เรื่องราวการเดินค้านเขื่อนสู่งานเฝ้าระวังที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อรักษา ‘ป่าแม่วงก์’

เรื่องราวการเดินค้านเขื่อนสู่งานเฝ้าระวังที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อรักษา ‘ป่าแม่วงก์’

ช่วงนี้มีกระแสข่าวโครงการเขื่อนแม่วงก์ ให้ได้ยินในพื้นที่แม่วงก์-ลาดยาว จ.นครสวรรค์กันอีกครั้ง  แถมหน่วยงานในพื้นที่ยังโทรมาสอบถามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรอีกว่า ทำไมโครงการเขื่อนแม่วงก์ถึงไม่ได้สร้าง เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ก็อธิบายเหตุผลและข้อเท็จจริงไปว่าเพราะอะไรโครงการนี้ถึงไม่ได้ลงหลักปักเสาเข็มในพื้นที่เสียที

ผู้เขียนเคยถามอาจารย์รตยา สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า เราเริ่มประท้วงโครงการเขื่อนแม่วงก์เมื่อไหร่กัน? อาจารย์ตอบว่า “เราค้านโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเลย” ซึ่งนั่นก็ 30 ปี มาแล้ว ช่วงแรกของการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำจดหมายร้องเรียนไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง  แสดงให้เห็นถึงความไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะจะไม่ได้น้ำตามที่ต้องการ เติมเต็มด้วยข้อมูลที่เข้มข้นทั้งด้านป่าไม้และสัตว์ป่า ความสำคัญของผืนป่าแม่วงก์จากองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ที่ทำงานในพื้นที่ พวกเราตามติดประเด็นนี้และทำจดหมายคัดค้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA)โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ อย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่ภาครัฐหยิบโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น เพราะการหยุดเขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่แค่การรักษาแต่ผืนป่าที่ราบริมน้ำที่เหลือไม่กี่แห่งในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรักษาบ้านหลังใหญ่ของเลียงผาที่ชื่อว่าเขาผาแรตที่จังหวัดอุทัยธานีอีกด้วย เพราะมีข้อมูลมาว่าการขอระเบิดสัมปทานหินที่เขาผาแรตก็เพื่อจะเอาหินเหล่านั้นไปสร้างเขื่อนแม่วงก์นั่นเอง อาจจะดูเหมือนไกลกันแต่หากพิจารณาจากแผนที่จะเห็นได้ชัดว่า จากเขาผาแรตสามารถเดินทางไปหัวงานเขื่อนแม่วงก์ได้สบาย สามารถเลี่ยงชุมชนใหญ่ และนับเป็นแหล่งหินที่ใกล้ที่สุดและไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์

ลงพื้นที่หาความเป็นไปได้ในการจัดการน้ำทางเลือก

10 เม.ย. 2555 โครงการเขื่อนแม่วงก์ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาเพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการก่อสร้างเขื่อนทั้งที่ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)  เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ส่งจดหมายคัดค้านถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจนับร้อยฉบับแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 9 ก.ย. 2556 ก่อนเริ่มเดินเท้าเพื่อนพ้องเครือข่ายอนุรักษ์ร่วมร้อยคนพร้อมใจกันมาที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) อ่านแถลงการณ์ปฏิเสธไม่ยอมรับรายงาน EHIA ฉบับเจ้าปัญหาดังกล่าว

ก่อนเดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์แถลงการณ์ไม่ยอมรับ EHIA ฉบับดังกล่าว

ศศิน เฉลิมลาภ และทีมงานเดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จุดที่จะสร้างเขื่อนเพื่อเตรียมเดินเท้าจากนครสวรรค์สู่กรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร เรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ให้มีการทบทวนอีกครั้ง  เราเดินผ่านความไกลและผ่านความกลัวมาจนถึงวันที่สิบสามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินเท้า ดูเหมือนเสียงคัดค้านจากประชาชนที่มาร่วมเดินไปพร้อมกับเราดังพอที่จะทำให้รัฐบาลได้ยินจนนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการมาร่วมพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลายคนคิดว่าเราชนะแล้วหลังจากวันนั้น ผลสรุปจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือควรให้มีการยกเลิกโครงการเขื่อนแม่วงก์ แต่ในท้ายที่สุดผลของการประชุมกับกลายเป็นเพียงแค่ความเห็นทางวิชาการที่ไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจใด ๆ เลย

ผ่านการเดินเท้าคัดค้านมาได้ปีกว่า  EHIAโครงการเขื่อนแม่วงก์  ก็ถึงวาระเข้าสู่การพิจารณาของคชก.อีกครั้ง ศศิน เฉลิมลาภ ประกาศปักหลักนั่งประท้วง (ให้กำลังใจคชก.) หน้า สผ. คัดค้านการพิจารณา EHIAโครงการเขื่อนแม่วงก์  เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน 17-19 พ.ย. 2557 เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้าน และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระงับการพิจารณา EHIA ที่มีข้อมูลไม่สมบูรณ์ โดยมีเพื่อนพ้องนักอนุรักษ์เป็นแนวร่วมในการคัดค้าน และร่วมเรียกร้องขอทางเลือกการจัดการน้ำไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ เป็นจำนวนมาก เช่น แนวร่วมนิสิตนักศึกษารักธรรมชาติ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยและขอให้มีการจัดการน้ำทางเลือกในวันนั้น EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคชก.

การจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน เกิดเป็นโมเดลการจัดการน้ำทางเลือก โดยได้รับคำแนะนำจากคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์จากหลากหลายสถาบัน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านเอกสารวิชาการ เวทีเสวนา สาส์นสืบ คลิปวิดีโอ  จนนำไปสู่การประชุมระดับกระทรวงต่อในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560  ซึ่งในวันนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงการเขื่อนแม่วงก์

ชี้แจงการจัดการน้ำทางเลือก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อมูล

ผลประชุมวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ชลประทานโครงการเขื่อนแม่วงก์ ออกเป็น 3 แนวทาง คือ (1) สร้างเขื่อนแม่วงก์ ในตำแหน่งเดิมและขนาดเท่าเดิม (2) สร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยลดระดับกักเก็บน้ำ และพิจารณาเก็บกักน้ำที่บริเวณเขาชนกัน และ (3) ไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่บริหารการจัดการน้ำทางเลือก ด้วยมาตรการการใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ในวันดังกล่าวที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการแนวทางที่ (3) คือ การไม่สร้างเขื่อน และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อาจดำเนินการตามแนวทางที่ (2) และ (1) ต่อไป จากการประชุมดังกล่าวได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลำน้ำแม่วงก์และสาขาเพื่อทำงานในพื้นที่  การประชุมในครั้งนี้ทำให้ การจัดการน้ำทางเลือกโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานระดับนโยบาย นำไปสู่การปฏิบัติงานระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน  ภายใต้ชื่อ โครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘การจัดการน้ำทางเลือก’ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงไม่ได้นิ่งนอนใจและเฝ้าระวังว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะกลับมาอีกถึงแม้ว่าจะมีการจัดการน้ำทางเลือกแล้วก็ตาม  ไม่เว้นระยะให้นานอย่างที่คิด  1 กันยายน 2560 รายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านพัฒนาแหล่งน้ำอีกครั้งหนึ่ง ในวันนั้นผู้ที่ได้เข้าร่วมอยู่ในห้องประชุมถ่ายทอดให้ฟังว่าการพิจารณา EHIA เป็นไปด้วยความตึงเครียด และผลการพิจารณาEHIAในวันนั้นก็ยังไม่ผ่าน

ชัยชนะ?

        3 ตุลาคม 2560 กรมชลประทาน ทำหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA)โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์  ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ และได้ศึกษาทางเลือกการจัดการน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อแก้ไขปัญหาแทน แต่ใช่ว่าโครงการนี้จะหายไปตลอดกาลเพราะท้ายความในจดหมายดังกล่าวระบุไว้ว่า ‘หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามแนวทางเลือกที่เหมาะสม กรมชลประทานจะนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง’ นั่นหมายความว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์ยังคงกลับมาได้ทุกเมื่อ 

เดินหน้าสู่ การจัดการน้ำทางเลือก

ถึงแม้กรมชลประทานจะถอน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไปแล้ว แต่บทบาทที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ต้องทำต่อ คือผลักดันโมเดล การจัดการน้ำทางเลือกให้เกิดเป็นรูปธรรมในพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่ในอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลลาดยาว องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ เทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ และทหารมนพื้นที่ ทำงานสนับสนุนแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ กำลังคน และอุปกรณ์ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรช่วยสนับสนุนในส่วนของงบประมาณที่ขาดเหลือในบางส่วน

ขยายผลแนวคิดสู่การต่อสู้เขื่อนอื่นๆในป่าอนุรักษ์

ผลของการดำเนินงานการจัดการน้ำทางเลือกโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้พอสมควรจากข้อมูลเปรียบเทียบช่วงเวลาน้ำท่วมในแต่ละปีพบว่าปริมาณลดลง ซึ่งจะเป็นแนวคิดสำคัญที่นำไปสู่การจัดการน้ำในพื้นที่อื่น ๆ ที่เกิดปัญหาแทนที่การสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบมากกว่าทั้งกับคน ผืนป่า และสัตว์ป่า และแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปใช้จริง กรณีเขื่อนลำสะพุง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว นำแนวทางการจัดการน้ำทางเลือกไปใช้ โดยมีการศึกษาลดขนาดเขื่อนเขยิบพื้นที่น้ำท่วมเขื่อนออกมานอกผืนป่าอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่าต่อไป

จนถึงทุกวันนี้ วันที่ครบ 30 ปี ของการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงเฝ้าระวัง คัดค้าน นโยบาย โครงการ กฎหมายที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเรายังคงยึดคำพูดของคุณสืบที่ว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”


บทความ อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร