การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้า PDP ฉบับใหม่

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้า PDP ฉบับใหม่

1 เมษายน เครือข่ายชาวบ้านและภาคประชาชนกว่า 30 องค์กร ที่เดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อน ร่วมกันลงชื่อจดหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เสนอปรับปรุงกระบวนการวางแผน PDP 5 ข้อ ประกอบด้วย

(1) ยกเลิกระบบประกันผลกำไรให้ กฟผ. (Return On Invested Capital: ROIC) และยกเลิกการชดเชยหน่วยขายไฟฟ้าสูตร Ft เพื่อตัดวงจรการขยายระบบอย่างไร้ประสิทธิภาพ

(2) สร้างระบบรับผิดในการวางแผนและพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าด้วยการนำระบบ contracted demand มาใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ก่อภาระในการจัดหาไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย/ภาคครัวเรือน ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่ไม่มาก

(3) พิจารณาโครงการลงทุนเพื่อการจัดการด้านความต้องการ (Demand-side Management-DSM) ให้เป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนจัดหาไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยถือเป็นโครงการที่บรรจุใน PDP เทียบเท่ากับกำลังผลิตอื่นๆ และเป็นอิสระจากอิทธิพลของการสร้างยอดหน่วยขายให้สูง ซึ่งมีผลต่อรายได้ประจำปีของการไฟฟ้าต่างๆ

(4) ต้องมีการตรวจสอบแผน PDP ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ โดยมีการจัดทำแผนเปรียบเทียบมากกว่า 1 แผนเพื่อเลือกแผนที่ดีที่สุด และให้มีการวางแผนแบบผสมผสาน (Integrated Resource Planning : IRP)

(5) พิจารณาทบทวนถอนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวออกจากแผน เพื่อให้เกิดความสมดุลกับความต้องการที่แท้จริง

 

PHOTO facebook Pai Deetes

 

ในจดหมายถึงประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กล่าวถึงการคาดการณ์ว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของกระทรวงพลังงานลดต่ำต่อเนื่องมาแล้วสองปี แต่หลายหน่วยงานพยายามที่จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อวิถีชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น  เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ฯลฯ

เครือข่ายฯ ระบุอีกว่า ต้องการให้ทบทวนและปฏิรูปกระบวนการจัดทำแผน PDP ให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อประชาชน

อนึ่ง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี

ทางกฟฝ.ระบุว่า เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอของกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยคำนึงนโยบาย พลังงานของประเทศและปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นโยบายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ฯลฯ โดยจะมีการทบทวนเป็นระยะๆ หรือทุก 1 – 2 ปี เพื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมมุติฐานเดิมหรือไม่ เพื่อจัดทำฉบับใหม่หรือฉบับปรับปรุง

 


 

อ่านแถลงการณ์ ฉบับเต็ม

 

เรื่อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้า PDP ฉบับใหม่
เรียน ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้ติดตามการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งมีรายงานข่าวว่าจะจัดทำให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลกระบวนการทบทวนดังกล่าวอย่างเพียงพอ

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่า ณ เดือนมกราคม 2561 ประเทศไทยมีกำลังผลิตติดตั้ง 42,299 เมกกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2561 (จากข้อมูลที่เปิดเผยในขณะนี้) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 19.22 . มีค่าเท่ากับ 26,351 เมกะวัตต์ แสดงถึงปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบสูงถึง 15,947 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 60.5 ของความต้องการสูงสุด ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ความต้องการไฟฟ้าจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ดังที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ที่ความต้องการสูงสุดติดลบกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จากปี 2559 (สูงกว่าสถานการณ์ของประเทศไทยหลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540) ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนถึงระบบไฟฟ้าที่ไร้ประสิทธิภาพและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่โรงไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ

สำหรับสถานการณ์ในปีนี้ กระทรวงพลังงานได้คาดการณ์ว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีผลประโยชน์ในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้ง กฟผ. ปตท. และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ยังคงแสดงความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น นอกจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในหลายๆ พื้นที่ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ยังจะตกแก่ผู้บริโภคไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย

พวกเราคือประชาชนที่เดือดร้อนจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม จากโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือเสนอให้มีการก่อสร้าง เพื่อนำไฟฟ้าเข้าระบบของประเทศไทย อาทิ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เขื่อนเมืองโต๋น (มายตง) และเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน และภายใต้รัฐบาล คสช. เรายังได้เห็นการเกิดขึ้นของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสตึงมนัม และโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ประเทศกัมพูชา ที่จะส่งไฟฟ้าเข้ามาขายแก่ประเทศไทย ซึ่งจะสร้างภาระทางการเงินแก่ผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใสอีกด้วย

กรณีตัวอย่าง เช่น โครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ โดยจะส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2562 ซึ่งยังคงเป็นช่วงที่กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยทั้งระบบ ยังมีปริมาณเกินความจำเป็นอยู่สูงมาก แต่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ลงนามกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นแบบ take or pay ราว 4,000 ล้านหน่วยต่อปี คือแม้ประเทศไทยจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการนี้ แต่ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น นำมาสู่ความข้องใจและเป็นประเด็นคำถามต่อผลประโยชน์ทับซ้อนของ กฟผ. และ ปตท. ในฐานะที่บริษัทลูกของ กฟผ. และ ปตท. เป็นผู้ร่วมทุนการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

กรณีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา ยิ่งสร้างความสงสัยแก่พวกเราว่า จะสร้างไปเพื่ออะไรในเมื่อยังมีไฟฟ้าสำรองในปริมาณมาก และโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงแก่ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล อันเป็นแหล่งประมง รายได้ และวิถีชีวิตของชุมชนที่ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมทั้งความงดงามทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้ เป็นต้นทุนสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

พวกเราเห็นว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีสูงเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ กกพ.จะต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการทบทวนและปฏิรูปกระบวนการจัดทำแผน PDP ให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อประชาชน

เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อการปรับปรุงกระบวนการวางแผน PDP เบื้องต้นดังนี้

(1) ยกเลิกระบบประกันผลกำไรให้ กฟผ. (Return On Invested Capital: ROIC) และยกเลิกการชดเชยหน่วยขายไฟฟ้าสูตร Ft เพื่อตัดวงจรการขยายระบบอย่างไร้ประสิทธิภาพ

(2) สร้างระบบรับผิดในการวางแผนและพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าด้วยการนำระบบ contracted demand มาใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ก่อภาระในการจัดหาไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย/ภาคครัวเรือน ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่ไม่มาก

(3) พิจารณาโครงการลงทุนเพื่อการจัดการด้านความต้องการ (Demand-side Management-DSM) ให้เป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนจัดหาไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยถือเป็นโครงการที่บรรจุใน PDP เทียบเท่ากับกำลังผลิตอื่นๆ และเป็นอิสระจากอิทธิพลของการสร้างยอดหน่วยขายให้สูง ซึ่งมีผลต่อรายได้ประจำปีของการไฟฟ้าต่างๆ

(4) ต้องมีการตรวจสอบแผน PDP ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ โดยมีการจัดทำแผนเปรียบเทียบมากกว่า 1 แผนเพื่อเลือกแผนที่ดีที่สุด และให้มีการวางแผนแบบผสมผสาน (Integrated Resource Planning : IRP)

(5) พิจารณาทบทวนถอนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวออกจากแผน เพื่อให้เกิดความสมดุลกับความต้องการที่แท้จริง

ร่วมลงนามโดย 1. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 2. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ 3. เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำสาละวิน 4. เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำยวมน้ำเงาน้ำเมยสาละวิน 5. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน 6. สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน 7. เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน 8. เครือข่ายพลเมืองสงขลา 9. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนการพัฒนาจังหวัดสตูล 10. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

11. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก (8 จังหวัด) 12. เครือข่ายจับตาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) 13. เครือข่ายภาคประชาสังคม 8 จังหวัดภาคตะวันออก 14. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด 15. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก 16. เครือข่าย 304 กินได้ 17. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 18. เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี 19. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำบางปะกง

21. เครือข่ายคุ้มครองบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา 22. เครือข่ายรักษ์บ่อวิน จังหวัดชลบุรี 23. เครือข่ายรักษ์พระแม่ธรณี จังหวัดชลบุรี 24. ชมรมรักษ์เขาไม้แก้ว จังหวัดปราจีนบุรี 25. เครือข่ายรักษ์พรหมณี จังหวัดนครนายก 26. เครือข่ายเฝ้าระวังผังเมืองรวม จังหวัดนครนายก 27. เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะนครนายก 28. กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบ้านบึง จังหวัดชลบุรี 29. เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 30. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)

31. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 32. เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 33. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 34. มูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 35. ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน 36. มูลนิธิเอิรธ์ไรท์ 37. เครือข่ายติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน 38. The Mekong Butterfly

 


เรียงเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ
facebook Pai Destes