การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารโลก

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารโลก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์และพืชป่าที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต

“ทั้งชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของอาหารในจานของเราส่วนใหญ่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ โดยที่เราแทบไม่ให้ความสนใจ” Ann Tutwiler ผู้อำนวยการองค์กร Bioversity International กลุ่มนักวิจัยที่เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

“หากมีชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งที่ห้ามสูญพันธุ์ ก็คงจะเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นอาหารให้กับประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคน ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร (agrobiodiversity) คือทรัพยากรทรงค่าสิ่งที่เราขาดแคลนและกำลังสูญเสียมันไป ทั้งที่ชนิดพันธุ์เหล่านั้นอาจช่วยบรรเทาความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และยังมีบทบาทสำคัญที่ถูกมองข้ามในการเสริมสร้างคุณค่าทางโภชนาการ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” Ann Tutwiler ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian

อาหารที่เรารับประทานทุกวันราว 3 ใน 4 มาจากพืชเพียง 12 ชนิด และสัตว์ 5 ชนิดพันธุ์ ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้สัตว์และพืชที่เป็นแหล่งอาหารของเราอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อโรคระบาดและศัตรูพืชซึ่งอาจทำลายแปลงพืชเชิงเดี่ยวเป็นพื้นที่กว้าง ดังเช่นเหตุการณ์ความหิวโหยจากการขาดแคลนมันฝรั่งของชาวไอริช (Irish potato famine) ที่ประชากรนับล้านคนต้องหิวโหยจนตาย การพึ่งพิงพืชและสัตว์เพียงไม่กี่สายพันธุ์อาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ความต้องการทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในธรรมชาติยังมีพืชและสัตว์ที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้หลายพันชนิด โดยให้สารอาหารที่ครบถ้วน มีภูมิคุ้มกันต่อโรค และสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การทำลายพื้นที่ป่า การปนเปื้อนของมลภาวะ และการล่าเกินปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของโลก โดยมีงานวิจัยระบุว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา สัตว์และพืชป่าได้ลดลงไปราวครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีอยู่ รายงานฉบับใหม่ยังระบุเพิ่มเติมว่า พืชและสัตว์ที่สามารถนำมาเป็นอาหารก็ประสบแรงกดดันไม่ต่างกัน โดยกว่า 1,000 ชนิดพันธุ์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มถูกคุกคาม

กลุ่มชาวนาในเอธิโอเปียกำลังประเมินข้าวสายพันธุ์ต่างๆ

Ann Tutwiler กล่าวเพื่มเติมว่า การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาหารไม่เหมาะสม (poor diet) ซึ่งสาเหตุการตายและทุพพลภาพของมนุษย์ โดยปัญหาดังกล่าวควบรวมทั้งการกินอาหารมากไป และได้รับสารอาหารน้อยเกินไป “เรายากที่จะเอาชนะทั้งความอ้วนและภาวะขาดสารอาหาร เพราะอาหารที่เรารับประทานส่วนใหญ่นั้นคือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่เรากลับบริโภคอาหารที่หลากหลายไม่เพียงพอ”

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่ารัฐบาลและภาคเอกชนสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลจากการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอาหารที่มีความหลากหลาย โดยกว่าพันชนิดแทบไม่เป็นที่รู้จัก เช่น แกค (gac) ผลไม้สีแดงเพลิงของเวียดนาม กล้วยอาซูพีนา (Asupina Banana) ซึ่งเป็นกล้วยที่มีเนื้อสีส้ม เป็นแหล่งของเบต้าแคโรทีนที่ช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตวิตามินเอ

คีนัว (quinoa) นับว่าเป็นธัญพืชที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศที่ร่ำรวย แต่คีนัวที่นำมาจำหน่ายนั้นเป็นแค่ชนิดพันธุ์ไม่กี่หยิบมือจากคีนัวนับพันสายพันธุ์ซึ่งเติบโตในแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ รายงานเล่มเดียวกันยังยกตัวอย่างเกษตรกรขาวเปรู ได้เลือกสายพันธุ์คีนัวที่แข็งแรงและมีคุณค่าทางอาหารสูงที่จะสามารถเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาด

พืชกระแสหลักก็ต่างได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นนักวิจัยในประเทศเอธิโอเปียที่ค้นพบข้าวสาลีซึ่งสามารถให้ผลผลิตยอดเยี่ยมในพื้นที่แห้งแล้งอย่างมาก หรือความหลากหลายทางชีวภาพในปลาท้องถิ่นของบังคลาเทศ ที่พบว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างยิ่ง

“ความเป็นจริงแล้วเรามีอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้น พืชและสัตว์อาหารเหล่านี้ต่างพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบทการทำการเกษตรในท้องถิ่น” Ann Tutwiler กล่าว

Bioversity International ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรใส่ใจความหลากหลายทางชีภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับ Perfrancesco Sacco ตัวแทนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศอิตาลี ตั้งข้อสังเกตว่าในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อิตาลีอยู่อันดับรั้งท้ายในแง่ประชาชนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ตามหลังประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน

เขากล่าวสรุปว่าการสืบเสาะเค้นหาและเพาะปลูกพืชอาหารที่หลากหลายเป็นกุญแจสำคัญ “การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตรแตกต่างกับการอนุรักษ์หมีแพนด้าหรือแรด เพราะยิ่งเรารับประทานอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ อาหารเหล่านั้นก็จะได้รับการอนุรักษ์ไว้ในเวลาเดียวกัน”

 


 

ถอดความและเรียบเรียงจาก The Sixth Mass Extinction of Wildlife Also Threatens Global Food Supplies โดย Damian Carrington
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์