21 มีนาคม 2561 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส) ได้เรียกนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายวิทูลย์ พรายแย้ม ทนายความ, นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เลียมแสน และนายธานี ทุมมาศ ผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่า เดินทางเข้าให้ปากคำเพิ่ม รวมถึงได้เรียกนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เข้าให้ปากคำเพิ่มด้วยเช่นกัน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 พนักงานอัยการได้ร้องขอให้ตำรวจสอบปากคำและส่งผลตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม โดยมี พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมสอบปากคำด้วยในประเด็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การเข้าไปในพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า
เรียกค่าเสียหายแพ่ง ทำลายระบบนิเวศป่าทุ่งใหญ่
การเรียกนายเปรมชัยและพวกคร้งนี้ เป็นการเรียกมาสอบตามที่อัยการร้องขอเพิ่ม คือพฤติการณ์เกี่ยวกับการเข้าไปในพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าที่ทำให้เสียหายต่อระบบนิเวศ ซึ่งเกี่ยวกับคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายกับนายเปรมชัยและพวก
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายในขั้นต่ำกว่า 3,000,000 บาท ทั้งนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ส่วนอัยการจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของอัยการ
นายวิทูลย์ พรายแย้ม ทนายความนายเปรมชัย เปิดเผยว่านายเปรมชัยได้รับทราบ และลงชื่อในพฤติการณ์แห่งคดี กรณีในการสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแล้ว เช่นเดียวกับผู้ต้องหาร่วมอีก 3 คน
ไม่พบแจ้งเสียภาษี/ขออนุญาตนำเข้างาช้าง-ปืนคาบศิลา
สำหรับประเด็นเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อนายเปรมชัยเรื่องการครอบครองงาช้างแอฟริกาและปืนคาบศิลา นายณัฐวุฒิ สระฏัน ผอ.สำนักสืบสวนปราบปรามที่ 1 กรมศุลกากร ได้ทำการตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่านายเปรมชัยและภรรยาแจ้งเสียภาษีและขออนุญาตนำเข้าปืนคาบศิลา และงาช้างจำนวนดังกล่าว แต่เพื่อความชัดเจนจะต้องกลับไปตรวจสอบในฐานข้อมูลอย่างละเอียดว่า มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะทราบผล
ในส่วนของปืนคาบศิลานั้น ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรได้ออกมายืนยันจากการตรวจสอบแล้วว่า ถือเป็นวัตถุโบราณจริง แต่เนื่องจากยังไม่มีในประกาศจึงไม่สามารถดำเนินคดีในส่วนนี้ได้ แต่ปืนคาบศิลาที่ได้มาจากบ้านของนายเปรมชัยนี้จะต้องถูกยึดเป็นของแผ่นดินตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ
สำหรับงาช้างนั้น หากไม่มีหลักฐานการนำเข้าหรือการแจ้งขออนุญาต เนื่องจากงาข้างเป็นของต้องกำกัด (ของที่จำเป็นจะต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนที่จะมีการนำ เข้าหรือส่งออกสินค้า) ก็ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2467
อย่างไรก็ตามในกรณีความผิดเรื่องงาช้างนี้ หากจากคณิตายืนยันเป็นเอกสารได้ว่า รับงาช้างแอฟริกา 2 คู่นี้ไว้ตั้งแต่ 2524 ก็จะขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้ประกอบ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 แต่หากไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงได้นั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยืนยันว่า สามารถแจ้งความเอาผิดได้ เพราะอายุความจะนับตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่พบงาช้างภายในบ้านพักของนายเปรมชัยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เรียก ‘นพดล’ สอบสวนเพิ่มเติม คดี ‘ติดสินบน’
ประเด็นสอบสวนเพิ่มเติมอื่นๆ นั้น ในข้อติดสินบน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) จะเชิญนายนพดล พฤกษะวัน อดีตข้าราชการกรมอุทยานฯ และที่ปรึกษา บริษัท อิตาเลียนไทย มาสอบสวนเพิ่ม และจะมีการออกหมายเรียกให้มาพบในวันที่ 23 มีนาคมช่วงเช้า เพื่อจะสอบในประเด็นที่ต้องยืนยันเกี่ยวกับคำพูดที่นายวิเชียรให้การว่า นายเปรมชัยจะให้นายนพดลมาเคลียร์เรื่องให้ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบสำนวนให้หนักแน่น รอบคอบ รัดกุม
ส่วนจะมีการแจ้งข้อหาร่วมกันทุจริตเจ้าพนักงานกับนายนพดลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการให้การในชั้นสอบสวนว่า ทำไมนายนพดลถึงเข้าไปมีส่วนในเรื่องนี้ และเกี่ยวข้องได้อย่างไร
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกรณี ซีอีโออิตาเลียนไทยล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร