นกชนหิน (Rhinoplax vigil) ถือเป็นสัตว์โบราณที่เชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ถึง 45 ล้านปี จัดเป็นต้นตระกูลของเหล่าบรรดานกเงือกแห่งภาคพื้นทวีปเอเชีย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ และกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศไทย บางส่วนของพม่า เรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ในเมืองไทยนกชนหินถือเป็นนกประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ตามป่าดิบฝนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยจากการสำรวจในปี 2562 พบประชากรในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 20 ตัว ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งเหตุผลที่จำนวนของพวกมันเหลือน้อยลงเต็มทีมาจากการคุกคามของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
ด้วยความสำคัญของนกชนหินที่มีต่อระบบนิเวศในฐานะนักปลูกป่าที่คอยกระจายพันธุ์ไม้ พวกมันจึงมีสถานะอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึง IUCN Red List ได้จัดให้นกชนหินอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered – CR)
อย่างไรก็ตาม นกชนหินก็ยังเป็นที่ ต้องการของท้องตลาดค้าสัตว์ป่า ด้วยลักษณะที่แปลกตาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัน ที่มีจุดเด่นอยู่ตรงโหนกที่ตัน ต่างจากนกเงือกชนิดอื่น และนั่นเองทำให้ถูกมนุษย์ตีราคาอวัยวะชิ้นนี้ไม่ต่างจากงาช้าง โดยให้ชื่อว่า ‘งาช้างสีเลือด’ กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้มีความเชื่อผิด ๆ นิยมบูชางาเป็นวัตถุมงคลแห่งความมั่งคั่ง
ข้อมูลจากองค์กร TRAFFIC ที่ได้ทำการสำรวจเพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่น ๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก ทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย พบการโพสต์ขายนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วน 83 เปอร์เซ็นต์ จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด ซึ่งถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562 นอกจากนี้ ภัยจากคุกคามที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยที่อันเหมาะสม และอาหารของนกชนหินให้หมดไป
หากไม่ทำอะไรสักอย่าง นกชนหินอาจจะสูญพันธุ์หายไปจากป่าเมืองไทยได้ในเร็ววัน นี่คือความอัดอั้นตันใจของใครหลาย ๆ ที่สุดท้ายก็ได้ระเบิดออกมา ด้วยเจตนามุ่งหวังอยากเห็นอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ความในใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์การล่านกชนหินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ว่า
“ขณะที่พิมพ์ข้อความอยู่นี้ ผมนอนอยู่ในเปลบนเขาตะโหนด อ.รือเสาะ ใจสับสนและกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาว่า ตอนนี้มีพรานจากรือเสาะและยะลากำลังขึ้นเขามาล่าสัตว์ และสัตว์ที่เขามาล่าคือหัวนกชนหิน มีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนราเขาให้ราคาถึงหัวละหมื่น ชาวบ้านมาบอกว่าสองวันก่อนเขาเจอพรานมาซุ่มยิง ‘นกเงือก’ ที่ต้นไทรสุก
“พบยิงนกชนหินถึง 4 ตัว ใจหายและรู้สึกโกรธจะทำอย่างไรกันดี? สิ่งที่เราช่วยกันดูแลรักษากำลังถูกทำลาย และผมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพียงแค่บันทึกบอกกล่าวและได้ระบายอะไรบ้าง ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเขาก็กลัวเพราะพวกมันมีปืน ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า ผมเคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิงนกเงือก เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก”
วันต่อมา นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความเชิงรณรงค์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“นกชนหิน ต้องการการปกป้องจากพวกเราโดยด่วน นกชนหินเป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณ มีลักษณะโดดเด่นต่างกับนกเงือกอื่น คือมีโหนกตันคล้ายงาช้าง ซึ่งกลายเป็นความต้องการของตลาดนักสะสม นกชนหินจึงมีราคาค่าหัว ถูกไล่ล่า จนใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทยเหลือนกชนหิน ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่เพียง ประปรายในป่าดิบภาคใต้
“ที่ผ่านมาใบ order ยังมาไม่ถึงเมืองไทยเพราะการล่าที่อินโดนีเซีย ทำได้ง่ายกว่า แต่ปัจจุบันนกชนหินแทบจะหมดไปจากบอร์เนียว และพื้นที่อื่น ๆ ทีเคยพบชุกชุม ความต้องการทางตลาดจึงพุ่งเป้า มาที่นกชนหินบ้านเรา ขณะนี้เริ่มมีการขบวนการล่านกชนหินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บูโดสุไหงปาดี นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด อาจไม่สามารถ ป้องปรามภัยคุกคามนี้ได้
“ผมขอพวกเราช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้มีการระดมกำลัง ทรัพยากรในการเข้าปราบปรามขบวนการล่า ค้า นกชนหินอย่างเด็ดขาด ทั้งวงจร ทั้งในพื้นที่จนถึงเครือข่ายออนไลน์ใต้ดินผมใคร่ขอความกรุณาจากผู้บริหารระดับสูง กระทรวงทรัพย์ ใส่ใจวาระนี้อย่างเร่งด่วน ก่อนเราสูญเสีย มรดกธรรมชาติอันมีค่านี้ของชาติและของโลก ไปตลอดกาล”
ซึ่งภายหลังจากที่ทั้งคู่ออกมาแสดงความเห็นเชิงห่วงใยต่อสถานการณ์การคุกคามนกชนหิน ได้ส่งผลให้เครือข่ายอนุรักษ์ และภาคประชาชน ร่วมกันส่องไฟโฟกัสกับประเด็นดังกล่าว จนเกิดการสร้างแคมเปญ ‘ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย’ โดยให้มีการร่วมลงชื่อรณรงค์ผ่านทางเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น
ให้หลังต่อมา ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เป็นนายเรือโล้สำเภาแห่งความหวัง ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมแนบรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อผ่าน change.org 26,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้มีการเร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ นกชนหิน เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย และมีแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกชนหินในระยะยาว
ต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม 2563 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้ยื่นเอกสารประกอบในการเสนอนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานฯ กำลังรวบรวมข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของนกชนหิน เข้าเสนอในที่ประชุม คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20
หลังจากนี้คณะกรรมการสงวนฯ เตรียมยื่นกฤษฎีกา กำหนดให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งอาจใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในคณะกรรมการสงวนฯ ระบุว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนทางกฎหมาย นกชนหินจะถูกประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนอย่างแน่นอน ซึ่งทางมูลนิธิสืบฯ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จะยังคงติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าหลังการประกาศราคาของหัวนกชนหินอาจมีราคาแพงขึ้นและจูงใจให้นักสะสมของผิดกฎหมายอยากมีไว้ในครอบครอง
ภาพเปิดเรื่อง @arinaturephotography
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 และได้รับปรับปรุงข้อมูลให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2564
ผู้เขียน
นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ