“ทวาย” ยังไม่สายที่จะต้องมนต์

“ทวาย” ยังไม่สายที่จะต้องมนต์

ฉันไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อเรียกร้องให้คุณมาเข้าใจ แต่คุณจำเป็นต้องรู้สึก ต่อคุณค่าความงามที่แท้จริงของทวายด้วยตัวของคุณเอง

 

…ก่อนเราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่แปรสภาพเมืองทวายให้เป็นเมืองท่าและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ราวกับวันนี้ยังคงเป็นวันแรกที่เราต้องมนต์สเน่ห์แห่งทวาย จากการร่ายมนต์ของผู้ร่วมมือทุกๆ ฝ่ายด้วยกัน ทั้งที่ฉันละประสาทสัมผัสจากพื้นที่ตรงนั้นมาได้สองสามวันเศษแล้ว แปรเปลี่ยนความประสงค์เป็นการเอื้อมมือไปสัมผัสทวายอย่างแท้จริง ผ่านกลิ่นหอมแป้งทานาคา ผสมผสานกลิ่นปลาในตลาด รึไม่ก็นึกเล่นซนขอป้าลองปั้นหม้อดินเผาที่ศูนย์ใหญ่ใจกลางเมือง และสัมผัส texture ร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ เมืองพี่เมืองน้องครั้นบรรพกาลของไทย ด้วยดวงตา จมูก สองมือ และกล้องคู่ใจของตัวเอง

ตลาดบ้านตะบอเส็กแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเล – ถ่ายภาพโดย Sayan Chuenudomsavad

 

ทำนองโฟล์คซองคลอเสียงร้องภาษาถิ่น ยังคงก้องติดหูแม้จะผ่านไปครึ่งวันแล้วก็ตาม รอยยิ้ม เสียงหัวเราะปรากฏร่องรอยแห่งกาลเวลาบนสองข้างแก้มที่ประพรมแป้งทานาคา หนุ่มสาวนุ่งซิ่นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเชื้อเชิญทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และชาวทวายด้วยกันเข้ามาร่วมงาน

บรรยากาศในงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย”

 

เมื่อปีที่ผ่านมา โครงการศิลปะชุมชน, สมาคมพัฒนาทวาย, สมาคมวิจัยทวาย, ชุมชนบ้านกาโลนท่า เมืองทวาย ประเทศพม่า, มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และเสมสิกขาลัย ร่วมจัดงานนิทรรศการ “หลงรักทวาย” ขึ้น เพื่อหยิบยกสเน่ห์อันเรียบง่ายของทวายมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการแสดง ภาษา ดนตรี โดยเฉพาะภาพถ่าย และภาพจิตรกรรมบอกเล่าความเป็นทวายได้อย่างลงตัว และชวนให้หลงไหลมนต์สเน่ห์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย

สาวน้อยกำลังเทินปลาที่ได้มาจากเรือประมงใหญ่ – ถ่ายภาพโดย Amnat Ketchuen

 

ชาวทวายผู้มาร่วมงานประสานเป็นเสียงเดียวกันเพื่อตอบพิธีกร(ล่าม)ที่ถามถึงความรู้สึกต่อเมืองทวาย แปลความได้ว่า ‘คิดถึงบ้าน’

แม้ฟังภาษาทวายไม่เข้าใจ แต่รู้สึกได้ถึงความน่ารักของสำเนียงภาษาที่น่าฟัง

ทวายไม่ได้เป็นแค่เมืองเล็กๆ ในแผนที่ที่รอให้นักลงทุนข้ามชาติรุมทึ้งแล้วดัดแปลงโฉมใหม่กลายเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่เชื่อมต่อการค้าจากโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองแห่งชีวิตและสีสัน วิถีชีวิตชาวทวายดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ  หาเช้ากินค่ำ เพาะปลูกพืชผล หาปลา นำมาวางขายบนแผงตลาด และมีหมากเป็นพืชเศรษฐกิจ

หมาก พืชเศรษฐกิจของทวาย – ถ่ายภาพโดย Thanawat Insuwan

 

อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งความงดงามของธรรมชาติโอบกอดด้วยภูเขาและท้องทะเล ซึ่งผสมผสานทั้งชุมชนพุทธ คริสต์ มุสลิม ฮินดู พึ่งมีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างช้านาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และยั่งยืน

เด็กนักเรียนขี่จักรยานผ่านถนนตาลคู่ไปโรงเรียนทุกเช้า – ถ่ายภาพโดย Thanawat Insuwan

 

ความงามอันพิสุทธิ์นี้หวนให้ฉันระลึกถึงทวายโปรเจคที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง…  ดัดแปลงหรือโละทิ้งมนต์สเน่ห์ดั้งเดิมของทวาย ซึ่ง “ทวายโปรเจค” มักปรากฏข้อมูลมิติด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่มิติด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ถูกนำเสนอมากมายนัก

เด็กๆ ณ ชายหาดมองมะกัน ชายหาดยอดนิยมของคนทวาย – ถ่ายภาพโดย Rapeepat Mantanarat

 

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้กระนั้นหรือ เมื่อ ‘มาบตาพุด’ ยังหลงเหลือบทเรียนให้เราได้หวาดผวา ชวนหวั่นกลัวว่าทวายจะกลายเป็น ‘เหยื่อรายที่สอง’ ถัดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ยามเย็นที่หาดมะยินจีซึ่งตั้งอยู่ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ถ่ายภาพโดย Jamon Sonpednarin

การพัฒนาจะเกิดผลดีจำเป็นต้องมาพร้อมสติปัญญา – นั่นคือสิ่งที่ฉันสรุปกับตัวเองหลังได้ฟัง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าว แต่ฉันไม่แน่ใจนักว่า โครงการเพื่อการพัฒนาครั้งนี้จะเข้าข่ายหรือไม่

ความเป็นจริงนั้น ทวายโปรเจค หรือ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) ประกอบไปอะไรหลายอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อทวายทั้งสิ้น อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสากรรม ทั้งโรงหล็กต้นน้ำ โรงปุ๋ยไฟฟ้า โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมยานยนต์ เส้นทางการคมนาคม ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ ซึ่งมีพื้นที่โครงการต้ังอยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ 30 กิโลเมตร

แม่น้ำตะลายยาร์ระหว่างทางไปหมู่บ้านกะโลนท่า – ถ่ายภาพโดย Wichai Juntavaro

 

ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้นจะเข้ามารุกรานจนสิ่งมีค่าเหล่านี้อาจต้องมลายหายไป มันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากทวายจะเหลือเพียงปกรณัมเล่าขาน ก่อนถูกทุนข้ามชาติกลืนกินจนทวายกลายสภาพเป็นอดีต เชิญชวนให้ท่านทั้งหลายมาทำความรู้จัก ลุ่มหลง และตกหลุมรักทวายอย่างมิอาจถอนตัวกันเถอะ

พวกเขารอคอยความหวังให้เพื่อนบ้านอย่างเราช่วยกันเข้าใจและเป็นอีกแรงที่จะธำรงรักษาคุณค่าอันหลากหลายและสร้างกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงขอถือเสียว่านิทรรศการหลงรักทวาย ครั้งนี้เป็นสาส์นเชิญถึงโลกกว้าง ให้เราเดินทางอย่างยากลำบากไปค้นหาความหมายและคำตอบในแบบของคุณเองว่า “ทำไมเราจึงตกหลุมรักทวาย”

 


บทความ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร