เมื่อผู้คนวิ่งกรูเขาหาธรรมชาติ เราปฏิเสธ ไม่ได้เสียแล้วว่า ที่ไหนมีธรรมชาติที่นั้นต้องมีเรา (คน) เพียงได้เสพสมครอบครองแล้วทิ้งความพินาศไว้เบื้องหลังปล่อยให้ธรรมชาติสัตว์ป่าดูแลตัวเองหากไม่รอดก็สูญพันธุ์
เขาพะเนินทุ่ง อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ด้วยความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,207 เมตรพะเนินทุ่งมีทะเลหมอกหนาตาปกคลุมทั่วหุบเขาตลอดทั้งปีเบื้องล่างคือผืนป่าต้นไม้อุดมสมบูรณ์
การเดินทางเพื่อไปสัมผัสดินแดนในฝัน “เขาพะเนินทุ่ง” หาใช่เรื่องยากเมื่อมีถนนตัดผ่าน เพียงแค่ใช่รถกระบะโฟล์วิวขับลอดอุโมงค์ต้นไม้ สองข้างทางมีธรรมชาติสวยงาม บางครั้งอาจพบเห็นสัตว์ป่า เช่นเสือดาว ออกมาเดินเล่น ส่งยิ้ม ทักทาย และคุณอาจพบเห็น ร่างของสัตว์ป่าเหล่านี้ นอนนาบกับพื้นถนน ที่พึ่งโดนรถคันก่อนหน้าคุณ ขับมาด้วยความเร็วชนจนตาย เราอาจต้องแลกกับชีวิตของสัตว์ป่าเพื่อไปชมความงามด้านบน เขาพะเนินทุ่งอาจเป็นดินแดนในฝันของคุณ แต่นี่คือความจริง ของธรรมชาติ เพราะที่นี้คือบ้านของสัตว์ป่า
บ้านกร่างเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักแรม แห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากบ้านกร่างมีถนนเส้นเล็กๆ เส้นหนึ่ง ที่ใช้เดินทางไปยังเขาพะเนินทุ่ง เป็นถนนเลนเดียว ความกว้างราว 2 เมตรปัจจุบันเขาพะเนินทุ่งกลายเป็นที่รู้จักมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปชมความงามมากขึ้นเรื่อยๆ
โครงการปรับปรุงถนนเส้นเล็กๆ ผลกระทบสะเทือนป่า
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช ได้ประกาศผ่านทาง (Facebook) เรื่อง ขอปิดการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง–พะเนินทุ่ง จำนวน 2 โครงการ มีระยะทางรวม 21.90 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1. โครงการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ความยาวรวม 90 เมตร
2. โครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง โดยดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 18.50 กิโลเมตรพร้อมรางระบายน้ำ
เมื่อประกาศถูกเผยแพร่ต่อสื่อสาธารณะ มีกระแสไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และมีผู้ออกมาคัดค้านการก่อสร้างปรับปรุงถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง
19 ตุลาคม 2561 นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ผ่าน Facebook ส่วนตัว โดยคัดค้านการปรับปรุงเส้นทางขึ้น “เขาพะเนินทุ่ง” ให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสายซึ่งให้เหตุผลว่า
เส้นทางตัดผ่านเปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของสัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ยังเห็นด้วยต่อการซ่อมแซมเส้นทางนี้ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน โดยปรับปรุงเฉพาะจุด ที่มีความเสี่ยง ชำรุดซ้ำซาก และอยากให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อโครงการนี่ด้วย
24 ตุลาคม 2561 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นจดหมาย ที่ สนท. 037/2561 เรื่อง ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง–พะเนินทุ่งตลอดเส้น ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5 พฤศจิกายน 2561 ผู้แทนเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ค้านถนนคอนกรีตพะเนินทุ่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เสนอให้ยุติโครงการ ห่วงโครงการส่งผลต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลก และสัตว์ป่าหายาก
ถอย!!! เพื่อทบทวนผลกระทบ
12 พฤศจิกายน 2561 ประชุมหารือการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านกร่าง – พะเนินทุ่ง ณ ห้องประชุมศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากการประชุม 3 ชม. นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เบื้องต้นสำรวจจุดที่เสี่ยงพบมี 26 จุด ที่มีโค้ง มีความชัน และอันตราย ซึ่งอาจต้องไปสำรวจเพิ่ม “ทางเลือกคือจะไม่ปรับปรุงถนนเป็นคอนกรีตทั้งสาย แต่จะซ่อมบางจุด ส่วนที่ผ่านลำห้วยลำธาร จะไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างอะไร นอกจากนี้หากระเบียบไม่เอื้อกับเรื่องนี้ก็จะไม่ทำ”
ส่วนทางด้าน ผจก.บริษัท โกศลสถาปัตย์ ผู้รับเหมาโครงการ ยินดีปรับเปลี่ยนแบบ ไม่ฟ้องร้อง พร้อมทำตามที่ราชการกำหนด
หลังจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) ในครั้งถัดไป โดยเชิญผู้เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ชี้จุดที่ควรปรับปรุงซ่อมแซมหรือควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความสมดุลของธรรมชาติ
ข้อเสนอแนะจากเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณาโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง–พะเนินทุ่ง สำหรับการประชุมคณะกรรมที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) ในครั้งถัดไป โดยเสนอแนะให้ หลีกเลี่ยงการทำคอนกรีตเสริมเหล็กช่วงเส้นทาง กม.ที่ 15-18 ซึ่งเป็นทางราบและมีลำธาร และช่วงเส้นทาง กม.ที่ 24-28 ที่เป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกะลิงเขียดหางหนาม ที่พบได้แห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงเป็นพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า และบริเวณลำธารที่ 1, 2 และ 3 ไม่ควรทำฝายท่อลอด เพราะทางกายภาพมีโอกาสเกิดการปิดกั้นทางน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำได้สูง เสนอให้มีการทำสะพานข้ามลำธารในจุดดังกล่าวแทน สำหรับช่วงเส้นทาง กม. ที่ 19-23 เห็นควรให้มีการปรับปรุงเนื่องจากมีสภาพเส้นทางที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง
การพัฒนามาพร้อมการเปลี่ยนแปลงแต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียและยังมีผลกระทบตามมาการหันกลับมาทบทวนฟังเสียงจากประชาชนและผู้เห็นต่างจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ