ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพาราควอต

ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพาราควอต

สังคมอุตสาหกรรมการเกษตรไทยเน้นการผลิตเพื่อการค้าขายเสียส่วนใหญ่ ในเรื่องของการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และองค์ความรู้มาช่วยทดแทนแรงงานเกษตรกรที่ลดน้อยลงก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมากเช่นเดียวกับหนึ่งในปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกรทั่วโลกก็คือสารกำจัดวัชพืชที่ทำหน้าที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอกมีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้วัชพืชเหี่ยวและตายไปกลไกการทำงานของสารตัวนี้กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้นด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างดีส่งผลให้มีรายได้เพิ่มสามารถลดแรงงานลงได้

ในปัจจุบันเกษตรกรไทยยังคงนิยมใช้เครื่องฉีดพ่นสารเคมีแบบสะพายหลัง โดยไม่ระวังหรือป้องกันตัวเองมากนัก จึงมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสพาราควอตระหว่างการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมีอันตรายตัวนี้เท่านั้น เพราะพาราควอตยังส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภค สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

 

พาราควอตนำมาสู่โรคอันตราย

เดิมทีฝ่ายสนับสนุนคิดว่าพาราควอตไม่น่าจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ เพราะลักษณะโมเลกุลมีประจุตามหลักการเภสัชวิทยาพิษวิทยา โมเลกุลที่มีประจุไม่สามารถผ่านผนังเซลล์ของสมองได้ ดังนั้นพาราควอตไม่น่าจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ แต่จากรายงานการวิจัยเมื่อปี 2017 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอตทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 เลยทีเดียว

อีกทั้งการใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกด้วยโดยงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึง 17-20% โดยจากการประเมินของนักวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตรมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย

 

ผลิตผลของเกษตรกรมีปริมาณสารพิษตกค้างจากพาราควอต

จากการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้จากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบว่า ผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และผลไม้ 33% ตามลำดับ โดยในผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง

และทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายเรื่องนี้เชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้ชัดเจนว่า การสะสมของพาราควอตในผักผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น

 

สารพิษจากพาราควอตปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ

สถานบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่าจากตัวอย่างน้ำผิวดินพบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินพบพาราควอต 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง  สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆได้

 

สารพิษจากพาราควอตตกค้างในห่วงโซ่อาหาร

เมื่อพาราควอตปนเปื้อนสู่ดินและน้ำ แน่นอนว่าต้องตกค้างในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศนั้นด้วย สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นโรคเนื้อเน่ากับการใช้พาราควอตและการตกค้างในสิ่งแวดล้อมของ จ.หนองบัวลำภู และปัจจุบันพบผู้ป่วยในอีกหลายจังหวัด อีกทั้งงานวิจัยของหลายหน่วยงานพบการปนเปื้อนในดินพื้นที่เกษตรกรรม ดินตะกอนและน้ำในแหล่งน้ำ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ผักผลไม้ รวมถึงตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ใช้เป็นอาหาร เช่น กบ หอย ปู ปลา โดยในหลายตัวอย่างตกค้างปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐาน

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราควรสนับสนุนการยกเลิกใช้พาราควอต  สารพิษอันตรายร้ายแรงที่มากกว่าครึ่งโลกประกาศยกเลิกการใช้แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าคิดแค่การสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ เราควรใส่ใจต่อการสูญเสียของทรัพยากรและระบบนิเวศน์ด้วย

 


อ้างอิง
http://www.thaipan.org/sites/default/files/file/pesticide_doc35.pdf
https://www.thairath.co.th/content/1080234
http://www.thaipan.org/node/875
บทความ/ภาพประกอบ ณัฐสุมญชุ์ โภชะ นักศึกษาฝึกงาน