ระดับน้ำในแม่โขงลดลงจน ‘น่ากังวล’ อีกครั้ง

ระดับน้ำในแม่โขงลดลงจน ‘น่ากังวล’ อีกครั้ง

เลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงให้ระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนพลังงานไฟฟ้าจิงหงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถึงบริเวณลุ่มน้ำโขงในเวียดนาม ลดลงอย่างน่ากังวล

ระดับน้ำลดลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝนที่ตกน้อยลง การเปลี่ยนแปลงการไหลของกระแสน้ำที่ต้นน้ำ การผลิตไฟฟ้าของเขื่อนเหนือลำน้ำโขงสายหลักและสาขา รวมถึงการจำกัดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิงหง

“เราพบการเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับน้ำอย่างรวดเร็ว บริเวณท้ายน้ำหลังเขื่อนจิงหงไปจนถึงเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องท้าทายในการเตรียมความพร้อมของภาครัฐและประชาชน ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” ดร. วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้สัมภาษณ์

ข้อมูลน้ำฝนรายเดือนของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงพบว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา น้ำฝนมีแนวโน้มค่อนข้างต่ำจากค่าเฉลี่ยราว 25 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลระดับน้ำพบว่า เขื่อนจิงหงปล่อยน้ำราว 775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นับว่าต่ำกว่าระดับปกติที่ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเกือบครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ระดับการปล่อยน้ำของเขื่อนที่ลดลงนั้นอยู่ในช่วงเวลาแคบ ๆ คือระหว่างวันที่ 1 ถึง 7 มกราคมเท่านั้น ก่อนระดับการปล่อยน้ำจะค่อยเพิ่มเป็น 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 15 มกราคม หรือคิดเป็นระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น 1.07 เมตร หลังจากนั้น ระดับการปล่อยน้ำก็ลดลงเหลือ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีระหว่างวันที่ 15 ถึง 23 มกราคม แล้วจึงเพิ่มเป็น 990 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 29 มกราคม แล้วลดลงเหลือ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 11 กุมภาพันธ์

ในต้นเดือนมกราคม ประเทศจีนได้ส่งหนังสือแจ้ง 4 ประเทศปลายน้ำลุ่มน้ำโขงว่า จะมีการจำกัดการปล่อยน้ำจากเขื่อนไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 24 มกราคม เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงระบบส่งไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ในหนังสือดังกล่าว ไม่ระบุถึงการปล่อยน้ำก่อนและหลังช่วงเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อปีที่ผ่านมา จีนตกลงว่าจะแบ่งปันข้อมูลระดับน้ำ และปริมาณน้ำฝนตลอดปี ให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ตามข้อตกลงดังกล่าว จึงจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงและประเทศสมาชิก เรื่องการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของระดับน้ำที่ผิดปกติจากการปล่อยน้ำ รวมถึงให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและปัจจัยที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน

“หากรูปแบบการปล่อยน้ำของจีนยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมส่งผลต่อการคมนาคมในแม่น้ำ การอพยพย้ายถิ่นของปลา การเกษตรและการเก็บเกี่ยวสาหร่าย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของแม่โขง” ดร. วินัย กล่าว

“เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างสามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องเรียนร้องให้จีนแบ่งปันข้อมูลและแผนการปล่อยน้ำให้กับเรา” ดร. วินัย กล่าว

จุดวัดระดับน้ำแม่น้ำโขงเชียงแสนในประเทศไทย อยู่ห่างจากท้ายเขื่อนจิงหงราว 300 กิโลเมตร จุดวัดดังกล่าวพบข้อมูลระดับน้ำที่ลดลงถึง 1 เมตรระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 มกราคม นับแต่นั้นมา ระดับน้ำที่เชียงแสนก็เคลื่อนไหวระหว่าง -0.24 เมตรและ +0.29 เมตร ส่วนระดับน้ำที่เชียงคาน ประเทศไทย และเวียงจันทร์ ประเทศลาว ขยับอยู่ในกรอบ -0.32 เมตร และ +0.50 เมตร

แม่น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้าสดใส (อีกครั้ง)

เนื่องจากการปล่อยน้ำที่ลดลง ตะกอนดินในแม่น้ำที่น้อยลง และการเกิดสาหร่ายที่ท้องน้ำ แม่น้ำโขงทางภาคอีสานของไทยที่จังหวัดนครพนมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562

การวิเคราะห์เบื้องต้นของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงพบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำโขงที่น้อยลง ซึ่งส่งผลให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีฟ้า เนื่องจากตะกอนละเอียดที่มักพบในกระแสน้ำไหลเร็วและลึก คือสาเหตุที่น้ำกลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อน้ำใสโดนแสงอาทิตย์ก็จะดูดซับแสงที่มีความยาวคลื่นสูง และปลดปล่อยออกมาเป็นแสงที่ออกโทนเขียวน้ำเงิน

น้ำที่ใสมากขึ้นทำให้พืชและสาหร่ายสามารถเติบโตได้ในท้องน้ำ ยิ่งทำให้น้ำสะท้อนสีเขียวมากขึ้นซึ่งไม่ใช่ภาวะปกติ เนื่องจากสาหร่ายส่วนใหญ่มักจะถูกกระแสน้ำพัดพาไป แต่เนื่องจากระดับน้ำที่ต่ำ ทำให้สาหร่ายสามารถกระจายตัวได้ในบางพื้นที่ของแม่น้ำ

Dr. So Nam ผู้อำนวยการส่วนการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า แม่น้ำที่ใสอาจทำให้ผลิตผลของแม่น้ำลดต่ำลงเนื่องจากมีอาหารน้อยลงสำหรับแมลงในน้ำ กระทบต่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลาขนาดเล็ก ปรากฎการณ์นี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำ ลดปริมาณปลาที่จับได้ และเป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตและชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ Dr. So Nam ย้ำว่าสภาพแม่น้ำโขงที่เป็นสีฟ้าคราม อาจยังคงอยู่กระทั่งกระแสน้ำมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งอาจต้องรอถึงฤดูมรสุมครั้งหน้าซึ่งมักจะเริ่มต้นราวเดือนพฤษภาคม สภาพปกติของลำน้ำโขงจะกลับคืนมา เมื่ออ่างเก็บน้ำบริเวณลำน้ำโขงตอนบน และลำน้ำสาขาเริ่มปล่อยน้ำในระดับปกติจน ทำให้มีตะกอนอีกครั้ง

แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ประชาชนกว่า 70 ล้านชีวิตในลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องพึ่งพาอาศัย เป็นวิถีชีวิต เป็นความมั่นคงทางอาหาร และนิเวศบริการที่รุ่มรวย แต่การพัฒนาเศรษฐกิจนำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรของลำน้ำที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้คือภัยคุกคามของชุมชนที่ยังคงต้องพึ่งพาแม่โขงเพื่อดำรงชีพ


ถอดความและเรียบเรียงจาก Mekong River drops to “worrying” levels, some sections turning blue-green

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก