พ.ร.บ.ป่าชุมชน กลไกลการจัดการป่ากันชนเพื่อรักษาป่าผืนใหญ่

พ.ร.บ.ป่าชุมชน กลไกลการจัดการป่ากันชนเพื่อรักษาป่าผืนใหญ่

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง (สมาชิกขอแก้ไขการออกเสียงจากไม่เห็นด้วยเป็นเห็นด้วย 1 ท่าน) และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี ที่ผ่านมาภาคส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ป่าชุมชน เพื่อให้มีกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าใกล้เขตหมู่บ้าน โดยร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน มีจำนวน 8 หมวด 104 มาตรา

 

 

ตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ที่มีบทบาท เข้าไปหนุนเสริมให้เกิดการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นผืนป่าตะวันตก ให้ภาพความสำคัญของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ว่าแต่เดิมการจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเป็นในลักษณะที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขอบเขต กติกาในการดูแล รวมถึงสิทธิการใช้ประโยชน์ ซึ่ง “เป็นการกำหนดโดยชุมชนเอง ซึ่งไม่มี พ.ร.บ. หรือกฎหมายเข้ามาส่งเสริมในการบริหารจัดการ” พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ จึงมีความสำคัญ ประการแรกคือ เรื่องการจัดตั้งป่าชุมชน ใน พ.ร.บ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขในการขอจัดตั้งป่าชุมชนไว้ชัดเจนเพื่อให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ โดยการจัดตั้งมีคณะกรรมการช่วยบริหารจัดการป่าชุมชนใน 3 ระดับจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และคณะกรรมการ จัดการป่าชุมชนในระดับพื้นที่

 

ตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

นอกจากนั้นในความสำคัญของการการจัดตั้งป่าชุมชนโดยเนื้อหาใน พ.ร.บ.กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกป่าชุมชน และระบุบทลงโทษไว้ด้วย แต่เดิมการกำหนดขอบเขตส่วนนี้หากชาวบ้านหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเอง จะมีช่องโหว่ เนื่องจากไม่มีกฎหมาย ไม่มีบทลงโทษที่สามารถจัดการได้ ถึงแม้จะใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.ป่าไม้ หรือ พ.ร.บ.ที่ เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ มาใช้อ้างอิงเป็นบทลงโทษก็ตาม ซึ่งการมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจนระบุไว้ใน พ.ร.บ.ป่าชุมชน และระบุอำนาจหน้าที่ไว้ด้วย ส่วนนี้จะทำให้ชุมชน นำมาใช้เป็นข้อบังคับ และปฏิบัติได้จริงพื้นที่

โดย พ.ร.บ.ระบุหน้าที่ของสมาชิกป่าชุมชน นอกจากมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบและแผนการจัดการป่าชุมชนแล้ว ยังจะต้องร่วมมือกับราชการดูแลรักษาป่าชุมชน สัตว์ป่า และทรัพยากรในป่าชุมชน และร่วมมือกับคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนด้วย

 

 

ความสำคัญประการที่สอง ตะวันฉาย หงส์วิลัย บอกกับเราคือเรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน เนื้อหา พ.ร.บ.ระบุข้อกำหนดชัดเจนว่า สามารถใช้ประโยชน์ในลักษณะใดได้บ้าง ผู้ใช้ประโยชน์เป็นใครได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์เชิงการพึ่งพาอาศัยในการหาอยู่หากิน หรือกระทั้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สิ่งเหล่านี้ระบุไว้ชัด อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนยังมีการควบคุมดูแลป่าชุมชน หรือข้อห้ามระบุไว้คือ ห้ามยึดถือครอบครอง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ห้ามก่อสร้างแผ่วถางเผาป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่

การใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการ ต้องเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลายความหลากหลายทาง ชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นไปตาม ระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกป่าชุมชน มีสิทธิเข้าป่าชุมชนเพื่อศึกษาเรียนรู้ หรือพักผ่อนหย่อนใจ และเก็บหาของป่าได้เฉพาะเท่าที่กำหนดในข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ประโยชนจากผลผลิตและบริการป่าชุมชนตามร่างมาตรา 44 (2) และร่างมาตรา 53

 

 

“การจัดตั้งป่าชุมชนเป็นเกราะที่จะช่วยให้ชุมชนร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนใหญ่ไว้ได้ ลดการบุกรุก ป่าเพิ่ม” ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า จาก ประสบการณ์การทำงานเพื่อผลักดันเรื่องการขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งแต่ ปี2549 จนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่าป่าสงวนแห่งชาติมีพื้นที่ใหญ่มาก และด้วยสภาพป่ามีความกระจัด กระจายกันอยู่ทั่ว พอมองในตัวอัตรากำลังของพนักงานเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในพื้นที่นั้นๆในการดูแล อาจ ไม่ทั่วถึง ต้องอย่าลืมว่าป่าสงวนแห่งชาติโดยส่วนใหญ่ถูกล้อมรอบด้วยที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของ ชุมชน ดังนั้นเราจะเห็นว่าป่าในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผืนป่าตะวันตกที่เราทำงานอยู่ในพื้นที่ป่ากันชนตามแนวเขตป่าอนุรักษ์ ตั้งแต่เรามีการสนับสนุนให้มีการ ก่อตั้งเป็นป่าชุมชนพบว่าช่วยลดปัญหาการบุกรุกได้เยอะ ที่สำคัญคือชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันชาวบ้านเองมีความภาคภูมิใจที่เขาที่มีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า เราเห็นความ เปลี่ยนแปลงในเชิงของการรักษาพื้นที่ชัดเจนมองว่า “ป่าชุมชนมีคุณูปการ ที่ช่วยรักษาพื้นที่ป่า”

พ.ร.บ.ป่าชุมชน ถือเป็นความหวังของภาครัฐและประชาชน ที่จะช่วยหนุนเสริมการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุง รักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การจัดการป่าชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน

 


บทความ นรินทร์  ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร