เมื่อโลกวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆความเจริญกำลังเคลื่อนตัว รุกคืบเข้าหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แม่น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า และผู้คนที่อาศัยรอบผืนป่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธรรมชาติถูกกลืนกิน บุกรุก โดนทำลาย ไปแล้วจำนวนมาก สมหมาย ทรัพย์รังสิกุล แกนนำกลุ่มต้นทะเล บ้านหม่องกั๊วะ อ.อุ้มผาง จังหวัดตาก กล่าวในวงเสวนาเรื่อง “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” ว่า “หากในอนาคตความเจรฺิญเข้ามา เราไม่กลัว แต่จะต้องทำให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราด้วย ต้องเป็นความเจริญที่เรามีความสุข และยังรักษาน้ำ ป่าไม้ให้ยังคงอุดมสมบูรณ์ไว้ได้”
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช จัดงานประชุมเพื่อมอบหมายการปฏิบัติงานและลงนามบันทึกข้อตกลง การมอบหมายให้ปฏิบัติงานในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ โดยกรมอุทยานฯทำโครงการเพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ยังมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ และขอบเขตพื้นที่ป่าที่ถูกขยายพื้นที่ทำกิน โดยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำฐานข้อมูล เพื่อใช้บริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป้องกันการขยายที่ทำกินในพื้นที่ป่าเพิ่มเติม ภายในงานมีเสวนาชวนตัวแทนภาครัฐ ประชาชน องค์กรที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพูดคุยเพื่อร่วมหาแนวทางการบริหารจัดการป่าต่อไปในอนาคต
หัวใจงานรักษาป่าและกุญแจสองดอกระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน
สมหมาย ทรัพย์รังสิกุล กล่าวว่า กุญแจในความหมายนี้คือกฏหมาย เมื่อก่อนมีเพียงดอกเดียวซึ่งอยู่กับเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถคุยกับเจ้าหน้าเรื่องกฏหมายได้ แต่ปัจจุบันเรามีกุญแจสองดอกแล้วซึ่งอีกดอกอยู่กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่สามารถคุยกันได้มากขึ้น ลุงสมหมายกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านไม่ได้เห็นด้วยกับกฏหมายทุกข้อ หากข้อไหนมีโทษเเรงเกินไป จะลดโทษลงหน่อยได้ไหม ซึ่งกรณีแบบนี้เราต้องคุยกัน “หากกฏหมายไม่เข้าใจเรา เราก็ไม่รู้จะไปทางไหน กฎหมายต้องเข้าใจวิถีชีวิต กฏกติกาของเรา หันหน้ามาคุยกันก่อน เดินไปด้วยกัน และรับผิดชอบร่วมกัน”
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ภาพการทำงานของงานรักษาป่าว่า “เราแก้ปัญหาการจัดการป่าที่เกิดขึ้นมานาน และวันนี้เรากำลังคุยกันเพื่อไปสู่อนาคต ซึ่งเราต้องมีทัศนคติเชิงบวกต่อกัน” การออกคำสั่งต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ทำให้จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เรื่องการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่าโดยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ทั้งเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน และองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยการวางกติการ่วมกัน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯสามารถดูแลรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ตามเป้าหมาย ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน และช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ นำไปสู่การจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงความห่วงใยจากทางด้านของกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติโดยมีข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยาน ซึ่งข้อเสนอมาจากการร้องเรียนต่างๆของปัญหาที่ดิน ป่าไม้โดย ข้อแรกขอให้คิดถึงชุมชน ซึ่งการใช้ประโยชน์ร่วมของชุมชนเป็นจารีตประเพณีสืบทอดกันมานานแต่การให้สิทธิส่วนบุคคล เช่น โฉนดที่ดิน เอกสารสิทธิมันพึ่งเกิดขึ้นที่หลัง เเล้วเป็นอันตรายต่อการรักษาป่ามากกว่า ข้อสองกระบวนการมีส่วนร่วมขอให้ชัดเจนเพราะในร่างพ.ร.บ.อุทยานมีเรื่องของการทำเเผน การใช้ประโยชน์ หรือแผนการจัดการในอุทยานซึ่งควรจะมีส่วนร่วมที่ชัดเจนของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อสามเรื่องวิถีชีวิตประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นชาวเล ที่เขาใช้เครื่องเมือประมงเเบบพื้นบ้านในการจับปลาเขตอุทยานทางทะเล หรือพี่น้องปกาญอ สิ่งเหล่านี้ต้องคำนึงด้วย
เดโช ไชยทัพ รองเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงสิทธิชุมชน ด้านหนึ่งมันเป็นสิทธิในการเรียนรู้เเละปรับปรุงในการอยู่อย่างสร้างสรรค์ อีกด้านหนึ่งเป็นสิทธิที่เขาพึงมีได้ตามกฏหมาย สองด้านมันผสมผสานกันระหว่างการให้สิทธิชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับเราให้โอกาสและให้สิทธิเขามาน้อยแค่ไหน เมื่อก่อนชุมชนไม่มีกติกาการบุกรุกป่า เดี่ยวนี้เริ่มมีกฏกติกาด้านบวกเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เดโชมองว่า “ถ้ากฏหมายเราก้าวหน้า กลไกลในการนำกฏหมายไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ความเข้มเเข็งของชุมชนที่จะบำเพ็ญพลังร่วมจัดการพื้นที่ป่าที่สร้างสรรค์มันจะเกิดขึ้น”
มองภาพอนาคตกับเส้นทางของงานรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วม
ก่อนจะมองไปสู่อนาคต เตือนใจ ดีเทศน์ ย้ำเรื่องความสัมพันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชนท้องถิ่นให้มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน และอย่าลืมเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกัน และเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมว่าป่าเป็นของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดูแลรักษาป่า แต่เปลี่ยนเป็นให้ชุมชนเข้ามามีส่วน
สมหมาย กล่าวทิ้งทายว่า “ถึงแม้เราไม่เก่งกฏหมายแต่เราเก่งที่จะใช้ชีวิตอยู่กับป่า” มันเป็นวิถีชีวิตของเราที่จะอยู่กับป่า ปู่ย่าตายายสอนเราว่าน้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำก็ไม่มีสิ่งมีชีวิต เราถูกสอนให้รักษ์น้ำ รักษาป่า เราจะต้องปลูกฝังลูกหลานให้เข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับป่า รู้ว่าป่าน้ำมีความสำคัญอย่างไร รวมถึงสายใยที่เรามองไม่เห็นทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ผู้ใหญ่อย่างเราต้องให้คำแนะนำ เพราะลูกหลานของเราคืออนาคตที่จะเป็นใช้ประโยชน์จากป่า และปกป้องดูแลป่า ส่วนในแง่ความเจริญที่จะเข้ามาลุงสมหมายกล่าวว่า เราไม่กลัวความเจรฺิญที่เข้ามาเรายอมรับ แต่ต้องทำให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ เราทำเพื่อความจำเป็น “เงินบัญชาเราไม่ได้ เราต้องบัญชาเงิน ความเจริญก็เช่นกัน”
บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร