กล้องดักถ่ายภาพบริเวณผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ฝั่งตะวันออก ถ่ายติดภาพลูกเสือโคร่งตัวน้อย นับว่าเป็นภาพถ่ายที่นักอนุรักษ์เฝ้ารออย่างยาวนานและเป็นสิ่งยืนยันว่าเสือโคร่งกระจายพันธุ์อยู่ในป่าผืนนี้
นักอนุรักษ์ซึ่งทำการสำรวจผืนป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพจากศูนย์อนุรักษ์เสือโคร่งทับลาน-ปางสีดา ซึ่งล่าสุดมีรายงานพบประชากรเสือโคร่งกลุ่มเล็กๆ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยประชากรเสือกลุ่มนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นเสือโคร่งอินโดจีน หรือเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือโคร่งเอเชียแผ่นดินใหญ่ (P.t. tigris) ซึ่งรวมถึงเสือเบงกอลและเสือไซบีเรีย
“ความพยายามในการเพิ่มการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการล่า รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดคือส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเสือโคร่งในการผสมพันธุ์” ดร. ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ให้สัมภาษณ์ “การค้นพบล่าสุดจากการเฝ้าศึกษาเป็นตัวบ่งชี้ว่าความพยายามของเราประสบผล”
การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation เป็นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่เปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังของโครงการที่ดำเนินมาร่วมทศวรรษในชื่อโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มนักอนุรักษ์มองว่าความก้าวหน้าของโครงการเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ดังที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งจะทำให้เสือโคร่งในประเทศไทยไม่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเสือโคร่งในประเทศอื่นๆ
ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีประชากรเสือโคร่งอินโดจีนราว 221 ตัวในสองประเทศแถบเอเชียคือไทยและพม่า หลังจากการศึกษาโดยใช้กล้องดักถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2562 พบว่าประชากรเสือโคร่งกลุ่มสุดท้ายในลาวได้หายตัวไป เช่นเดียวกับเสือโคร่งในเวียดนามและกัมพูชาที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ในระดับพื้นที่
แต่ประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยังคงมีพื้นที่ให้เติบโต โดยในพื้นที่ศึกษาคาดว่ามีประชากรทั้งสิ้น 20 ตัว โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีประชากรอย่างน้อย 14 ตัว แต่ไม่มากเกินกว่า 33 ตัว นักวิจัยประมาณการว่าความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งอยู่ที่ 0.63 ต่อพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าน้อยมากหากเทียบกับพื้นที่อย่างห้วยขาแข้งในพื้นที่ป่าตะวันตกของไทย ซึ่งการศึกษาล่าสุดพบว่าความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งอยู่ที่ราว 1.27 ถึง 2.09 ตัวต่อพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ดี การออกแบบวิธีการศึกษาที่แตกต่างกันทำให้การเปรียบเทียบโดยตรงนั้นทำได้ยาก
เสือโคร่งในประเทศไทยจัดอยู่ในสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เสือโคร่งต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้งการล่า ปริมาณเหยื่อที่น้อยลง รวมถึงการลักลอบทำไม้ผิดกฎหมาย
“หากเราไม่สามารถป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า ก็มีแนวโน้มอย่างยิ่งว่าเราจะได้เห็นการสูญพันธุ์ของเสือโคร่งตามธรรมชาติในอนาคตอันใกล้” คริส ฮัลแลม (Chris Hallam) นักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์จากองค์กร Panthera สหรัฐอเมริกา องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อการอนุรักษ์เสือทั่วโลก ซึ่งร่วมทำงานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิฟรีแลนด์ และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เพื่อสำรวจจำนวนประชากรเสือในไทย
ปริมาณเสือตามธรรมชาติลดลงจากกว่า 100,000 ชีวิตเมื่อศตวรรษก่อนเหลือเพียงราว 3,900 ตัวในปัจจุบัน เสือส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย ที่น่าเศร้าคือในสหรัฐอเมริกามีจำนวนเสือที่ถูกเลี้ยงหลังลูกกรงมากกว่าจำนวนเสือตามธรรมชาติทั่วโลก
การศึกษาชิ้นนี้ใช้วิธีประมาณการจำนวนประชากรซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากชื่อว่า Spatially Explicit Capture Recapture อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนประชากรเสือโคร่งที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ประเมินความน่าเชื่อถือของวิธีการดังกล่าวได้ยากทำให้เราพบว่าการออกแบบวิธีสำรวจที่ผิดแผกแตกต่างไปจากปกติอาจเป็นสิ่งจำเป็น
“สำหรับการศึกษานี้ เราใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินและทดสอบว่าจุดติดตั้งกล้องดักถ่ายและช่วงเวลาในการทำการสำรวจจะส่งผลอย่างไรต่อผลลัพธ์จำนวนประชากรที่คาด” เอริก แอช (Eric Ash) ผู้นำทีมวิจัยกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ตั้งคำถามต่อเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินจำนวนประชากรในอดีต ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจและเพิ่มศักยภาพในการศึกษาการกระจายตัวของเสือโคร่งในพื้นที่
เพื่อป้องกันไม่ให้เสือโคร่งสูญพันธุ์เช่นเดียวกับที่เกิดในลาวและกัมพูชา “การเฝ้าระวังและติดตามมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจประเมินจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาประสิทธิผลของนโยบายการอนุรักษ์ การเฝ้าระวังยังสามารถช่วยจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องเสริมให้มีการอนุรักษ์เข้มข้นขึ้นอีกด้วย” เอริกกล่าวเสริม
แต่ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาและติดตามเสือโคร่งทางไกลด้วยการใช้กล้องดักถ่าย บางครั้งเอริกก็เผชิญกับสถานการณ์ที่น่าหวั่นเกรง โดยครั้งหนึ่งระหว่างที่เขาเข้าไปเก็บกล้องดักถ่ายนั้นก็เจอกับ “ร่องรอยปัสสาวะของเสือโคร่งในบริเวณใกล้เคียง แต่ด้วยความที่พื้นที่ค่อนข้างรกชัฏ และปริมาณประชากรที่ไม่มากนัก การเผชิญหน้ากับเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่การที่ผมรู้ว่าเสือโคร่งเพิ่งผ่านจุดที่เรายืนอยู่ไปไม่นาน ก็ทำให้มีหลายความรู้สึกผสมปนเปกันทั้งหวดหวั่น มีความสุข และรู้สึกว่าตัวเราเล็กแสนเล็ก” เขาถ่ายทอดประสบการณ์
ถอดความและเรียบเรียงจาก Photos of wild tiger cubs in Thailand rekindles hope for species
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์