ข้อสังเกตบางประการ กรณีเขื่อนปากแบง

ข้อสังเกตบางประการ กรณีเขื่อนปากแบง

ภายหลังการเจรจาประเด็นโครงการเขื่อนปากแบง ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ ต้าถัง กับตัวแทนประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึงมีท่านจันแสวง บุนยง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ดร.แกรม บอยด์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญโครงการสร้างเขื่อนปากแบงในแม่น้ำโขงเขตแขวงอุดมไชย สปป.ลาว นายจาง เชา รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทจีน ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเม้นท์ จำกัด และคณะร่วมหารือกับเครือข่ายภาคประชาชนนำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ เล่าว่าข้อมูลและการสังเกตที่ได้นั้นรวบรวมมาจากข้อมูลจากเอกสารบริษัท เนื้อหาการประชุม และการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาประกอบ และสรุปเป็นข้อมูลและการสังเกตทั้ง 9 ข้อ ในวันที่ 16 มกราคม โดยได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า

ฝุ่นตลบที่โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากันตรึม เมื่อวานนี้ ที่ทางบริษัทจีนต้าถัง Datang ได้ติดต่อขอมาพบประชาชนริมโขงเพื่อเจรจากรณีโครงการเขื่อนปากแบง Pak Beng Dam ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่แขวงอุดมไซ ลาว แต่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กังวลอย่างมากในเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน การอพยพของปลา และระบบนิเวศ

พร้อมได้ตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลและการประประชุมไว้ 9 ประเด็น

1. บริษัทจีน มาถึงที่ประชุมพร้อมกับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวมาด้วย 7 ท่าน โดยไม่มีใครทราบมาก่อน จนท.รัฐดังกล่าวคือท่าน ท่านจันแสวง บุนยง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ลาว และโดยมีฝรั่งที่ปรึกษาทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลโครงการ และท่านอธิบดีเป็นผู้ตอบคำถามแทบทั้งหมด

2. โครงการเขื่อนปากแบง มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 บริษัทต้าถังโอเวอร์ซี ได้มาจดทะเบียนบริษัทต้าถัง (ลาว) โรงไฟฟ้าเขื่อนปากแบง ที่เวียงจัน เมื่อปี 2555 หลังจากได้ลงนามกับรัฐบาลลาวในการพัฒนาโครงการ PDA ตั้งแต่ปี 2453

3. สำหรับในข้อกังวลเรื่องปลาแม่น้ำโขงที่จะว่ายผ่านเขื่อนนั้น กำลังศึกษาและมีหลายวิธีในการบรรเทาผลกระทบ อาทิ ทางปลาผ่าน กังหันปั่นไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลา fish-friendly turbines หรือการขนปลาโดยใช้รถ fish taxi

4. โครงการเขื่อนปากแบง เป็นโครงการร่วมกับทุนไทย คือ EGCO บริษัทเอกโก้ ลูกของ กฟผ. โดยในเวทีเมื่อวาน ที่ปรึกษาจากบริษัท Norconsult แจ้งว่าไฟฟ้า 90% จะส่งขายไทย (กฟผ.) โดยสายส่งไฟฟ้าจะเข้าชายแดนทางอ.ท่าวังผา จ.น่าน

5. บริษัทต้าถัง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า Tariff MOU กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว EDL เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ปักกิ่ง

6. โดยข้อตกลงแม่น้ำโขง 1995 Mekong Agreement โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานต้องเข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ที่ในทุกเวทีใน จ.เชียงราย ประชาชนจำนวนมากคัดค้านอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นห่วงผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะทุกวันนี้ก็เดือดร้อนกันอย่างหนักแล้วจากเขื่อนจีนในยูนนาน แม้จะครบระยะเวลา 6 เดือนเมื่อมิถุนายน 2560 ที่ประชุมร่วม 4 ประเทศก็ได้สรุปว่าต้องมีแผนบรรเทาผลกระทบ/แผนปฏิบัติการร่วม ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นแผนดังกล่าว

7. ในเวที เครือข่ายประชาชนยืนยันว่า จำเป็นต้องทำการศึกษาให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจในโครงการ และยังต้องพูดคุยเจรจากันอีกยาว ที่สำคัญ เรื่องปัญหาแม่น้ำโขงไม่สามารถมาพูดกันทีละเขื่อนๆ แบบนี้ แต่ต้องเริ่มด้วยการแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งลุ่มน้ำ ทั้งเขื่อนจีนในยูนนาน 8 เขื่อน และเขื่อนตอนล่างทั้งหมด ซึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ก็คือ ไซยะบุรี (ไทยสร้าง/เงินไทย) ดอนสะโฮง (มาเลสัมปทาน/จีนรับเหมาก่อสร้าง/สิงคโปร์อาจรับซื้อไฟ ผ่านระบบ ASEAN Power Grid)

8. กินใจมากๆ ที่พ่อหลวงบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น พูดในเวที บอกบริษัทจีนว่า ได้ยินว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การค่าชดเชยก็จ่ายเพียงปีเดียว แต่น้ำโขงจะท่วมบ้านอีกกี่สิบกี่ร้อยปี ใครจะเยียวยาได้ ความเสียหายที่เกิดกับแม่น้ำโขง หากพังไปแล้วก็ยากที่จะเรียกคืนแก้ไขได้ ลูกหลานภายหน้าจะว่าเราได้ว่า เราเป็นผู้ที่ทำลายมรดกธรรมชาตินี้

9. ชาว จ.เลย และจังหวัดริมโขงที่อีสาน เตรียมรับมือได้เลย เพราะจะมีอีกเขื่อนของบริษัทต้าถัง คือโครงการสานะคาม Sanakam Dam ที่จะกั้นแม่น้ำโขง ห่างจากพรมแดนไทยลาว ที่ปากแม่น้ำเหือง เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น (ใกล้ชายแดนไปมั้ย?) และต้าถังก็ได้จดทะเบียนบริษัทต้าถัง (ลาว) โรงไฟฟ้าเขื่อนสานะคาม แล้วด้วย”

PHOTO เพียรพร ดีเทศน์

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยังได้ออกแถลงการณ์จากการประชุมเจรจากับบริษัทต้าถังกรณีโครงการเขื่อนปากแบงระบุถึงความสำคัญของการศึกษาข้อมูลรายละเอียดด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ซึ่งในกรณีของเขื่อนปากแบงนั้นเป็นข้อมูลเก่าซึ่งไม่ครบถ้วน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำโขงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และการหารือเรื่องผลกระทบจากเขื่อนน้ำจำเป็นต้องมองในภาพใหญ่ของการสร้างเขื่อนทุกแห่งตลอดลำน้ำ ไม่สามารถมองอย่างแยกส่วนทีละเขื่อนได้

แถลงการณ์ยังระบุถึงการมีธรรมาภิบาลในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม Transboundary governance การใช้แม่น้ำด้วยความยั่งยืน มีความยุติธรรมถึงภาคส่วนต่างๆ

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม แถลงการณ์จากการประชุมเจรจากับบริษัทต้าถังกรณีโครงการเขื่อนปากแบง โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง (วันที่ 17 มกราคม 2561)

จากการประชุมเจรจาหารือระหว่างผู้แทนบริษัทต้าถัง(ลาว) เขื่อนไฟฟ้าปากแบ่ง จำกัด และตัวแทนภาคประชาชนริมแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมานั้น พวกเราได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการปกป้องแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำ เราเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำของ และแม่น้ำโขง คำว่าแม่ในภาษาไทย ลาว เขมร แปลว่าเป็นผู้ให้กำเนิดของพวกเรา เป็นแม่น้ำของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเชียงของ ปากแบง หรือของประเทศไทย หรือประเทศใด เพราะแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรข้ามพรมแดน ในการเจรจาและตัดสินใจใดๆ เราต้องเคารพถึงความคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งพี่น้องชาวบ้านที่อาศัยเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต ต้องคำนึงถึงทุกคนให้มีส่วนร่วม Inclusive Development และต้องเป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงองค์ความรู้ Knowledge-based Development เป็นฐานในการพัฒนาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในการประชุมดังกล่าว เราได้รับการติดต่อมาว่าจะเป็นการประชุมร่วมกับบริษัทจากจีน แต่ก็พบว่ามีตัวแทนของรัฐบาลลาว นำคณะเข้าร่วมด้วย คือ ดร.จันแสวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สปป.ลาว และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา Norconsult ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง

จากการประชุมครั้งนี้ พวกเรายืนยันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทางตอนบนในจีน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการพัฒนา สร้างการคิดใหม่ และหาทางเลือกพลังงานให้แก่ภูมิภาคโดยไม่ทำลายทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป

เราไม่สามารถมาพูดคุยกันทีละเขื่อน แต่ต้องมองเขื่อนชุดทั้งหมด 11 โครงการในแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งโครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนสานะคาม เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง และเขื่อนอื่นๆ ที่จะสร้างบนแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำของเรา

เราต้องคิดถึงการมีธรรมาภิบาลในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม Transboundary governance การใช้แม่น้ำด้วยความยั่งยืน มีความยุติธรรมถึงภาคส่วนต่างๆ ประชาชนที่อยู่ด้านล่าง จะได้รับประโยช์อย่างไร

การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรก และไม่ใช่การยินยอมใดๆ เราเห็นว่าจำเป็นต้องเอาความรู้ การเก็บข้อมูล วิจัย นำมาประกอบการตัดสินใจ เราต้องมีความรู้เพื่อการตัดสินใจในทรัพยากรของภูมิภาค สำหรับกรณีของเขื่อนปากแบงนั้นเราพบว่าการศึกษาที่ใช้อ้างอิง เป็นข้อมูลเก่าที่บางชิ้นเก่ากว่า15 ปี จึงไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการ

หากเราช่วยกันในหลายฝ่าย เอาความรู้เป็นผู้นำ จัดประชุมเจรจากันต่อๆ ไป เพื่อสร้างองค์ความรู้แม่น้ำโขง เรายินดีที่จะต้อนรับทุกท่าน มาร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาแม่น้ำโขงชั่วลูกหลานต่อไป


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร