ความคืบหน้า (เพิ่มเติม) กรณีการคัดค้านโครงการพัฒนาแนวทางการผันน้ำจาก เขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
สืบเนื่องจากมูลนิธิสืบฯ ทำจดหมายแสดงความเป็นกังวลต่อกรณีการผันน้ำผ่านป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีจดหมายตอบกลับ ลงวันที่ 2 กันยายน 2562 ว่าได้ทำการส่งเรื่องไปยังกรมทรัพยากรน้ำ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และหากมีความคืบหน้าประการใดทั้งสองหน่วยงานนี้จะแจ้งให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทราบโดยตรงนั้น
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำจดหมายตอบกลับส่งถึง ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2562 โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
1. การดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องห้ามตามความในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมิได้มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองดูแล รักษา หรือบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประกอบกับมิได้เป็นการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมอุทยานฯ จะสั่งหรืออนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่หากมีความจำเป็นจะต้องเพิกถอนพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวออกจากการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก่อน
2. การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อกรมอุทยานฯได้รับรายงานฉบับสมบูรณ์แล้ว จึงจะพิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และหากคณะกรรมการสงวนฯ เห็นชอบจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป
3. โครงการดังกล่าวมีแนวทางเลือกในการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เบื้องต้นไว้ 6 แนวทาง ได้แก่
1) ทางเลือกที่ 1 เป็นระบบท่อน้ำแรงดันจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ – อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ความยาวประมาณ 97 กิโลเมตร มีแนวผันน้ำตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 727 ไร่
2) ทางเลือกที่ 2 เป็นระบบท่อผันน้ำและคลองส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีแนวผันน้ำบริเวณชายขอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ทางด้านทิศตะวันตก ผ่านเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 488 ไร่
3) ทางเลือกที่ 3 เป็นระบบท่อผันน้ำ แรงดันจากอ่างเก็บน้ำท่าทุ่งนา – อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล มีแนวผันน้ำผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ บริเวณตอนใต้ เนื้อที่ 366 ไร่
4) ทางเลือกที่ 4 เป็นระบบท่อผันน้ำแรงดันจากแม่น้ำแควใหญ่ – อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ซึ่งมีแนวผันน้ำอยู่นอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
5) ทางเลือกที่ 5 เป็นระบบอุโมงค์ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำ
ลำอีซู พร้อมระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ระยะทาง 147 กิโลเมตร ตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เนื้อที่ 579 ไร่
6) ทางเลือกที่ 6 เป็นระบบท่อผันน้ำแรงดันจากแม่น้ำแควใหญ่และคลองส่งน้ำ ซึ่งมีแนวผันน้ำอยู่น้องพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
4. กรมอุทยานฯ มีหนังสือลงวันที่ 26 มีนาคม 2562 อนุญาตให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการศึกษาสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ นิเวศวิทยาสัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว เฉพาะแนวทางเลือกการผันน้ำที่ 2 และ 3 ซึ่งมีแนวเส้นทางติดชายขอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 – 20 ธันวาคม 2562 และไม่อนุญาตให้ดำเนินการศึกษาสำรวจข้อมูลตามแนวทางเลือกการผันน้ำที่ 1 และ 5 เพราะมีแนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A บริเวณตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งเป็นเขตหวงห้ามที่สงวนไว้ให้คงสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิม สำหรับเป็นถิ่นอาศัยที่สมบูรณ์ของสัตว์ป่า โดยให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเข้าร่วมโครงการและเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
5. สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติและบริษัทที่ปรึกษาได้เข้าพบหารือร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 เกี่ยวกับการพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการผันน้ำตามทางเลือกการผันน้ำที่ 2(เดิม) ที่มีจุดเริ่มต้นการผันน้ำต่อจากท่อระบายน้ำของตัวเขื่อนศรีนครินทร์ซึ่งไม่มีการใช้งานมาเป็นเวลานาน และเมื่อพิจารณาทางวิศวกรรมแล้วพบว่าหากมีการปรับปรุงตัวท่อระบายน้ำจะมีผลกระทบกับตัวเขื่อนได้ จึงปรับตำแหน่งจุดเริ่มต้นขึ้นไปทางเหนือบริเวณตำบลหนองเป็ดซึ่งอยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีระยะทางแนวผันน้ำที่ขึ้นจากเดิมอีก 9 กิโลเมตร โดยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ 7 กิโลเมตร เมื่อรวมกับแนวทางเลือกการผันน้ำที่ 2 (เดิม) จะมีระยะทางทั้งหมด 47 กิโลเมตร ลัดเลาะติดชายขอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและเชื่อมต่อกับแนวถนนทางหลวงหมายเลข 3199 (แก่งเสี้ยน-ศรีสวัสดิ์)
แนวทางการศึกษาด้านธรณีวิทยาและปฐพีกลศาสตร์ จะสำรวจชั้นดินและหินฐานราก โดยจะดำเนินการสำรวจเพิ่ม 2 หลุม ด้านขอบอ่างเก็บน้ำ 1 หลุม ลึก 20 เมตร และท้ายอุโมงค์ 1 หลุม ลึก 20 เมตร ด้วยวิธีการเจาะสำรวจด้วยเครื่องเจาะแบบเครื่องกว้าน(Motorized Drilling Rig) และเก็บตัวอย่างดินทุกระยะความลึก 1 เมตร ทั้งนี้จะไม่มีการเจาะดินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
6. กรมอุทยานฯ มีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 อนุญาตให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการศึกษาสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว บริเวณจุดเริ่มต้นแนวทางเลือกการผันน้ำที่ 2 (เพิ่มเติม) ระยะทาง 9 กิโลเมตรทางตอนเหนือแนวทางเลือกการผันน้ำที่ 2 (เดิม) ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 – 20 ธันวาคม 2562 โดยให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเข้าร่วมโครงการและเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด
เรียบเรียงโดย อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร