เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในที่สุดแล้วโครงการสร้างบ้านพักตุลาการของศาลอุธรณ์ ภาค 5 บนเชิงดอยสุเทพก็ได้ข้อยุติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 หลังการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ กับเครือข่ายภาคประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า ให้สำนักงานศาลยุติธรรมคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ และให้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่กลับเป็นสภาพป่า
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำมาอีกชั้นว่า “ห้ามใครเข้าใช้ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว”
แม้จะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของภาคประชาชนที่ทวงคืนผืนป่ากลับคืนให้ธรรมชาติได้สำเร็จ แต่เรื่องนี้ก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามกันต่ออีกหลายส่วน ทั้งเรื่องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการไปแล้วนั้นจะทำอย่างไร ทำได้หรือไม่ได้ จะฟื้นฟูป่าอย่างไรให้คืนดังเดิม รวมถึงการผนวกพื้นที่เข้ากับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย ก็เป็นเรื่องที่ให้หารือกันต่อไปอีกยาว
ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ และขอหยิบยกเนื้อหามารายงานให้ทราบ
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย และตัวแทนกลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด
คณะทำงานชุดแรก คือ คณะทำงานฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เบื้องต้นภาครัฐและประชาชนจะร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่โดยรอบบ้านพักตุลาการ ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักเสร็จแล้ว จะปลูกไม้ใหญ่ก่อน เน้นพันธุ์ไม้พื้นถิ่น พร้อมปลูกหญ้าแฝกโดยรอบพื้นที่โครงการ ป้องกันเศษตะกอนก่อสร้างไหลลงแหล่งน้ำ เนื่องจากมีลำห้วยไหลผ่าน ส่วนโซนสุดท้าย เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะกำหนดแผนงานเพิ่มเติมภายหลัง
สำหรับคณะทำงานชุดที่สอง เป็นคณะทำงานปรับโครงสร้าง เพื่อดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปทำการรังวัดพื้นที่เพื่อกำหนดแนวเขตป่า และกันพื้นที่ออกมาดำเนินการฟื้นฟูป่าให้กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง
ส่วนการจัดสรรพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ อาจต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่อีกทีมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการ
ส่วนเรื่องจะรื้อถอนหรือไม่ หรือจะผิดสัญญาก่อสร้างที่ทำไว้กับเอกชนหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบกระบวนการตามข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสม (รวมถึงการจะยกย้ายไปตั้งที่อื่น)
นั่นเป็นตัวอย่างเรื่องราวยุ่งๆ ที่ตามมาให้ต้องดำเนินการคิด แก้ไข และลงมือทำ เพื่อนำเอาความสมดุลกลับคืนมาสู่ธรรมชาติ และก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่จะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่องนี้
สำหรับพื้นที่ป่าแหว่งของเชิงดอยสุเทพในวันนี้ แม้ไม่อยากจะใช้คำว่าโชคดีที่โครงการยุติ เพราะว่าได้ทำลายป่าไปแล้วอย่างน่าเกลียด และก็ต้องใช้เวลายื้อยุดกันอยู่นานจนเกือบจะเสียป่าไปด้วยซ้ำ แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างในการจัดการข้อพิพาทอื่นๆ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และสามารถตั้งวาระเร่งด่วนสำหรับการรีบเร่งแก้ไข
ต้องไม่ลืมว่ายังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อน การสร้างท่าเรือ ที่จะมีผลกระทบต่อทั้งป่าทั้งคน
หากนำเอากรณีนี้เป็นบทเรียน ก็คงจะห็นแล้วว่าการทำอะไรก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาตินั้นมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งเรื่องวลา และค่าสำหรับการจัดการที่จะยิ่งทวีขึ้น
นั่นยังไม่นับรวมถึงการคำนวณราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการฟื้นฟูธรรมชาติ นิเวศบริการต่างๆ ที่หายไประหว่างนั้น รวมถึงเวลาที่ต้องใช้สำหรับรอให้ธรรมชาติกลับคืนมาคงเดิม ก็ยิ่งต้องคูณมูลค่ามากยิ่งขึ้นไปอีกไม่รู้กี่เท่า เผลอๆ อาจจะไม่มีตัวเลขทางบัญชีหลักใดจ่ายได้เสียด้วยซ้ำ
ก็ขออย่าให้เป็นอย่างนี้ซ้ำอีกเลย