บทเรียนจากเหมืองแร่ : ความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหา ‘ลำห้วยคลิตี้’

บทเรียนจากเหมืองแร่ : ความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหา ‘ลำห้วยคลิตี้’

หมู่บ้านคลิตี้ (ล่าง) เป็นหมู่บ้านชาวไทย เชื้อสายกะเหรี่ยงที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ พ.. 2464  ชุมชนมีวิถีชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย ตามแบบฉบับของชาติพันธุ์ชาวป่า ยังชีพด้วยการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยมี ‘ลำห้วยคลิตี้เป็นลำน้ำสายหลักที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค
.

กระทั่ง การเข้ามาของโรงแต่งแร่ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกตั้งขึ้นริมห้วย ในปี 2518 กว่าหลายสิบปีแร่ตะกั่วที่อยู่บนดิน ซึมลงลำห้วยทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำน้ำสายหลักของชุมชน

มีรายงานว่า ในช่วงปี พ.. 2541 ชาวบ้านเริ่มพบอาการเจ็บป่วยที่ดูผิดปรกติ ซึ่งแต่ละคนมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกัน คือถ่ายท้อง ปวดหัว ปวดกระดูก ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต หญิงที่ตั้งครรภ์แท้งบุตร ทารกเกิดใหม่บางรายมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน โดยเฉพาะ วัว ควาย และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจำพวกปลาได้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก 

เมื่อมีสารพิษเจือปนในแหล่งน้ำจนไม่อาจใช้อุปโภคบริโภคได้ ส่งผลให้ในปี พ.. 2545 สาธารณสุขจังหวัดได้เข้ามาติดประกาศงดการใช้น้ำในลำห้วย และนำไปสู่การเรียกร้องความชอบธรรม จนทำให้สาธารณชน เริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นที่เกิดขึ้นในใจกลางผืนป่า

ในปี พ.. 2558 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเหมืองเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษที่ไม่สามารถเข้าระงับการปนเปื้อนของสารพิษได้อย่างทันที 

พวกเขาชนะคดีความในสองปีถัดมา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเยียวยา และทำการฟื้นฟูจนกว่าจะไม่พบคราบตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ สูงเกินกว่ามาตรฐาน
.

สายน้ำอาบพิษ กับกระบวนการแก้ปัญหาคาราคาซัง

หลายคนตั้งข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของบริษัทที่เข้ามาทำหน้าที่ฟื้นฟูห้วยคลิตี้ตั้งแต่ระยะแรก เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่มีการฟื้นฟูระบบนิเวศในภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ ความหวังอันน้อยนิดของชาวบ้านถูกผูกไว้กับการว่าจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ด้วยงบว่าจ้างจากกรมควบคุมมลพิษกว่า 454 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ การดูดตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยปริมาณกว่า 40,000 ตัน ขึ้นมากำจัด ซึ่งเริ่มกระบวนการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.. 2560 – สิงหาคม พ.. 2563 

ในขณะดำเนินโครงการ ได้เกิดข้อสังเกตจากชุมชนว่า กระบวนการดูดสารตะกั่วในลำห้วย ทำให้สายน้ำแห่งนี้มีสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีชาไทยกระทบต่อชาวคลิตี้ที่ต้องหันพึ่งน้ำจากประปาภูเขา ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ดื่มกินและใช้ในภาคการเกษตร ส่งผลให้เกิดภาวะจำยอมต้องใช้น้ำจากลำห้วย เพื่อประทังชีวิต แม้ทุกคนจะตระหนักดีว่า สายน้ำแห่งนี้อาจทำให้พวกเขาต้องพบกับปัญหาสุขภาพที่ตามมา 

กระนั้น พวกเขาได้มีการทำฐานข้อมูลการใช้น้ำของชุมชน เพื่อนำข้อมูลชิ้นนี้ยื่นให้แก่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ผู้รับเหมาได้ปรับใช้ อันจะทำให้สถาการณ์ของชาวบ้านดีขึ้น  แต่ข้อมูลที่ถูกบันทึกโดยชาวกะเหรี่ยงกลับไม่ถูกเหลียวแล 

แผนการฟื้นฟูที่ยังคงดำเนินต่อไปจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของชาวบ้าน ในการที่จะเห็นแหล่งน้ำแห่งนี้กลับมาใสเป็นธรรมชาติเหมือนเช่นในอดีต

กระทั่ง หลังครบกำหนดเวลาตามเงื่อนไข หลายฝ่ายได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเช็คผลลัพธ์ ปรากฎว่าการดำเนินการฟื้นฟูกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนไม่ต่างไปจากเก่ารายงานระบุว่าหลายจุด ค่าการปนเปื้อนของสารตะกั่วไม่ลดลง และยังคงปริมาณการปนเปื้อนสูงเช่นเดิม
.

บทเรียนจากมหากาพย์ลำห้วยคลิตี้

การแก้ไขฟื้นฟูห้วยคลิตี้ในระยะแรก ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานที่มีแนวโน้มไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ที่จะทำให้ชุมชนคลิตี้มีความปลอดภัยอย่างแท้จริง ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินการตรวจรับงาน และเตรียมชำระเงินงวดสุดท้ายตามสัญญา และกำลังร่างกรอบการทำงานในโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 2

โดยทางคณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความห่วงกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าว และเห็นว่าการดำเนินการเช่นนี้จะก่อความเสียหายทั้งต่อรัฐและชุมชนที่ต้องอาศัยพึ่งพิงลำห้วย เนื่องจาก โครงการระยะที่ 1 มีจุดบกพร่อง ไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าจ้าง และยังมีตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วย

ทั้งนี้ ภาคประชาชนยังขอให้มีการชะลอการจ่ายเงินงวดสุดท้ายตามสัญญาโครงการระยะที่ 1 และการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 เพื่อจัดการพูดคุยทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมา และทิศทางที่ควรจะเป็นร่วมกันก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้เงินภาษีไปอย่างคุ้มค่า แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง และเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ใสสะอาดเป็นไปตามค่ามาตรฐาน ที่ทำให้ชาวบ้านคลิตี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามวิถีปรกติ ปลอดภัย บรรลุตามคำพิพากษา
.

ภาพสะท้อนจากลำห้วยขุ่น สู่ความล้มเหลวของรัฐในการจัดการ

กรณีการปนเปื้อนของสารตะกั้วในลำห้วยคลิตี้กลายเป็นกรณีศึกษา ที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ไขฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น เรื่องแรกคือการหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่ผู้ก่อมลพิษ (โรงแต่งแร่) จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการฟื้นฟูไปแล้วได้อย่างไร ? 

ซึ่งรัฐทำได้เพียงแค่นำเงินที่มาจากภาษีประชาชนมารับผิดชอบต่อปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ ซึ่งถ้าหากผลการดำเนินคดีนำไปสู่การบังคับให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบค่าใช้จ่าย สิ่งนี้คงจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับเมืองไทย

สองคือเรื่องความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ เราจะเห็นได้ว่าเหมืองคลิตี้ถูกอนุมัติจัดสร้างโดยกระทรวงอุตสาหกรรม แต่พอเกิดปัญหาหน่วยงานที่ต้องมาฟื้นฟูเยียวยา กลับเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผ่านกรมควบคุมมลพิษ) และกระทรวงสาธารณะสุขก็ต้องออกมาดูแลเรื่องสุขภาพให้ชาวบ้าน เปรียบเสมือนเป็นการเช็ดอุจาระให้กับผู้ถ่าย

เรื่องสุดท้ายคือเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งจากกรณีการแก้ไขฟื้นฟูปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ระยะแรก นอกจากการเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของชาวบ้าน ก็ไม่ได้มีการนำชุดข้อมูลชุมชนมาร่วมคลี่คลายปัญหา ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องจำยอมใช้ทรัพยากรน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ดำรงชีพด้วยความจำเป็น เพราะนโยบายแก้ไขที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

จนถึงทุกวันนี้ ชุมชนยังคงรอด้วยความหวังที่จะเห็น “ลำห้วยคลิตี้” กลับมาคงสภาพที่ดีตามเดิม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม เพื่อรักษาสิทธิ์ความเป็นชุมชน ในการดูแลฟื้นฟูต่อไป

 


อ้างอิง
ภาพเปิดเรื่อง : กรมควบคุมมลพิษ

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ