โครงการรณรงค์ดังกล่าวเริ่มต้นง่ายๆ จากการที่เด็กคนหนึ่งสั่งน้ำโซดาในร้านอาหาร
“แก้วมันมาพร้อมกับหลอดพลาสติก” Milo Cress ระลึกความทรงจำ เขาจ้องไปที่หลอดแล้วบอกว่า “มันเหมือนกับเป็นขยะ”
ไม่เพียงแต่ Milo Cress จะดึงหลอดพลาสติกออกจากแก้วน้ำ เขายังเริ่มโครงการรณรงค์ “Be Straw Free” หรือชวนกันไม่ใช้หลอด โดยมองว่าหลอดพลาสติกคือขยะที่ไม่จำเป็น เขาเคาะประตูร้านค้าในเมือง Burlington ซึ่งเขาอาศัยอยู่ นอกจากนี้ เขายังขอให้ผู้จัดการร้านไม่แจกหลอดพลาสติก เว้นแต่ว่าลูกค้าจะขอ ขณะนั้นเขาอายุเพียง 9 ปี
ปัจจุบัน Cress อายุ 15 ปี และกลายเป็นหนึ่งในแนวหน้าของโครงการหยุดใช้หลอดพลาสติก ซึ่งนอกจากจะพบว่าไปอุดอยู่ในจมูกของเต่าทะเล อยู่ในท้องของสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ตายแล้วเกยมาที่ฝั่ง ยังไม่นับถึงปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลที่กระจายตัวอยู่ริมชายหาด
ทำไมต้องเลือกเน้นแค่ขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ อย่างหลอดพลาสติก ?
นักอนุรักษ์ให้ข้อมูลว่า หลอดคือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่พบมากที่สุดจากที่อาสาสมัครเก็บขยะริมชายหาด รองลงมาคือขวดน้ำ ถุงพลาสติก และแก้ว ขาวอเมริกันใช้หลอดจำนวนกว่าครึ่งพันล้านต่อวัน อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Be Straw Free ซึ่งใช้ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตหลอด หลอดเหล่านั้นสามารถต่อกันได้ยาวเท่ากับ 2.5 เท่าของเส้นรอบวงของโลก
เพียงลมเบาๆ ก็สามารถพัดพาหลอดพลาสติกชิ้นเล็กให้ลอยออกจากโต๊ะอาหาร โต๊ะปิกนิก รวมถึงถังขยะ ทำให้ขยะเหล่านั้นตกอยู่ในพื้นที่ห่างออกไปและกระจายได้เป็นบริเวณกว้าง ทั้งในแม่น้ำ มหาสมุทร และสัตว์ป่าก็จะเข้าใจว่าพลาสติกเหล่านั้นเป็นอาหาร
นอกจากนี้ หลอดพลาสติกยังพบได้ทุกที่ ร้านอาหารเชนและร้านกาแฟแทบทุกร้านต่างก็ให้หลอดพลาสติกแก่ลูกค้า นอกจากนี้ ร้านอาหารราคาแพง สวนสนุก ร้านสะดวกซื้อ ร้านไอศกรีม รวมถึงโรงอาหารในโรงเรียน ยังแจกจ่ายหลอดพลาสติกแบบฟรีๆ
อย่างไรก็ดี เทรนด์ดังกล่าวกำลังจะหายไปเนื่องจากการรณรงค์ของ Cress และเหล่านักอนุรักษ์ที่ทำให้บางสถานที่ อย่าง World’s Animal Kingdom ของ Walt Disney และพิพิธภัณฑ์สถาบัน Smithsonian เลิกแจกจ่ายหลอดพลาสติก
Keith Christman กรรมการผู้จัดการด้านตลาดพลาสติกใน American Chemistry Council ซึ่งสนับสนุนผู้ผลิตพลาสติกและต่อสู้กับกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใช้พลาสติกให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร National Geographic ว่าคณะกรรมการของเขาก็จะทำหน้าที่ผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี โฆษกของคณะกรรมการดังกล่าวก็ให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ได้” หรือพูดอะไรเกี่ยวข้องกับที่ Keith Christman ให้สัมภาษณ์
ขบวนการดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ Cress เริ่มเข้าร่วมเมื่อ 6 ปีก่อน แต่ไม่นานมานี้ กระแสดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วหลังจากที่คลิปเต่าทะเลที่มีหลอดติดอยู่ในจมูกถูกอัพโหลดและแชร์ผ่าน YouTube คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะดึงหลอดพลาสติกออกจากจมูกเต่าทะเลซึ่งมีผู้ชมกว่า 12.5 ล้านคน
Cress ได้นำประเด็นดังกล่าวมานำเสนอบนเว็บไซต์และร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการใช้หลอดในรัฐ Vermont นอกจากนี้ ยังได้ระบุให้วันที่ 11 กรกฎาคมเป็นวันไร้หลอดของรัฐ ความร่วมมือเพื่อต่อต้านมลภาวะพลาสติก (The Plastic Pollution Coalition) คาดว่ามีองค์กรทั้งร้านอาหาร สถาบัน และโรงเรียนกว่า 1,800 แห่งทั่วโลกจะให้หลอดแก่ลูกค้าก็ต่อเมื่อลูกค้าร้องขอ นอกจากนี้ ร้านอาหารกว่า 20 ร้านใกล้ชายหาด Wrightsville เข้าร่วมกับเครือข่ายดังกล่าว
Ginger Taylor อาสาสมัครที่ทำงานเก็บขยะจากชายหาดความยาว 8 กิโลเมตรให้สัมภาษณ์ว่า โครงการประสบความสำเร็จ หรืออย่างน้อยก็ในความรับรู้ของเธอ “ฉันเก็บหลอดพลาสติกจากชายหาดแห่งนี้ทุกเช้าวันจันทร์มาเกือบ 5 ปี” เธอเล่าว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเธอเก็บหลอดได้ทั้งสิ้น 248 ชิ้นภายในสองสัปดาห์ สองปีต่อมาเธอเก็บได้ทั้งสิ้น 500 ชิ้น แต่หลังจากโครงการรณรงค์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น ปริมาณหลอดก็ลดลงเหลือ 158 ชิ้น
Diana Lofflin ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Straw Free ระบุว่าคลิปเต่าทะเลทำให้เธอก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้น เธอได้ร้องขอให้งานเทศกาลทางดนตรี Joshua Tree ไม่ใช้หลอดพลาสติก และยังร้องขอให้ผู้ที่มีไม้ไผ่ในบ้านเพื่อเก็บเกี่ยวมาทำเป็นหลอดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยจำหน่ายหลอดดังกล่าวทางเว็บไซต์
Milo Cress เด็กหนุ่มอายุ 15 ปีที่เคลื่อนไหวต่อต้านหลอดพลาสติกมากกว่า 6 ปี เขาได้เดินทางไปออสเตรเลีย โปรตุเกส เยอรมนี ฝรั่งเศส รวมถึงรัฐบอสตันและวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา เพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโครงการรณรงค์ต่อต้านหลอดพลาสติกของเขา
“สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเด็กคนอื่นๆ” Cress กล่าว “ผมว่ามันเจ๋งมาก และทำให้ผมมีกำลังใจ ผมรู้สึกว่าได้ฟังและได้ให้คุณค่ากับชุมชนที่ใหญ่กว่า และผมภูมิใจกับมันมาก”