ฟังแนวคิดสิ่งแวดล้อมจากม็อบการเมือง เพราะการดูแลธรรมชาติเป็นเรื่องของทุกคน

ฟังแนวคิดสิ่งแวดล้อมจากม็อบการเมือง เพราะการดูแลธรรมชาติเป็นเรื่องของทุกคน

ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เรื่องการเมืองถูกหยิบยกมาพูดกันมากขึ้น ทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีรูปแบบการปกครอง ที่ให้อิสระทางความคิดอย่างประเทศไทย ดังนั้นประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงถูกนำมาปัดฝุ่น ‘ประเด็นสีเขียว’ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ 

บรรณาธิการเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองค์กรสื่อสารสิ่งแวดล้อม จึงอยากชวนผู้อ่านวางอคติทางการเมือง มาสำรวจไอเดียสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มผู้ชุมนุมคณะต่าง ๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563

ถ้าการเมืองดีสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น

หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา อันเป็นอีกฝากหนึ่งของอนุเสาวรีประชาธิปไตย เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มคณะราษฎร’ อันมีจุดยืนในการเรียกร้องประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านต่าง ๆ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนหนุ่มสาวออกมาเรียกร้อง

คริษฐ อร่ามพิบูลกิจ ผู้ชุมนุมคณะราษฎรวัย 18 ปี มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น อย่างกรณีคดีการล่าเสือดำของเปรมชัย ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจ ใช้การตัดสินแบบสองมาตรฐาน (double standard) แม้เขาจะฆ่าสัตว์ที่อยู่ในการคุ้มครองด้วยกฎหมาย แต่เขากลับไม่ถูกดำเนินคดีความ เพราะผู้กระทำผิดเป็นนายทุน ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นประเด็นสิ่งแวดล้อมจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไร 

นอกจากนี้ คริษฐยังมองถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น อย่างเหมืองทองอัครา โดยเขามองว่า ปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง ระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงต่อชุมชน และระบบนิเวศในพื้นที่ ซึ่งโครงการในลักษณะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต (Mass Extinction)  จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยล้วนสอดคล้องกับการเมือง ในด้านการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนใหญ่ ซึ่งมีมาทุกยุคทุกสมัย

“ถ้าการเมืองดีเราจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นภาครัฐจะให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร แต่กลับมองผลประโยชน์จากนายทุนเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และล้างบางปัญหาการจัดการแบบสองมาตรฐานออกไปจากกระบวนการสิ่งแวดล้อม” คริษฐ อร่ามพิบูลกิจ กล่าว

ด้านปณต บุรีวงศ์ ผู้ชุมนุมคณะราษฎรอายุ 22 ปี มองประโยคที่บอกว่า ‘ถ้าการเมืองดี สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น’ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แม้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการเมือง อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความสอดคล้องกันอยู่หลายประเด็น โดยที่ผ่านมาผู้คนมักจะได้รับข่าวสารการทุจริตในหน่วยงานราชการ ที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง ในกรณีของเจ้าหน้าที่ระดับล่างนั้น เกิดขึ้นจากปัญหาสวัสดิการที่ภาครัฐจัดสรรมาอย่างไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการจัดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับภาระต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ 

นอกจากปัญหาเชิงระบบแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองยังเป็นเรื่องที่ปณตอยากให้ภาครัฐเข้ามาให้ความสำคัญ โดยผู้ชุมนุมวัย 22 ปี กล่าวว่า เขาเชื่อว่าหากการเมืองดี กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น 

“เราจะได้เห็นการทำงานของกรุงเทพมหานคร ที่ลดทอนพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงออกไป ซึ่งเกิดจากความไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากการเมืองดีเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าใจบริบทการทำงานที่ถูกต้อง “

ในส่วนของประเด็นการคุกคามนักสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องถูกนำมาพูดกันเพื่อแก้ไข โดยปณตได้ยกกรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ การทำอัตวินิบาตกรรมของสืบ นาคะเสถียร ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลทางการเมือง และการบีบบังคับจากระบบราชการ ที่มาในรูปของการคุกคาม ในรูปแบบอำนาจอิทธิพล ส่งผลให้ ‘หัวหน้าสืบ’ ตัดสินใจยิงตัวตาย 

“ผมมองว่าการคุกคามนักสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะกรณีการอุ้มฆ่า มีอะไรควรใช้หลักทางกฎหมายและใช้อำนาจตุลาการที่ยุติธรรมในการตัดสิน ไม่ใช่ใช้อำนาจอิทธิพล หรือศาลเตี้ยในการขจัดเรื่องราว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้อยู่ตายพรมมาโดยตลอด” ปณต บุรีวงศ์ กล่าว

ผู้ชุมนุมคณะราษฎรวัย 22 ปี ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า สุดท้ายถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทุกอย่าง ก็จะตกมาที่มนุษย์ โดยปณตคิดว่า อยากให้ทุกคนมองภาพข้างต้นออกมาในรูปแบบของพีระมิด โดยมีมนุษย์เป็นส่วนของยอดสามเหลี่ยม ซึ่งถ้าวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไป จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษยชาติจะต้องได้รับผลกระทบ ตามทฤษฎีลำดับขั้นการเปลี่ยนแปลง (Change cycle) 

ขณะที่นายธนู (ขอสงวนนามสกุล) ชายสูงอายุวัย 72 ปี ผู้เกิดและเติบโตอยู่กลางมหานครกรุงเทพเล่าให้เราฟังว่า ที่ผ่านมาเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือวันมหาวิปโยค ซึ่ง ‘ปู่ธนู’ มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องการเมืองคือสิ่งเดียวกัน โดยระบุว่า หนึ่งในชนวนของการออกมาขับเคลื่อนทางการเมืองของขบวนการนิสิตนักศึกษา คือประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นเรื่องโจษจันในยุคนั้น ‘กรณีการล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่’

“ผมเคยร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา วันนั้นนิสิตนักศึกษาออกมาขับไล่ 3 ทรราช ซึ่งหากมองย้อนไป จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากการเรียกร้องประเด็นทางสิ่งแวดล้อมผ่าน ‘บันทึกลับทุ่งใหญ่’ อันเป็นกรณีที่พูดถึงเรื่องการลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ในป่าอนุรักษ์ โดยมี นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล และดารา เข้าร่วม โดยวันนี้เราได้เห็นการออกมาของคนรุ่นใหม่ ที่พูดถึงประเด็นทางสังคมกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันแสดงให้เห็นถึงทิศทางในเชิงบวกของความคิดคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ชายสูงวัยที่ออกมาร่วมชุมนุมกับม็อบคณะราษฎรยังให้ความเห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองยุคปัจจุบันเกิดจากโครงสร้างของรัฐ ที่รวบอำนาจอยู่เพียงศูนย์กลาง ส่งผลให้ความเจริญไม่สามารถกระจายออกรอบนอกได้ ทำให้ผู้คนต่างจังหวัดต้องเดินทางเข้ามาทำมาหากินในเมืองหลวง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น เพราะการกระจุกตัวของผู้คนในเมืองมีมากเกินไป รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรตามอุปสงค์ อันนำไปสู่มลภาวะต่าง ๆ มากมาย อาทิ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ 

“เมื่อรัฐไม่กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ผู้คนต่างจังหวัดจึงจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อหางานทำภายใต้สภาพพื้นที่ที่มีจำกัด ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรและพลังงานต่าง ๆ ถูกผลาญไปอย่างมากมาย กลายเป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในเมืองหลวง คนเยอะก็ทิ้งขยะเยอะ ใช้พาหนะในการสัญจรเยอะ มลพิษต่าง ๆ กลายเป็นว่ากรุงเทพฯ ต้องรับภาระในการจัดการปัญหาเหล่านี้ มันจะแก้ไขทันได้ไง ในเมื่อประชากรนอกทะเบียนมันมีมากกว่าตั้งเท่าตัว” นายธนู กล่าว

สิ่งแวดล้อมที่ดีต้องเริ่มจากตัวเรา

อีกฝั่งหนึ่งของถนนราชดำเนิน อันเป็นพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มมวลชนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (คปส.) ก็เป็นอีกกลุ่มที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง (ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์) ในวันเดียวกันกับคณะราษฎร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้พูดคุยเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมกับนายจักรพงษ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม​ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน โดยแกนนำศปปส. บอกว่าเรื่องโครงสร้างของการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นคนละเรื่องกัน ไม่สามารถนำมาผสมรวมกันได้ โดยมีความเห็นว่า สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่เราพบเจอทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่การเมืองคือ บุคคล พรรค ที่สามารถออกมานำเสนอความคิดทั้งเชิงบวก และเชิงลบ ซึ่งจักรพงษ์มองว่า ทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยดีอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลให้มันดีต่อไป

“โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยอยู่ในมาตรฐานที่น่าพอใจเเล้ว แต่ยังไงทุกคนก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ตกทอดสู่ลูกหลานต่อไป” จักรพงษ์ กล่าว

ด้านไทเกอร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ – นามสกุลจริง) ชายอายุ 45 ปี จากจังหวัดราชบุรี ผู้ร่วมชุมนุมกับศปปส. มองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการเมืองมีบริบทที่เชื่อมโยงกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โดยมองภาพจาก กรณีการออกมาชุมนุมของม็อบต่าง ๆ หากไม่มีการจัดการด้านความสะอาดกันภายในพื้นที่ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในเมือง โดยเฉพาะปัญหาขยะ อันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งแวดล้อมในเมืองแย่ลง เช่น กลิ่นเน่าเหม็น ขยะอุดตันท่อน้ำ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องมารับภาระดังกล่าวอีกทีหนึ่ง

ทั้งนี้ ไทเกอร์มองว่า ต่อให้การเมืองจะดีจะแย่แค่ไหน ถ้าจิตสำนึกของคนไม่ดีสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ไม่เกิด โดยส่วนตัวไทเกอร์ เป็นหนึ่งกลุ่มคนผู้ดูแลอนุรักษ์แม่น้ำแม่กลอง เนื่องด้วยเป็นสายน้ำที่ไหลผ่านบ้านเกิด และเป็นแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยความของระบบนิเวศอันทรงคุณค่า เขาได้มอบความรู้ในการอนุรักษ์ผ่านกลุ่มเครือข่ายชุมชน และผลักดัน ให้ผู้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ผ่านการปลูกฝังแนวคิดสำนึกรักในบ้านเกิด

“ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ ผ่านการสำนึกและรักในความเป็นมาของท้องถิ่น ผมรักแม่น้ำแม่กลอง อันเป็นแหล่งอยู่อาศัยของผม ผมจึงมีแรงที่จะขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ในพื้นที่ ผ่านการอบรมและปลูกฝังชุมชนให้ตระหนักถึง การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้แก่ลูกหลาน” ไทเกอร์ ผู้ปิดทองหลังพระ กล่าว

ขณะที่ กฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการเครือข่ายประชาขนปกป้องสถาบันกษัตริย์ มองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการมีพื้นที่สีเขียวในเมือง และการอนุรักษ์ป่าใหญ่ในท้องถิ่น โดยเลขาธิการ คปส. กล่าวว่าตนได้ยกแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสรณะในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์

“ผมเชื่อในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิดศาสตร์พระราชา ที่ว่าด้วยความสำคัญของป่าไม้ ภูเขา ทะเล ซึ่งถือว่ามนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้ เพื่อให้โลกใบนี้สวยงาม”

เลขาธิการ คปส. กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเห็นด้วยกับการที่คนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐส่วนกลาง หรือรัฐท้องถิ่นก็ต้องช่วยกันปลูกฝังให้ทุกคนเกิดความตระหนัก และต้องหยิบยกประเด็นเหล่านี้ออกมาพูดในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือรัฐบาลไหน ๆ ก็ควรชูประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระแห่งชาติ 

กระนั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเชิงโครงสร้าง แต่จะมีความสอดคล้องกันในเรื่องของนโยบาย เพราะแบบแผนความคิดที่ใช้เป็นหลักยึดในการปฏิบัติ หรือการตัดสินใจของประเทศไทย ต้องผ่านการออกโดยนักการเมือง ดังนั้นประเด็นทางสิ่งแวดล้อมจะถูกพูดถึงมากขึ้น หากเรื่องเหล่านี้ถูกหยิบขึ้นไปพูดในสภา

“ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เราไม่เห็นพรรคการเมืองไหน มีการแสดงจุดยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบชัดเจนเลย ซึ่งเมื่อเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกพูดถึง ประชาชนและองค์กรอิสระก็จะต้องแบกภาระหนัก ในการทำงานอนุรักษ์ ดังนั้นจะไม่เกิดผลเลยถ้าภาครัฐไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชนเหล่านี้ เพราะเมื่อเสียงเรียกร้องไม่สามารถถูกนำออกมาเป็นกฎหมายนโยบายในการบริหารประเทศได้”  กฤตย์ เยี่ยมเมธากร กล่าวทิ้งท้าย

แม้สองฟากของถนนราชดำเนิน อาจเป็นตัวกำหนดเขตพื้นที่การชุมนุม แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะเห็นได้ว่าเส้นทางของถนนล้วนบรรจบกัน เสมือนแนวคิดที่ทุกคนอยากเห็นเมืองไทยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ