กก.วล. มีมติให้กรมชลประทานไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม กรณีโครงการ อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง

กก.วล. มีมติให้กรมชลประทานไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม กรณีโครงการ อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง

วันนี้ (19 ก.ย. 2562) เวลา 9.00 น. ตัวแทนชาวบ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้าง อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ยื่นหนังสือแก่ผู้แทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) โดยขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว 

โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ถูกเสนอโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ นอกจากนี้พื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วน มีราษฎรชาวไทยภูเขาเชื้อสายกระเหรี่ยงกลุ่มบ้านพุระกำ อยู่อาศัยและทำกินกว่า 400 ไร่ ซึ่งหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง นอกจากที่น้ำจะท่วมพื้นที่ป่าแล้ว ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องถูกอพยพโยกย้ายเพื่อทำการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อีกด้วย

 

หนังสือที่ยื่นแก่ผู้แทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)

 

รายละเอียดในหนังสือระบุว่า…

ขอให้ทบทวนการพิจารณาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง 

เรียน  ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

เนื่องด้วยกรมชลประทานได้มีการกำหนดโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง โดยว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาดำเนินการศึกษาโครงการบริหารจัดการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ของแม่น้ำภาชี ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำดังกล่าวรวมพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรบ้านพุระกำ รวมเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ได้มีการดำเนินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งเข้าที่ประชุมกับชาวบ้าน กฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยในการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งมีผลกระทบแก่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนและทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกระเหรี่ยงเปลี่ยนแปลงไป 

จึงเรียนมายังคณกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้โปรดพิจารณาแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐมาชี้แจงทำความเข้าใจ โดยพิจารณาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่อยู่ทำกิน โดยขอให้ทำประชามติชาวบ้านพุระกำและบ้านหนองตาดั้งก่อนจะพิจารณาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนโครงการ 

 

หมู่บ้านพุระกำชาวบ้าน มีสมาชิก 74 ครัวเรือน เป็นชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่ได้รับสัญชาติไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชหมุนเวียนและกลุ่มผู้หญิงจะเข้าร่วมโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกอบอาชีพด้านงานศิลปาชีพ เป็นชุมชนต้นน้ำที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ 

 

 

หรรษา ประจัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่เข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ให้สัมภาษณ์กับเราว่า หมู่บ้านพุระกำเป็นหมู่บ้านต้นน้ำภาชี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เรามีน้ำใช้ทั้งปี ต่อให้น้ำน้อยเราก็ยังพอใช้ ยังไม่เคยประสบภัยแล้งถึงขั้นขาดแคลนน้ำใช้ หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆคือวิถีชีวิต เพราะชาวบ้านเกิดมาก็อยู่กับป่า กับธรรมชาติ หากต้องอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้เลยว่าเราจะได้ไปอยู่ที่ไหน 

ชุมชนบ้านพุระกำที่ต้องถูกอพยพ : ซึ่งชุมชนนี้เคยอพยพมาจากใจแผ่นดิน ใจกลางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาแล้วครั้งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้มีข่าวตอนปี2554 ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องไปแล้วว่าไม่เอาอ่างเก็บน้ำ แล้วเรื่องก็เงียบไป แต่ไม่กี่วันมานี้ชาวบ้านพึ่งมาทราบเรื่อง ตอนนี้ทุกคนก็ตื่นตระหนก กังวล กลัวว่าจะไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ซึ่งยังไม่มีใครมาทำความเข้าใจหรือว่าชี้แจงกับชาวบ้านเลยว่าจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน จะอยู่อย่างไร เพราะวิถีชีวิตเราอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วจะโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นเราไม่รู้ว่าจะอยู่ได้ไหม สุดท้ายหรรษาบอกกับเราว่า ชาวบ้านอยากให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุย ทำความเข้าใจกันก่อน ไม่ใช่เกิดข่าวขึ้นมาแบบนี้ ชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว ไม่มีข้อมูลอะไรเลย   

 

 

และเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)  ได้มีมติให้กรมชลประทานไปทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. เรื่องชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ให้กรมชลประทานไปพูดคุยสร้างความเข้าใจกับชุมชน และเสนอมาตรการลดผลกระทบ รวมถึงแนวทางแก้ไขผลกระทบในพื้นที่
  2. เรื่องระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า ให้ไปทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด และสำรวจเพิ่มเติมออกจากแนวน้ำท่วมเป็นระยะทางอีก 5 กิโลเมตร ว่าพบสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มากน้อยแค่ไหน

 

ครั้งการสร้างเขื่อนรัชชประภา(เขื่อนเชี่ยวหลาน) หลังจากคุณสืบ นาคะเสถียร ทำโครงการอพยพสัตว์ป่า​ที่เขื่อนรัชชประภา​(เชี่ยวหลาน)​ ช่วงปี 2528-2530 สร้างผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า ที่ประเมินค่าไม่ได้ เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของประเทศไทย เพราะผลจากการอพยพสัตว์ป่าในครั้งนั้นสัตว์ป่าที่สามารถช่วยเหลือขึ้นมาได้ตายเกือบทั้งหมด

จากหนังสือรายงานการประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน(เขื่อนรัชประภา) จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดย สืบ นาคะเสถียร กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ธันวาคม 2530 จากบทสรุปข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ระบุว่า การแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นงานที่มิอาจเป็นไปได้ในเชิงของการปฏิบัติ เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นขบวนการของการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้

แต่การกลับมาของ EIA โครงการอ่างเก็บน้ำ(เขื่อน)บ้านหนองตาดั้ง ในเขตรักษาพันธุ์​สัตว์ป่า​แม่น้ำภาชี พื้นที่อนุรักษ์​หนึ่งใน 4 ของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ประเทศไทยกำลังจะยื่นเสนอขอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)​ เเม้วันนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)  ได้มีมติให้กรมชลประทานไปทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความห่วงใยของคนทำงานอนุรักษ์ไม่น้อย คงต้องร่วมกันเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราไม่อยากให้บทเรียนครั้งนั้นกับมาสร้างความชอกช้ำให้คนไทยอีก