มูลนิธิสืบนาคะเสถียรส่งจดหมายถึง ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อแสดงข้อกังวลต่อกรณี พระธุดงค์ เข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับทราบข้อมูลว่าเมื่อช่วงวันที่ 13 – 24 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มีคณะพระสงฆ์จำนวน 482 รูป และคณะผู้ติดตามจำนวน 12 คน ธุดงค์และเดินทางเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ต่อไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รวมถึงคณะสงฆ์อื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันนิยมเข้าไปเดินธุดงค์ในพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อระบบนิเวศสูง เช่น กลางผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง อ้างว่าเป็นการขัดเกลาตนรวมถึงเป็นการเผยแพร่หรือประกาศธรรม โดยการเข้าไปในพื้นที่มีทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีข้อเสนอต่อประธานกรรมการมหาเถรสมาคมดังนี้
- พระธุดงค์และคณะผู้ติดตามอาจถูกสัตว์ป่าทำร้าย พลัดหลง หรือประสบอุบัติเหตุได้
- ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสัตว์ป่าและป่าไม้ ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้สัตว์ป่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หลบหนีออกจากแหล่งหากินเดิม
- ปัญหาไฟป่า ซึ่งเกิดจากพระสงฆ์และผู้ติดตามบางกลุ่มก่อไฟหุงอาหารแล้วไม่ดับไฟให้หมด จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
- ปัญหาจากขยะและของเสีย ที่เหลือจากการประกอบอาหารรวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงพลาสติกที่ใส่อาหาร อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าที่เข้ามาหาเศษอาหารกิน
- ปัญหาการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ซึ่งอาจมีการแฝงตัวอาศัยช่องทางปลอมแปลงเป็นพระสงฆ์เข้าไปล่าสัตว์ป่า หรือใช้เส้นทางในการลำเลียงขนส่งยาเสพติดหรือของผิดกฎหมายอื่น ๆ
แม้การธุดงค์จะเป็นแนวทางการปฏิบัติธรรมเพื่อหาที่สงบ สัปปายะ ตั้งแต่โบราณมาแต่หากมีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธุดงควัตรเป็นจำนวนมากในเขตพื้นที่ป่า ไม่น่าจะก่อให้เกิดความสงบแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลดังกล่าวมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะมีการกระทำซ้ำในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความเปราะบางต่อระบบนิเวศสูง จึงขอถวายข้อมูลและเสนอให้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
และข้อเสนอแนะต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีดังนี้
- เร่งสร้างความเข้าใจและการยอมรับกติกา ขั้นตอนปฏิบัติ รวมถึงข้อกฎหมายที่พึงปฏิบัติ
- กำหนดโซนพื้นที่ หลักสูตร และรูปแบบที่เหมาะสมต่อการธุดงค์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
- หนุนเสริมกิจกรรมพระสงฆ์ช่วยงานป่าไม้อย่างจริงจัง และมีรูปธรรมที่ชัดเจน
ชมคลิป