกล การที่ฉลามวาฬถูกจับและฆ่าในประเทศอื่นที่ไม่ได้รับความคุ้มครองอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรของฉลามวาฬที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดการลดลงของจำนวนประชากรฉลามวาฬกว่าร้อยละ 50 ของปีที่ผ่านมา
วาฬบรูด้า
ภัยคุกคามของวาฬบรูด้าที่พบมีทั้งการติดเครื่องมืออวนประมงโดยบังเอิญ และการพลัดหลงตามธรรมชาติ
วาฬโอมูฬะ
วาฬโอมูฬะเราพบว่าเขามีพื้นที่อาศัยในกลุ่มประชากรที่มีจำกัดมาก จากข้อมูลการกระจายทั่วไปสามารถพบได้ในประเทศไทย ทางตอนใต้ของจีน และน่านน้ำอินโดนีเซีย
เต่ามะเฟือง
เต่ามะเฟืองมีความน่าเป็นห่วงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก มีทั้งปัญหาขยะ การติดเครื่องมืออวนประมงโดยบังเอิญ เป็นภัยคุกคามหลัก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) เล่าข้อมูลสัตว์ทะเลหายากทั้ง 4 ชนิด
หาทางแก้ปัญหา
ด้านคุณศศิน เฉลิมลาภ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุผลในการยกระดับของว่าที่สัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิด โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองว่า วันนี้แม้จะมีมาตรการคุ้มครองมันอยู่แล้ว แต่เพื่อให้สังคมยกระดับในการตระหนักว่าในช่วงถึง 10 ปีที่ผ่านมา เจเนอเรชั่นของประชาชนประเทศไทยทำให้เต่ามะเฟืองแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย เหมือน ละอง ละมั่ง กูปรี แรด ที่ไม่ได้พบเห็นมานาน ดังนั้นต้องยกระดับเป็นสัตว์ป่าสงวน
ที่รณรงค์กันมา 2 ปี มันน่าจะมีช่องทางทางกฎหมาย โดยผู้ครอบครองยอมเสียสละในการนำมาคืนก่อนที่จะประกาศ หรือกรณีการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองเดิมที่แจ้งครอบครองในฐานะสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่แล้ว ก็ยกระดับอัตโนมัติได้ไหม กฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความ หากกฤษฎีการตีความแบบนี้ ผู้ครอบครองก็ครอบครองต่อไปในฐานะการแจ้งครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว และเมื่อยกระดับขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนจะถือว่าถูกแจ้งแล้วได้ไหม ว่าที่สัตว์ป่าสงวนจะได้ถูกยกระดับขึ้นไปได้ คุณศศิน เฉลิมลาภ ตั้งคำถามด้วยความหวังว่าจะปลดล็อคปัญหาและเดินหน้าผลักดันสัตว์ทะเลหายากขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน
จากการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมประมง และ ทช. คุณวิกานดา พ่วงเจริญ ชี้แจงการหารือเพื่อทางออกในการผลักดันสัตว์ป่าสงวนว่า จากข้อมูลมีบุคคลธรรมดาครองครองซากเต่ามะเฟืองทำให้ติดข้อกฎหมาย หากนำเต่ามะเฟืองออกก่อนและผลักดัน 3 ชนิดขึ้น ทางกฤษฎีกาแจงว่าไม่ควรทำ ควรผ่านกระบวนการมาใหม่ตั้งแต่ต้นหรือเปล่า และเสนอทางเลือกให้ทั้ง 3 กรมเลือกว่าจะผลักดันทั้ง 4 ชนิดต่อ แต่กรณีนี้ทางกฤษฎีกาไม่สามารถรับรองได้ว่า สำนักอื่นจะมองข้อกฎหมายว่าอย่างไร เพราะแม้จะเป็นประชาชนส่วนน้อยแต่ก็ถือเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งทางกฤษฎีกาบอกไม่ได้ว่าหากขึ้นทูลเกล้าไปแล้วจะไปโดนยับยั้งในจุดนั้นหรือไม่ กับอีกทางเลือกคือการทบทวนใหม่ว่าจะชะลอหรือจะดำเนินการอย่างไรต่อ
ทางตัวแทนกรมประมงจึงเชิญตัวแทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหารือข้อคิดเห็น สุดท้ายในเมื่อติดข้อกฎหมายจึงเลือกชะลอไว้ก่อน และ ณ วันนี้ พ.ร.บ.สงวน ฉบับใหม่ อยู่ในชั้นกฤษฎีกาแก้ไขรอบที่ 2 แล้ว
ซึ่งในส่วนของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่นั้น คุณศศิน เฉลิมลาภ ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ต้องดูอย่าให้เกิดปัญหาแบบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นี่คือเรื่องใหญ่ที่ต้องดูข้อจำกัดของกฎหมายใหม่อย่าให้มีช่องว่าง และหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ที่กฎหมายยังไม่ออกมา
ร่วมกันอนุรักษ์
บทบาทของบุคคลธรรมดา ภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ตัวแทนผู้ประกอบการบริษัท Wild Encounter Thailand มองว่า ต้องทำงานและอนุรักษ์ของเราต่อไปให้ดีที่สุด เราเจอวาฬ ซากเกยตื้น เราก็รายงาน เราเจอขยะทะเลเราเก็บ เรามีช่องทางลดการตาย ลดผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก โดยเริ่มจากตัวเรา เราจะต้องให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปมากกว่านี้ ผมก็จะทำทุกทางทำหน้าที่ของเราต่อไปให้ดีที่สุด
หากพูดในแง่กฎหมายมันไกลจากตัวบุคคลทั่วไป ผมพยายามมองในแง่ดี การเพิ่มรายชื่ออีกหน่อยที่อาจจะมีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มากกว่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเป็นบทเรียน อีกหน่อยอาจมีการเพิ่มอันดับเพิ่มชนิดมากขึ้น 4 ชนิดนี้ที่เราพยายามและกลับมาเริ่มต้นมันเป็นบทเรียนที่ไม่มีใครคาดคิดจะเจออะไรแบบนี้ เราจะได้รู้ ซึ่งมันจะเป็นการถอยกลับเพื่อเดินต่อไปหลายๆ ก้าว นี่คือสิ่งสำคัญ
หัวใจสำคัญคือความรู้สึกของประชาชน นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง กล่าวว่า ส่วนสำคัญการจะได้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองจริงๆ แล้ว จุดสำคัญอยู่ที่ประชาชนจะเข้าใจและจะอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้ขนาดไหน ณ ปัจจุบันแม้จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเขาก็ยังได้รับการอนุรักษ์อยู่ ไม่อนุรักษ์ด้วยตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.ก.ประมง ก็ยังให้ความคุ้มครองทั้ง 4 ชนิด ถ้าประชาชนเข้าใจและรักที่จะหวงแหนทรัพยากรตัวเอง การที่ทั้ง 4 ชนิดจะขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือไม่เขาก็ยังได้รับการคุ้มครองอยู่ตามกฎหมาย
ด้านผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) การอนุรักษ์อยู่ที่จิตสำนึกของเรา เริ่มตั้งแต่ชุมชน ภูมิภาค ระดับประเทศและระดับโลกช่วยกัน แต่การปลูกจิตสำนึกเป็นการผลักดันจิตสำนึกเป็นรูปธรรมที่ร่วมกันปฏิบัติได้ แต่ว่ามันต้องมีจุดเริ่มคือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มาว่าทำไมเราต้องมีสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง และจากข้อมูลที่กรม ทช. มีเห็นควรแล้วว่าสัตว์ทั้ง 4 ควรขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวน แล้วทำไมเราจะต้องมาเสนอเป็นสัตว์ป่าสงวน
ถึงเป็นสัตว์สงวนแต่ด้วยมาตรการที่อาจไม่ได้มากกว่าการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ผลในทางความรู้สึก การยอมรับในระดับประเทศและนานาประเทศทั่วโลกที่เล็งเห็นความสำคัญของสัตว์ทะเลหรือสัตว์หายากต่างๆ การพยายามที่จะผลักดันยกระดับเป็นสัตว์ป่าสงวนทำให้ต้องยอมลดบทบาทซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิ แสดงให้เห็นว่าคนไทยพยายามที่จะถูกลิดรอนสิทธิบางส่วนของตนเองเพื่อดูแลเพื่อนร่วมโลกของเรา ยังเห็นว่าความสำคัญของสัตว์สงวนหรือสัตว์คุ้มครองให้เห็นถึงบทบาทความรู้สึกในใจของคนไทยที่จะถูกยอมรับในทั่วโลกมันเป็นส่วนสำคัญ
“ผมเชื่อว่าเมื่อเราเห็นจุดอ่อนของกฎหมาย หลังมีการปรับปรุง พ.ร.บ. ใหม่ก็จะสามารถแก้ไขจุดต่างๆ เราก็ยังมีความหวังกันต่อไป”