ทุนไทยไปทวาย จะทำร้าย หรือ พัฒนา ?

ทุนไทยไปทวาย จะทำร้าย หรือ พัฒนา ?

“งานวันนี้อย่างน้อยควรปลุกมโนธรรมสำนึกให้รู้สึกว่าคนทวายจะถูกเอาเปรียบ เมื่อการพัฒนาที่ทวาย จะเลวร้ายกว่ามาบตาพุดเป็นร้อยเท่าพันเท่า”

ปาฐกถา “ทุนไทยไปทวาย จะทำร้าย หรือ พัฒนา ?” โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ สิทธิพร เนตรนิยม

29 กันยายน 2561 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสมสิกขาลัย ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews) ฯลฯ จัดกิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ ทุนไทยไปทวาย จะทำร้าย หรือพัฒนา ? ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

PHOTO : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวเปิดการเสวนาและปาฐกถานำ ความตอนหนึ่งว่า “สำหรับคนไทยแล้ว ทวาย ตะนาวศรี มะริด เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม กระทั่งเราเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่าเมื่อปี 2310 หลังจากนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชสำเร็จ ปกครองบ้านเมืองเป็นปึกเป็นแผ่น สิ่งเดียวที่เราไม่ได้คืนมาคือทวาย ตะนาวศรี มะริด รัชกาลที่ 1 เสด็จไปถึงสามครั้ง ขึ้นช้างลงม้าไป ตีไม่สำเร็จเพียงสามสี่เมืองนี้เท่านั้นเอง

“ผมเองมีโอกาสไปทวายครั้งเดียว แต่รู้สึกชื่นชมที่ชาวทวายมีความเป็นตัวของตัวเอง รักษาอิสระอธิปไตยในแวดวงอันจำกัดของพม่า อย่าลืมนะครับพม่าเอาเปรียบชนกลุ่มน้อยมากกว่าไทย ไม่ใช่ว่าไทยดีกว่าพม่า แต่พม่ามีคนกลุ่มน้อยเต็มไปหมด นอกจากทวายแล้ว ยังมีมอญ คะฉิ่น กะเหรี่ยง รวมคนกลุ่มน้อยทั้งหมดแล้ว พม่าเป็นคนจำนวนน้อยกว่ากลุ่มชนเผ่าอื่น ฉะนั้นพม่าจึงหาทางกดขี่เผ่าอื่นเป็นอันมาก

“สำหรับทวายนั้นเป็นคนกลุ่มน้อย นอกจากจะถูกพม่าที่เป็นเผด็จการกดขี่ข่มแหงแล้ว แต่ส่วนที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ภาวะเศรษฐกิจสมัยใหม่ บรรษัทข้ามชาติสมัยใหม่ที่จะร่วมกับเผด็จการกดขี่คนกลุ่มน้อย ในกรณีของทวายเห็นชัด

“งานวันนี้อย่างน้อยควรปลุกมโนธรรมสำนึกให้รู้สึกว่าคนทวายจะถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยจะถูกทำลายวัฒนธรรมพื้นบ้าน เขาจะถูกทำลายวิถีชีวิต พวกเราคนไทยเองคงจะทราบแล้วว่าชุมชนมาบตาพุด ระยองนั้นก็เป็นชุมชนอุตสาหกรรมที่ว่าจะนำความร่ำรวยมาให้เมืองไทย แต่ชุมชนมาบตาพุดนั้นให้ประโยชน์กับคนรวย คนในละแวกนั้นถูกทำลาย มลพิษ ทะเลเสียหาย กุ้งปลาถูกทำลาย ผู้คนเป็นโรคร้อยแปดพันประการ คนไทยที่ระยองไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แม้กระนั้นทุนนิยมก็ทำลายได้ ยิ่งทวายที่เป็นคนกลุ่มน้อยด้วยแล้ว รัฐบาลพม่าไม่ใยดี และการพัฒนาที่ทวายนั้นจะเลวร้ายกว่าที่มาบตาพุดเป็นร้อยเท่าพันเท่า ผมจึงดีใจว่าท่านทั้งหลาย พวกเราชาวไทยได้เห็นใจชาวทวายซึ่งเป็นพี่น้องของเรา แม้ชุมชนที่บ้านทวายจะกลายเป็นไทยไปแล้ว แต่การเป็นชนชาตินั้นไม่สำคัญ สำคัญนั้นคือมนุษยชาติ ถ้าพวกเราสนใจชาวทวาย ร่วมมือกัน ปลุกมโนธรรมสำนึกให้เห็นว่าการพัฒนาแบบใหม่นั้นไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่นำมาสู่หายนะ การประชุมกันในวันนี้อาจจะไม่มีผลมากนัก แต่อย่างน้อยเป็นการเริ่มจุดมโนธรรมสำนึกให้คนเห็นว่า การพัฒนาที่อ้างว่าให้คุณวิเศษนั้น ให้คุณวิเศษกับนายทุน ให้คุณวิเศษกับบรรษัทข้ามชาติ สิ่งที่จะตามมาจากการพัฒนา นอกจากทำร้ายธรรมชาติแล้ว ยังทำลายชนพื้นเมือง ทำลายสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนความเห็นกันจะเป็นการจุดมโนธรรมสำนึก เปลี่ยนหายนะให้เป็นวัฒนะ เปลี่ยนความเลวร้ายให้เป็นสิ่งที่เป็นความดีงาม หวังว่างานของท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จเพื่อการพัฒนาที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับชาวทวาย ชุมชนพื้นเมือง ตลอดจนธรรมชาติ”

 

ตลาดบ้านตะบอเส็กแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเล / PHOTO Sayan Chuenudomsavad

 

ทางด้าน สิทธิพร เนตรนิยม นักปฏิบัติการวิจัย ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ถ่านไฟเก่า ถึงเรื่องเล่าร่วมสมัย ไทย-ทวาย” ความส่วนหนึ่งว่า “ดินแดนทวายเป็นรอยเชื่อมระหว่างตะวันตกไปตะวันออก จากตะวันออกกลางมาทางอินเดีย มาถึงทวาย แล้วเดินทางทางบกเข้าเขมร ไปออกเมืองจีน ทวายเป็นเมืองท่าการค้าที่เนื้อหอมมาก อาจจะเหมือนสาวๆ ที่โดนพม่าลากไปไทยลากมาอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นเส้นทางการค้าที่กันความรุ่งเรืองของอาณาจักรข้างเคียงได้ กันไม่ให้อาณาจักรอยุธยามีทางออกทะเล คุณซื้อของทางตะวันออกจากจีนไปแล้วกัน ส่วนทางตะวันตกมีปืนไฟ เครื่องเหล็กต่างๆ ที่ทำให้อาณาจักรมีอำนาจก็ปิดทางซะเลย

“หลังจากเกิดการประกาศเขตท่าเรือน้ำลึกก็มีการเข้ามาของแหล่งทุนข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะไทย เพื่อนบ้านใกล้ชิดก็มา ประมาณ ค.ศ.2012 อินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟูในพม่า และเริ่มมีอิสระ เริ่มมีพี่น้องทวายถ่ายรูปและพูดถึงเหมืองเฮงดา บอกว่าทำให้สภาพภูมิประเทศเสียหาย ลำคลองตื้นเขิน เกิดมลพิษ ปรากฏความเสียหายที่เด่นชัด เริ่มมีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว

“พอถูกรุกล้ำจากทุนต่างชาติ ชาวทวายเริ่มต่อสู้ อันที่จริงการต่อสู้มีมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นชาวพม่าที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มชนต่างๆ มีกะเหรี่ยง มอญ ล้อมรอบ อยู่ห่างจากความเห็นใจของส่วนกลาง และมีลักษณะเป็นชาวพื้นเมือง เมื่อตอนที่เริ่มมีการเลือกตั้งใหม่ๆ ยังมีการตั้งพรรคทวาย รณรงค์ให้ทวายเป็นชนเผ่าอีกชนเผ่าหนึ่ง ให้ตั้งเป็นรัฐทวายไปเลย มีคำกล่าวว่าเราต้องการสืบค้นอัตลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่เดิมของคนทวายและบ้านเมืองในยุคก่อน แม้ว่าวัฒนธรรมอาจมีการผสมผสานกัน แต่ทวายคือทวาย ทวายมีวัฒนธรรม ภาษา และอัตลักษณ์ตนเอง

 

PHOTO : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

“ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ชาวทวายมีการอาศัยความรู้จากการค้นคว้าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้และหวงแหนคุณค่าในอัตลักษณ์และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นให้พ้นจากการบุกรุกของอำนาจทุนจากภายนอก

“การรุกรานจากภายนอกไม่ใช่แค่ทุนข้ามชาติ แต่ยังต้องต่อสู้กับชาติเดียวกันในประเทศเดียวกัน เขาบอกว่าเมื่ออังกฤษได้รุกรานเข้ามายังทวาย มรดกทางวัฒนธรรมทั้งหลายเสียหายไปโดยมาก มีผู้รักในชาติพันธุ์ทวายรักษาวัฒนธรรมเหล่านั้นหลงเหลือไว้ให้ศึกษาเพียงเล็กน้อยในพิพิธภัณฑ์ เป็นอนุสรณ์ของการต่อสู้ด้วยการใช้ศิลปวัฒนธรรม

“ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยทางศิลปวัฒนธรรมก็ต้องพูดเรื่องการใช้อำนาจละมุนในการต่อสู้กับความรุนแรงจากภายนอก เป็นอย่างหนึ่งที่จะสนับสนุนให้พี่น้องทวายมีแรงต่อสู้กับสิ่งเร้าภายนอก”

ทุนไทยไปทวาย จะทำร้ายหรือพัฒนา ยังคงเป็นปัญหาที่น่าขบคิดและถกเถียง เสวนาร่วมกันต่อไป

 


ภาพเปิดเรื่อง สาวน้อยกำลังเทินปลาที่ได้มาจากเรือประมงใหญ่ – ถ่ายภาพโดย Amnat Ketchuen