ย้อนดูประวัติศาสตร์โรคระบาดที่มีต้นตอจากสัตว์ป่า ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดเป็นวงกว้างในขณะนี้ หากลองย้อนประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาด ซึ่งจำนวนไม่น้อยสาเหตุมาจากสัตว์ป่า
โดยปกติโรคระบาดจากสัตว์ป่าไปยังคนเกิดขึ้นได้บ่อย มักจะเป็นเชื้อไวรัสประเภทโคโรนาไวรัส หรืออินฟลูเอนซาไวรัส (เชื้อไข้หวัดใหญ่) สาเหตุการระบาดคือการเข้าไปสัมผัสหรือคลุกคลีกับสัตว์ที่มีเชื้อโรคอยู่ โดยบางครั้งเชื้อในสัตว์มีการกลายพันธุ์พร้อมที่กระโดดมายังคน ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าการกลายพันธุ์จะเกิดเมื่อใด
และบ่อยครั้งที่เชื้อไวรัสแพร่ไปสู่คนที่มีต้นเหตุมาจากคนเข้าไปปฎิสัมพันธ์กับสัตว์ป่าเพื่อฉวยผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการล่าเพื่อเป็นอาหาร จับมาเพื่อเป็นสัตว์ทดลอง บางข้อมูลบอกว่าใช้สัตว์ป่าเพื่อมีเพศสัมพันธ์ เราจึงชวนย้อนดูประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาด เพื่อตรอกย้ำบทเรียนของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
2501 โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น vaccinia virus, cowpox virus, variola virus เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทําให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (smallpox) โรคฝีดาษลิง ยังเกิดประปรายในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา โรคฝีดาษลิงพบครั้งแรกในลิงทดลองในปี พ.ศ. 2501 พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก สัตว์หลายชนิดรวมทั้งคนสามารถติดเชื้อนี้ได้
การติดเชื้อในคนพบครั้งแรกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ปี พ.ศ. 2513 และ เกิดการระบาดใหญ่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ปี พ.ศ. 2539-2540 ในปี พ.ศ. 2546 เกิดการระบาดของโรคนี้ในคนที่ติดเชื้อจากกระรอกดินในสหรัฐอเมริกา ล่าสุดรายงานการระบาดพบที่ประเทศไนจีเรียและประเทศอินเดียในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ตามลําดับ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย
สัตว์ชนิดที่สามารถเป็นโรคฝีดาษลิงคือสัตว์ตระกูลลิง ได้แก่ ลิงโลกใหม่ ลิงโลกเก่า ลิงไม่มีหาง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด (หนู กระรอกดิน กระต่าย) สามารถติดเชื้อนี้ได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดอีกบ้างที่สามารถติดโรคนี้ได้ สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงหลายชนิดอาจสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน
คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 12 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
2502 โรคเอดส์ AIDS
หลังจากถูกพบครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ.1959) โรคเอชไอวี/เอดส์ ได้วิวัฒนาการตัวเองจนระบาดไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 36 ล้านคนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524
นักระบาดวิทยาได้ศึกษาต้นตอการติดเชื้อเอชไอวี ในปี ค.ศ.1999 (พ.ศ. 2542) พวกเขาพบว่ามีสายพันธุ์หนึ่งของไวรัส SIV ซึ่งเป็นไวรัสในลิงชิมแปนซี ไวรัสที่ว่าคล้ายกับไวรัส HIV ในมนุษย์มาก ข้อสรุปที่ได้เริ่มแรกคือ ลิงชิมแปนซีน่าจะเป็นพาหะแพร่โรคนี้มาสู่มนุษย์
ต่อมาพวกเขาศึกษาว่า ทำไมไวรัส SIV ถึงพบในตัวลิงชิมแปนซี พวกเขาก็พบว่า ลิงชิมแปนซีได้ล่าลิงขนาดเล็ก ๆ อื่น ๆ สองชนิดมาเป็นอาหารทำให้พวกมันได้รับไวรัส SIV สองสายพันธุ์ด้วยกัน ไวรัสทั้งสองตัวได้รวมตัวกัน และเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เรียก SIVcpz ไวรัสตัวใหม่นี้สามารถถ่ายทอดกันระหว่างลิงชิมแปนซีด้วยกันได้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามันสามารถติดต่อมนุษย์ได้อีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เชื้อ SIV ของลิงติดมาสู่คน กลายเป็น HIV ได้ โดยวิถีทางธรรมชาติ (natural transfer theory) ซึ่งอาจรวมถึง การที่ชนพื้นเมืองแอฟริกันบางพวกมีเซ็กซ์กับลิง บริโภคลิงเป็นอาหาร หรือที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ นักล่าลิงแอฟริกันติดเชื้อจากแผลกัดข่วนของลิงที่บาดเจ็บ (cut hunter theory)
ปัจจุบัน ในจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสเอชไอวี 31-35 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในแถบซับซาฮาราของแอฟริกา หรือประมาณ 21 ล้านคน
2540 โรคไข้หวัดนก Avian Influenza
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก เช่น ไก่ ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ H5N1 และ H7N9 โดยเชื้อไวรัสจะติดต่อกันผ่านการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย เช่น สารคัดหลั่งจากสัตว์ อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา และน้ำลายของสัตว์ปีก หรือแม้แต่การรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่มีการติดเชื้อ ก็สามารถทำให้คนติดเชื้อไว้หวัดนกนี้ได้ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรงในสัตว์ปีกและติดต่อมาสู่คนจากการสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดสัตว์ที่ติดเชื้อเป็นเวลานาน โดยผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีโอกาสเสียชีวิตกว่า 50%
ไข้หวัดนกเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ H5N1 มีการติดต่อถึงคนเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ. 2540 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกา ชิลี จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2546–2547 มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประเทศไทย ได้รับผลกระทบด้วยครั้งนั้นด้วย
และเมื่อวันที่ 2 ก.พ.63 กระทรวงเกษตรจีนรายงานการระบาดของไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ที่ฟาร์มไก่ในเมืองเชาหยาง มณฑลหูหนานของจีน ทำไก่ตายแล้ว 4,500 ตัว ทางการสั่งฆ่าสัตว์ปีกอีกนับหมื่นตัวเพื่อคุมการระบาด
2545 โรคซาร์ส (SARS)
โรคซาร์สหรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ต้นตอมาจากค้างคาว ชะมด อีเห็น เกิดการระบาดของโรคในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2546 แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในจีน 349 คน และมีผู้ป่วย 5,327 คน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนมีจำนวน 179 คน ใน 26 ประเทศ โดยญี่ปุ่นมีจำนวนสูงสุด 20 คน ไทย 19 คน เวียดนามพบเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 8 ราย
การระบาดของโรคซาร์สดำเนินไปประมาณ 6 เดือน วันที่ 12 มีนาคม 2546 องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากโรคซาร์ส โรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ SARS coronavirus มีการแพร่ระบาดไปยัง 26 ประเทศ รวมมีรายงานป่วย 8,098 ราย และเสียชีวิต 774 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 9.6
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 ก็ได้มีการศึกษาหาแหล่งที่มาของเชื้อ SARS coronavirus โดยการตรวจที่ตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่าในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน พบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในอุ้งเท้าของชะมด (Civet cats) จึงสันนิษฐานว่าเชื้อน่าจะมาจากสัตว์ซึ่งมีอยู่เป็นปกติมานานแล้ว แต่เชื้อได้พัฒนาเข้าสู่คนเป็นครั้งแรกและทำให้เกิดโรคขึ้นมา เมื่อได้ศึกษาต่อไปก็พบเชื้อชนิดนี้อีกใน แรคคูน (Raccoon) แบดเจอร์ (Ferret badger) และค้างคาว โดยที่เชื้อไม่ได้ทำให้สัตว์เหล่านี้มีอาการ
2555 โรคเมอร์ส (MERS)
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome coronavirus หรือ MERS-CoV) บางครั้งก็เรียกว่า “ไวรัสโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012” คือ โรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (MERS-CoV) ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยเชื้อตัวนี้มาจากค้างคาวแล้วมาติดอูฐ ก่อนจะแพร่ไปยังชายชาวซาอุฯ ที่เป็นผู้ป่วยรายแรก
องค์การอนามัยโลกระบุว่าประมาณ 35% ของผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตจากไวรัส แต่ MERS-CoV ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนอย่างง่ายดาย เว้นแต่จะมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด
นับถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 มีการรายงานยืนยันผู้ติดเชื้อ 55 คนในซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงนักเดินทางจากอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ตูนิเซีย ซึ่งติดเชื้อไป
ในปี พ.ศ. 2558 มีการระบาดของ MERS-CoV ในเกาหลีใต้ โดยผู้ติดเชื้อคนแรกเป็นชายวัย 68 ปี แสดงอาการเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 หลังเดินทางกลับจากตะวันออกกลาง องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลเกาหลีใต้ประเมินว่าการระบาดสิ้นสุดลงในเดือน ก.ค. 2558 หรือระบาดอยู่ประมาณ 2 เดือน มีผู้ติดเชื้อ 186 คน เสียชีวิต 38 ราย
2557 – 2559 โรคอีโบลา
โรคไวรัสอีโบลา (EVD) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นตระกูล Filoviridae EVD อีโบลาระบาดครั้งแรกในปี 1976 พร้อม ๆ กันสองแห่งคือ ในเมือง Nzara ประเทศซูดาน และในเมือง Yambuku ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในกรณีหลังเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของโรคนี้ในที่สุด
การแพร่ระบาดของโรคอีโบลาเกิดขึ้นในแอฟริการตะวันตกตั้งแต่เดือน มี.ค. 2557 ไปจนถึงเดือน ม.ค. 2559 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งแรก มันส่งผลกระทบในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนเป็นส่วนใหญ่ในเดือน ส.ค. 2561 มีรายงานการระบาดของโรคอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยมีผู้ป่วยมากกว่า 3,000 รายในเดือน ต.ค. 2562
ไวรัสส่งผ่านจากสัตว์ป่าไปยังคนและแพร่กระจายในกลุ่มประชากรผ่านการถ่ายทอดให้กันโดยคนโดยค้างคาวผลไม้ สกุล Pteropodidae เป็นสัตว์ฟักตัวหลักของไวรัสอีโบลา
อีโบลาติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวแบบอื่น ๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการเกี่ยวข้องสัมผัสกับชิมแปนซี กอริลล่า ค้างคาวผลไม้ ลิง ซึ่งป่วยหรือตาย
อีโบลาแพร่กระจายเข้าชุมชนผ่านการติดต่อจากคนสู่คน โดยการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่ถลอกหรือผ่านเยื่อบุ) กับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวอื่น ๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านั้น
2562- ปัจจุบัน โควิด-19 : โรคโควิด-19 เริ่มระบาดในจีน ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคน หลังจากเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้กลุ่มแรกไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จีนและ WHO ระบุตรงกันว่า ไวรัสชนิดนี้คือ “เชื้อไวรัสโคโรนา” ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้พบไวรัสโคโรน่ามาแล้ว 6 สายพันธุ์ ชื่อทางการในปัจจุบันคือ SARS-CoV-2 ส่วนชื่อของโรคติดเชื้อชนิดนี้เรียกว่า COVID-19
การศึกษาพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีจำนวน 29,903 นิวคลีโอไทด์และพบว่า มีนิวคลีโอไทด์ที่เหมือนกันถึงร้อยละ 89.1 ของเชื้อ SARS-like coronaviruses ในค้างคาวที่เคยพบในประเทศจีนจึงจัดให้เชื้ออยู่ในจีนัส Betacoronavirus, ซับจีนัส Sarbecovirus และเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ของ Coronaviridae ที่ก่อโรคในคน ปัจจุบัน ทราบว่าต้นตอมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวและเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้ได้เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เพียงแต่ไม่แน่ชัดว่า การกลายพันธุ์และการแพร่กระจายเกิดในสัตว์อื่น (intermediate host) ก่อนมาสู่คนหรือไม่ มีการศึกษายีนของเชื้อชนิดนี้ในตัวลิ่น (หรือตัวนิ่ม) พบว่า มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับ SARS-CoV-2 ถึงร้อยละ 99 และตัวลิ่นเป็นสัตว์มีแกนสันหลังและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย ดังนั้น ตัวลิ่นอาจจะเป็น intermediatehost ก่อนแพร่เชื้อสู่คน หรือว่า เกิดการกลายพันธุ์ในค้างคาวแล้วกระจายมาสู่คนเลย (ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนนกเป็นสัตว์ปีก แต่ทั้งคู่มีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในตัวได้)
ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังกว่า 206 ประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยรวมกันกว่า 857,641 คนและผู้เสียชีวิตอีกกว่า 42,006 คน (นับถึงวันที่ 2 เม.ย.63) ตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 187,302 คนเสียชีวิต 3,846 คน
บทความและภาพนรินทร์ ปากบารา ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ้างอิง
- โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
- โรคฝีดาษลิง กระทรวงสาธารณะสุข
- เอชไอวี(HIV) และเอดส์ (AIDS) : โรคร้ายที่มาจากลิง
- ย้อนอ่านงานเก่า “สมศักดิ์ เจียม” เอดส์เกิดจากอะไร? ความผิดพลาดของการทดลองวัคซีนโปลิโอ?
- โรคไข้หวัดนก (Bird Flu, Avian Flu)
- โรคไข้หวัดนก
- ไข้หวัดนก H5N1 ระบาดฟาร์มไก่ในจีน
- รู้จักรับมือ SARS ไวรัส
- Probable Pangolin Origin of SARS-CoV-2 Associated with the COVID-19 Outbreak
- เมอร์ส: โรคอุบัติใหม่ที่พึงระวัง
- ไวรัสเมอร์ส
- Ebola virus disease
- โรคไวรัสอีโบลา
- เอกสารความรู้เกี่ยวกับโรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease) ขององค์การอนามัยโลก
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกบั COVID-19 จากโรคติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
- experience.arcgis.com