แนวคิดที่กระโดดข้ามความเชื่อของเด็กยุคมิลเลนเนียลที่มีต่อ ‘พญาแร้ง’

แนวคิดที่กระโดดข้ามความเชื่อของเด็กยุคมิลเลนเนียลที่มีต่อ ‘พญาแร้ง’

 

คนรุ่นใหม่ถือเป็นองคาพยพที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ด้วยพลังที่บริสุทธิ์และเปลวไฟแห่งความมุ่งมั่น โดยเฉพาะวงการอนุรักษ์ที่มักจะพบเห็นกลุ่มคนในเจเนอเรชันนี้อยู่โดยทั่วไป ไม่ว่าจะมาในฐานะผู้สังเกตการณ์ อาสาสมัคร หรือคณะทำงานก็ดี บทความนี้จะขอพูดถึงบทสนทนาของเด็กรุ่น ‘GenY’ หรือคนในยุคมิลเลนเนียล กับบริบทของการมองภาพ ‘พญาแร้ง’ หนึ่งในสัตว์ป่าที่ถูกตีความหมายในแง่ของความโชคร้าย 

โดยผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ สิรวิชญ์ ทรัพย์เอนก นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับทัศนคติและมุมมองของเขาต่อพญาแร้ง ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางความคิด และเรื่องราวของการเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ ‘โครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’

สิรวิชญ์ เล่าย้อนกลับถึงสมัยวัยเยาว์ว่า เขามีความชื่นชอบเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในพงไพร และมักจะติดตามสารคดีสัตว์ป่าผ่านโทรทัศน์ จบจวนกระทั่งเข้าสู่วัยแสวงหาความรู้จึงตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาใน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเดินตามความฝันผ่านการหาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษา

การก้าวเข้าสู่รั้วเกษตร ส่งผลให้ สิรวิชญ์ ได้รู้จักกับ ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว อาจารย์ประจำคณะฯ และหัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ผู้ที่นิยมชมชอบต่อสัตว์ปีกประเภท ‘วิหคนักล่า’ ซึ่งได้เป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตหนุ่มวัย 24 ปี เริ่มศึกษาเรื่องราวสัตว์ที่ใช้ปีกในการดำรงชีพบนนภากาศ การเข้ามาเป็นสมาชิกของหน่วยฯ ส่งผลให้เขาได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของนกล่าเหยื่อชนิดต่าง ๆ รวมไปถึง ‘พญาแร้ง’ ซึ่งได้ส่งผลให้เข้ามามีส่วนรวมเป็นหนึ่งในคณะสังเกตการณ์โครงการฯ

“การได้เข้ามาสังเกตการณ์โครงการนี้ มันเหมือนเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เราอยู่แล้ว เพราะถ้าเราสามารถฟื้นฟูพญาแร้งกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากต่อระบบนิเวศ เนื่องจากส่วนตัวได้มีโอกาสเห็นตัวจริงในธรรมชาติที่ประเทศเนปาล เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นนกอะไร รู้แต่ว่ามันเป็นแร้งหัวสีแดง ๆ ซึ่งเขาก็บอกกันว่ามันคือพญาแร้ง นั้นจึงเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความสง่างามของนกเทศบาลที่โบยบินอยู่เหนือน่านฟ้า” สิรวิชญ์ เล่า

หากมองผ่านแว่นตาของนิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 5 แล้ว พญาแร้งถือเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่คอยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ เปรียบเสมือนนกเทศบาลผู้ดูแลความสะอาดให้กับผืนป่าและชุมชน ผ่านการกินร่างไร้ชีวิต ซึ่งหากธรรมชาติขาดผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว จะส่งผลให้ซากสัตว์หรือศพมนุษย์ไม่ถูกกำจัดออกไปจากระบบนิเวศ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรค ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคาพยาธิต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้หากการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับไปชีวิตในถิ่นธรรมชาติสำเร็จ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผืนป่าที่จะได้รับพญาแร้งเป็นของขวัญ ที่จะช่วยกำจัดซากและคอยสกัดกั้นโรคระบาดที่จะกระจายในระบบนิเวศนั้น ๆ 

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พญาแร้งได้สูญพันธุ์หายจากผืนป่าเมืองไทยร่วมสามทศวรรษ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานการพบเห็นอยู่เนื่อง ๆ ซึ่งสิรวิชญ์เล่าว่า ญาติผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านของเขา ได้เคยพบเห็นแร้งชนิดดังกล่าวใกล้เคหสถาน บริเวณวัดโพธิ์ปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ทิ้งซากศพมนุษย์ เนื่องด้วยในอดีต พิธีฌาปนกิจศพจะถูกจัดขึ้นบนเชิงตะกอน กลางลานวัด ยังไม่มีพื้นที่ฌาปนกิจอย่างเมรุเผาศพมิดชิดเฉกเช่นปัจจุบัน 

โดยผู้เป็นคุณย่าได้เล่าให้นิสิตหนุ่มฟังว่า เมื่อวันวานเคยพบเห็นแร้งหลายตัวลงมารุมจิกกินซากศพ หรือซากสัตว์ที่ชาวบ้านนำมาทิ้งเอาไว้ข้างกำแพงวัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ‘แร้งหัวแดง’ ร่วมอยู่ด้วย ข้อมูลดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพญาแร้งกับชุมชน ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าจากคุณย่าสู่หลานชาย

สำหรับเรื่องทัศนคติที่ผู้คนมักจะมองพญาแร้งหรือแร้งชนิดอื่น ๆ ในด้านลบ ว่าที่สัตวแพทย์หนุ่มมองว่า อาจเป็นเพราะ ในอดีตแร้งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับชุมชนที่เหนียวแน่น เนื่องจากแร้งมักเข้ามากัดกินซากศพใกล้พื้นที่อยู่อาศัย มนุษย์จึงนิยามการทำหน้าที่และบริบททางระบบนิเวศของแร้งเป็นสื่อแห่งความตาย โดยอันที่จริงแล้วสัตว์ที่ทำหน้าที่กินซากก็มีอีกมากมาย ซึ้งหากมองตามข้อเท็จจริงยังมีสัตว์หลายประเภทที่ทำหน้าที่ดังกล่าว อาทิ เสือโคร่ง หรือ หมาใน แต่สัตว์จำพวกนี้ไม่ได้เข้ามาหากินใกล้เขตชุมชน หรือถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากนัก พญาแร้งจึงกลายเป็นภาพจำฝังใจของผู้คนในยุคก่อน

อย่างไรก็ตาม สิรวิชญ์อธิบายว่า คนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยกำลังแสวงหาความรู้ และมีความเชื่อบนหลักความเป็นจริงจะมีทัศนคติที่ดีต่อพญาแร้ง หากวัยรุ่นกลุ่มนี้ได้รับรู้ถึงข้อมูลเชิงวิชาการในเรื่องข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ ที่ถูกถ่ายทอดออกไปในช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช่สื่อของบุคคลกลุ่มนี้

“ถ้าคุยแบบเป็นกลางพอทุกคนเห็นหน้าตาของพญาแร้ง ภาพลักษณ์ของมันไม่ได้สวยงามเนื่องจากหัวมันล้าน มันดูไม่สวยงามเหมือนสัตว์ตัวอื่น ๆ ในสายตาคน แต่ถ้าคุณมองเข้าไปลึก ๆ สัตว์แต่ละตัวมันก็มีความโดดเด่นและพญาแร้งมันก็มีความสง่างามในตัวมันเอง”  สิรวิชญ์ ทรัพย์เอนก กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากที่ได้พูดคุยกับนิสิตหนุ่ม สิ่งที่ผู้เขียนสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ ‘ความหวัง’ ของคนรุ่นใหม่ ที่อยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอทัศนคติที่ดีของเขาที่มีดีต่อพญาแร้ง  และคอยทำหน้าที่สานต่องานอนุรักษ์ และคอยสนับสนุนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและระบบนิเวศ

บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร