จับตา ‘พฤติการณ์แห่งคดี’ ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ 61

จับตา ‘พฤติการณ์แห่งคดี’ ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ 61

5 มี.ค. 61 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเวทีสาธารณะวิเคราะห์การดำเนินคดีต่อนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ที่ถูกจับกุมขณะตั้งแคมป์ในพื้นที่หวงห้ามในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมซากสัตว์ป่า อาวุธปืนและเครื่องกระสุน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ก่อนเรื่องราวจะกลายเป็นข่าวใหญ่ออกสู่สาธารณชนในวันที่ 6 ก.พ. เป็นระยะครบหนึ่งเดือนของการเกิดเหตุการณ์พอดี

ในเวทีนี้ได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมวิเคราะห์หลายท่าน โดยมีนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มต้นเปิดเวทีเสวนา

เวทีเริ่มต้นด้วยการกล่าวแถลงการณ์ทวงถามความคืบหน้าคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 5 มี.ค. 61 โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีนายภาณุเดช เป็นผู้กล่าวคำแถลง

ใจความสำคัญของเนื้อหา มุ่งไปที่เรื่อง พฤติการณ์แห่งคดี ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเปรมชัยกับพวกลักลอบนำอาวุธปืนซุกซ่อนไว้ในรถก่อนขออนุญาตเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่แรก การลักลอบเข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาตซึ่งแสดงให้เห็นว่า นายเปรมชัยกับพวกมีเจตนาเข้าไปภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อล่าสัตว์ป่า ประกอบกับเสียงปืนที่ดังมาจากบริเวณที่ไม่อนุญาต การพบอาวุธปืน เครื่องกระสุน และปลอกกระสุน ซากสัตว์ป่า และร่องรอยกระสุน บนซากสัตว์ป่า เศษซากกระดูกสัตว์ป่าที่พบในลำห้วย รวมถึงการประกอบอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ป่า สิ่งที่ปรากฏล้วนเป็นพยานวัตถุสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน มูลนิธิสืบฯ จึงขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการเพื่อสรุปสำนวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการ และส่งฟ้องศาลอย่างรวดเร็ว

อ่านแถลงการณ์ ทวงถามความคืบหน้าคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 5 มี.ค. 61

จากแถลงการณ์ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขยายความต่อว่า จากพฤติการณ์แห่งคดีนายเปรมชัย มีความชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ที่ทำให้พฤติกรรมแห่งคดีเกิดความสับสน เว้นแต่จะมีการสอบสวนที่มุ่งไปที่เรื่องอื่นๆ ที่มาจากพยานวัตถุที่เปลี่ยนแปลงได้ อย่างการสืบพยานหรือการตรวจดีเอ็นเอบนโก่งไกปืนที่อาจให้ผลไม่ตรงกัน ดังนั้น หากรองผบ.ตร.บอกว่าคดีนี้มีความคืบหน้ากว่า 70% แล้ว ก็ควรที่จะเร่งรัดการสรุปสำนวนเพื่อส่งฟ้องได้ก่อนวันที่ 26 มี.ค. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เน้นย้ำว่า พฤติการณ์แห่งคดีนี้ คือ เจตนาร่วมกันกระทำความผิด โดยการพกอาวุธปืนเข้าในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงความผิดไม่ได้ เช่นเดียวกับการครอบครองซากสัตว์ป่า และที่สำคัญคือมีเจตนา ล่า ฆ่า สัตว์ป่า

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวต่อว่า ถ้าสำนวนคดีที่ออกมาไม่มีเรื่องเจตนาล่าหรือฆ่า กลายเป็นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาวุธปืนใดที่ใช้ยิงเสือดำ หรือใครเป็นผู้เหนี่ยวไกยิงเสือดำ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนแบบประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องหาหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้น เมื่อหลักฐานไม่เพียงพอ เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดคืออาจไม่ส่งฟ้อง หรือส่งฟ้องอย่างคลุมเครือจนศาลไม่สามารถพิจารณาได้

“สาธารณชนต้องจับเรื่องนี้ให้มั่น ว่าสำนวนมีเจตนาล่าหรือฆ่าหรือเปล่า”

โดยหลังจากนี้มูลนิธิสืบฯ ยังคงติดตามคดีนี้ต่อไป และจะมีการจัดทำแผนผังอธิบายระยะเวลาการดำเนินคดีนี้ออกเผยแพร่ผ่านสื่อขององค์กรเพื่อให้ผู้สนใจได้ติดตามความคืบหน้าไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์หรือเรียกร้องเกี่ยวกับคดี ประธานมูลนิธิสืบฯ ชี้แจงว่า เร็วๆ นี้จะเดินทางไปพบ ผบ.ตร. เพื่อขอความมั่นใจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหากสำนวนคดีมีท่าทีไม่น่าไว้วางใจ ก็อาจขอให้เปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคดี ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูไปก่อน

“รอดูว่าวันที่ 26 มี.ค.นี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์จะส่งสำนวนหรือไม่ กรมอุทยานฯ จะหยิบมาตรวจสอบหรือไม่ ถ้าเกิดสำนวนไม่มีข้อหาเจตนาฆ่า หรือล่า ไม่เฉพาะมูลนิธิสืบฯ ประชาชนก็คงไม่ยอม”

ด้านตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นรวมถึงเรียกร้องให้สังคมติดตามและจับตาคดีนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

นางพรเพ็ญ พยัคฆาภรณ์ ประธานมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อก่อนยังไม่มีกฎหมายลงโทษคนล่าสัตว์ป่าแต่ตอนนี้เรามีแล้ว ก็ต้องดูว่าจะใช้ได้แค่ไหน เป็นบรรทัดฐานได้แค่ไหน อยากให้สังคมช่วยจับตาว่ากฎหมายท่านสถิตยุติธรรม แต่เกรงว่าผู้ที่ชงเรื่องขึ้นไปจะทำให้เสือกลายเป็นแมว สำนวนจะอ่อน และจะใช้ได้หรือไม่

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวถึง การเพิ่มเติมรายละเอียดในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณา

รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม IUCN ระบุว่าได้มีความพยายามแก้ปัญหาหลายอย่างๆ เช่น การปรับปรุงบทลงโทษ ซึ่งจะเพิ่มจากเดิมที่ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทจำคุกสี่ปีเป็นปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทแต่ไม่เกินสองล้านบาท จำคุกระยะเวลาสามถึงสืบปี และให้มีการลงโทษสอดคล้องกับโทษที่บรรลุมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดถูกจับแล้วสารภาพมอบตัว โทษควรจะเป็นอย่างไร หรือถูกจับได้แต่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา มีเจตนาไม่ยอมรับผิด โทษก็ควรจะสอดคล้องกันกับแนวทางการสู้คดี

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเรื่องธรรมาภิบาลของ บริษัท อิตาเลียนไทย เดเวล๊อปเม้นต์ ว่า บริษัทควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง และควรจะต้องตรวจสอบไปถึงโครงการต่างๆ ของบริษัทด้วยว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

นายยรรยง เลขาวิจิตร ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวถึงประเด็นพื้นที่ที่มีสถานะเป็นมรดกโลกว่า หากคดีนี้ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด อาจจะมีผลถึงการถูกตั้งสถานะบัญชีเสี่ยงอันตรายจากคณะกรรมการมรดกโลก

นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดง และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึง ความสำคัญของป่าเมืองไทยว่า ทุกวันนี้ป่ามันเหลือน้อยมาก อย่ามองแค่ว่าพื้นที่สีเขียวคือป่า ป่าคือที่ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นป่าขนาดใหญ่ ซึ่งเรามีป่าลักษณะนี้อยู่ไม่กี่แห่ง และสัตว์ป่าก็ไม่ได้มีเยอะมาก ทุกตัวจึงมีค่ามีความสำคัญในระบบนิเวศของมัน หากตัวหนึ่งหายไปเป็นเรื่องยากที่จะหาตัวอื่นมาทดแทน

“เรื่องการล่าสัตว์ป่ายังมีอยู่จริงและเกิดขึ้นมาตลอด แล้วมันก็เป็นเรื่องแย่ที่สังคมอาจยังไม่รู้ อย่างที่เราพูดกันมาเสมอเรื่องเขื่อนเรื่องถนนและการพัฒนาขนาดใหญ่ในป่ามันคุมไม่ให้เกิดการล่าสัตว์ไม่ได้ นี่เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่ามันคุมไม่ได้เลย เพราะคนตั้งใจทำความดีกับคนตั้งใจทำความเลวมันไม่เท่ากัน ทรัพยากรต่างๆ ไม่สมดุลกัน เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูแลป่าไม้ พิทักษ์ป่า ต้องกระตุ้นเตือนสิ่งเหล่านี้กันต่อไป”

ทางด้าน ชลลดา เมฆราตรี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะวอยซ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การสูญเสียเสือดำหรือการสูญพันธุ์ในอนาคต แต่มันคือภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เมื่อมีคนทำผิดแล้วเราทำอะไรเขาไม่ได้ กฎหมายซึ่งมันควรจะป้องกันให้คนทำความดีอยู่ในสังคมอย่างปลอดภัย และคนทำผิดถูกลงโทษจะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร