ทั่วทั้งโลกสามารถพบ ‘ควายป่า’ หรือ ‘มหิงสา‘ (Wild Water Buffalo) ที่ได้ที่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน และไทย จำนวนทั้งหมดประมาณ 4,000 ตัวเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีควายป่าเพียงฝูงเดียวและเป็นสุดท้ายทั้งสิ้น 69 ตัว ซึ่งอาศัยอยู่ภายในผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
สำหรับประเทศไทย ควายป่าจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิด และอนุสัญญา CITES จัดควายป่าไว้ใน Appendix III ในประเทศไทย แต่เดิมเคยมีควายป่าอยู่ตามป่าทุ่งป่าโปร่งเกือบทุกภาค ยกเว้นก็แต่ภาคใต้ ปัจจุบันถูกล่าหมดไป และยังคงมีหลงเหลืออยู่เพียงแห่งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกจากแหล่งนี้ ควายป่าที่พบที่แห่งอื่น อาจไม่ใช่ควายป่าหรือมหิงสาแท้ๆ โดยสาเหตุของการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีปัจจัยภัยคุกคามดังต่อไปนี้
1) พืชต่างถิ่นเข้ามารุกรานพืชท้องถิ่นในพื้นที่หากินของควายป่า เช่น ไมยราบยักษ์ ที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้พืชท้องถิ่นซึ่งเป็นอาหารของควายป่ามีจำนวนน้อยลง นำไปสู่ปัญหาแหล่งที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมได้เปลี่ยนแปลงไปและพื้นที่หากินของควายป่าคับแคบลง
2) การผสมกันเองภายในเครือญาติ ที่เกิดจากมีจำนวนประชากรน้อยทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด (Inbreeding) ส่งผลให้ลูกควายป่าที่เกิดจากการผสมพันธุ์เช่นนี้อ่อนแอ ภูมิต้านทานโรคต่ำ และเมื่อผสมพันธุ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ควายป่าอ่อนแอและเสี่ยงสูญพันธุ์
3) เกิดการแย่งพื้นที่หากิน ทั้งอาหารและแหล่งน้ำของควายป่าและควายบ้าน
4) การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่ากับควายบ้าน ทำให้เกิดพันธุกรรมควายป่าเปลี่ยนแปลงไป โอกาสติดโรคระบาด โรคปรสิตที่ส่งผ่านโดยควายบ้านได้มากขึ้น
5) การล่าควายป่า เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2558 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยาแข้ง
รวมไปถึงข้อจำกัดในการขยายพันธุ์ควายป่าตามธรรมชาตินั้น ควายป่าใช้เวลาอุ้มท้องนานถึง 10 เดือน ฉะนั้นใน 1 ปีจะออกลูกได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น ทำให้ประชากรควายป่าคงที่ประมาณ 40-60 ตัว มาตลอดช่วงระยะเวลากว่าสองทศวรรษ แต่ปัญหาสายพันธุ์อ่อนแอทั้งจากเลือกชิดและการผสมข้ามสายพันธุ์นี้เองจะทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวถึงมาตรการและแนวทางในการอนุรักษ์ควายป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่
1) โครงการธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า เพื่อดำรงและฟื้นฟูพันธุกรรมของควายป่าให้เป็นสายพันธุ์แท้และมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเซลล์พันธุกรรมของควายป่าจะถูกจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระบบมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
2) โครงการสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อดูแลสุขภาพของสัตว์ป่าทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัยให้ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
3) โครงการศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้มีหน่วยงานซึ่งเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลสารสนเทศด้านโรคอุบัติใหม่ซ้ำ เพื่อช่วยในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
4) โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่าอันเป็นคุกคามร้ายแรงของความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ทั้งนั้นอนาคตของควายป่าจะเป็นอย่างไรต่อไปภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ องค์กร เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความร่วมมือของประชาชน ที่จะแก้ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ ที่จะนำไปสู่หนทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของควายป่าฝูงสุดท้ายของประเทศไทยได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
Source :
สำรวจควายป่าทั่วประเทศไทย น่าตกใจเหลือแค่ 69 ตัว เฉพาะในป่าห้วยขาแข้ง ทั่วโลกมีแค่ 4 พัน
มหิงสาป่าตะวันตก คดีล่าควายป่าห้วยขาแข้งในเดือนสิงหาคม 2558