ภาพนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เนืองเเน่นอยู่บนชายหาด เดินเบียดเสียดชมความงามบนเกาะที่สวยติดอันดับโลก เรือเร็วหลายสิบลำ จอดเรียงรายเหนือผิวน้ำหน้าหาดของอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ลึกลงไปไม่กี่สิบเมตร ใต้ผืนน้ำ มีปะการังหักพัง สภาพเสื่อมโทรม สัตว์น้ำไร้ที่อยู่อาศัย นี่คือคำตอบของสมการการใช้ประโยชน์ที่มากกว่าการรักษา
ประเทศไทยติดกับดักการท่องเที่ยวมานานแล้ว นี่คือภัยคุกคามทางทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงสถานการณ์ทางทะเลที่มีผลกระทบมาจากการท่องเที่ยวครั้นจะปิดการท่องเที่ยวไปก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศจำนวนมหาศาลนี่คือความยากของงานอนุรักษ์ทางทะเล
“ผมมั่นใจ รัฐบาลไหน ก็ไม่มีทางกล้าตัดงบประมาณหนึ่งล้านล้านบาทต่อปีแน่นอน” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว
เห็นได้ชัดว่า จากเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่ม ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศไทย ที่สูญเสียไปกว่า
สองหมื่นหกพันล้านบาท นักท่องเที่ยวหายไปกว่าสามแสนคน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังเผยข้อมูล สถิติจำนวนนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ในระหว่างปี 2558-2560 ดังนี้
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวไทยหลายเท่า
ผศ.ดร.ธรณ์ ชวนตั้งคำถามต่อนักอนุรักษ์ว่า “ตกลงแล้วเราอนุรักษ์อุทยานทางทะเลให้ใคร เพื่ออะไร หากคอนเซ็ปต์ของอุทยานที่ต้องการรักษาให้เป็นมรดกของชาติ เก็บไว้เป็นสมบัติของลูกหลาน ความหมายสมบัติของลูกหลานคืออะไร”
“กรมอุทยานฯสั่งปิด ‘อ่าวมาหยา‘ ไม่มีกำหนด”
อ่าวมาหยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ The World Economic Forum เขียนไว้ว่า Thailand bay made famous by The Beach closed indefinitely
การปิดอ่าวมาหยา คือ การปิดสัญลักษณ์การท่องเที่ยว เป็นการส่งสัญญาณออกไปทั่วโลกว่า นี่คือครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เคยยินยอมพร้อมใจและศิโรราบต่อการท่องเที่ยวมาตลอด ตอนนี้ประเทศไทยเลือกใช้วิธีการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยการปิดเกาะ ห้ามเรือเข้า–ออกอีกแล้ว
แนวคิดปิดเกาะ เริ่มที่แรกคือเกาะยูง อยู่ในหมู่เกาะพีพี ขยับไปปิดที่เกาะตาชัย และอ่าวมาหยา ตามลำดับ ในช่วงแรก สั่งปิดอ่าวมาหยาเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย. – ก.ย. 2561 เพื่อให้ธรรมชาติทางทะเลฟื้นตัว แต่มีข้อสังเกตว่า 4 เดือนธรรมชาติจะฟื้นตัวทันไม่ภายหลังจึงมีคำสั่งสั่งปิดอ่าวมาหยาโดยไม่มีกำหนด
ปิดแล้วปลูก (ปะการัง) ทันที เพื่อให้ปะการังฟื้นตัวเร็ว ผศ.ดร.ธรณ์ เชื่อมั่น “ว่าปะการังที่อ่าวมาหยาจะฟื้นตัวได้เร็ว เพราะปะการังประเทศไทยเป็นปะการังที่อึด ทนทาน ซึ่งเป็นดั่งที่คาดไว้ ปะการังเริ่มโตขึ้น ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว และไม่นานนี่พบลูกปลาฉลาม เข้ามาวาดน้ำเล่นหน้าหาดกว่า 10 ตัว” ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดี
“เครื่องมืออันดับแรกของการอนุรักษ์คืออะไรก็ได้ ที่จุดประเด็น ก่อเกิดกระแส และเมื่อคนสนใจ งานข้อมูลอื่นก็จะเป็นประโยชน์ตามมา” ประโยคหนึ่งในช่วงของการบรรยายโดย ผศ.ดร.ธรณ์
การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทางทะเลกรณีปิดอ่าวมาหยาเป็นนวัตกรรมการอนุรักษ์รูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนทำงานอนุรักษ์อาจต้องกลับไปทบทวนเครื่องมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมให้ก่อเกิดพลังและเปลี่ยนแปลงได้จริง
“งานอนุรักษ์ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในมือของนักวิชาการ นักวิจัยเพราะอยู่ในมือของเราทุกคน ไม่มีทุกคนกระแสจะไม่เกิด” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย