เป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากแม่น้ำสายแรกได้รับการยอมรับทางกฎหมายให้มีสิทธิเท่าเทียมกับมนุษย์ซึ่งดูไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากนั้นไม่นาน อีกซีกโลกหนึ่งก็ตัดสินว่าแม่น้ำควรมีสิทธิเช่นเดียวกับมนุษย์ในบางประเด็น
การตัดสินใจครั้งแรกเกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากที่รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายรับรองให้แม่น้ำฟางกานุย (Whanganui River) มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับมนุษย์คนหนึ่ง โดยการตัดสินใจดังกล่าวนับว่าเป็นครั้งแรกของโลกในการยกระดับสิทธิของแม่น้ำ หลังจากนั้นราวสัปดาห์ เราก็ได้เห็นข่าวคล้ายคลึงกันในประเทศอินเดีย เมื่อศาลสูงแห่งรัฐอุตตราขัณฑ์ตัดสินให้แม่น้ำคงคา และแม่น้ำยมุนามีสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับคน
ทั้งสองกรณีมีที่มาคล้ายคลึงกัน คือความกังวลต่อระบบนิเวศของลำน้ำที่นับวันจะเสื่อมโทรมลง รวมถึงการยอมรับสถานะของแม่น้ำตามหลักศาสนา
ในนิวซีแลนด์ ชาติพันธุ์เมารีมีความเชื่อถึงสายสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณของพวกเขากับแม่น้ำฟางกานุย ทำให้แม่น้ำสายนี้ควรมีสถานะทางกฎหมาย โดยชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยรอบลำน้ำมีเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันมาในท้องถิ่นว่า “ฉันคือแม่น้ำ แม่น้ำคือฉัน”
ชุมชนชาติพันธุ์เมารีได้ต่อสู้มาเป็นเวลากว่า 150 ปี เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและแม่น้ำได้รับการยอมรับ ตามกฎหมายฉบับใหม่ แม่น้ำแห่งนี้จะได้รับเงินชดเชยมูลค่ากว่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจัดตั้งกองทุนมูลค่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและชาติพันธุ์เมารีฝ่ายละหนึ่งคนดำเนินการในฐานะผู้แทนของแม่น้ำสายนี้
แม่น้ำคงคาและยมุนาในประเทศอินเดียถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู โดยทั้งสองลำน้ำเปรียบดั่งเทพธิดา โดยผู้นับถือศาสนาฮินดูต่างลงไปอาบแม่น้ำทั้งสองสายโดยเหตุผลทางศาสนา
อย่างไรก็ดี แม่น้ำทั้งสองสายนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมลภาวะ โดยมีการประเมินว่าในหนึ่งวัน จะมีขยะน้ำหนักกว่า 1 ล้านแกลลอนถูกทิ้งลงแม่น้ำคงคา สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศซึ่งรัฐบาลอินเดียพยายามที่จะแก้ไข ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่าแม่น้ำยมุนานั้น “ตายแล้ว” เนื่องจากสายน้ำได้ถูกสารพิษปนเปื้อนจนไม่สามารถสนับสนุนสิ่งมีชีวิตได้อีกต่อไป
การมอบสิทธิทางกฎหมายให้กับแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนามีเป้าหมายเพื่อปกป้องรักษาแม่น้ำทั้งสองสาย กล่าวคือ ประชาชนสามารถร้องเรียนการกระทำที่ส่งผลร้ายต่อแม่น้ำภายใต้ชื่อของแม่น้ำเอง โดยหนังสือพิมพ์ Hindustan Times ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐ 3 คนจะเป็นตัวแทนทางกฎหมายของแม่น้ำแต่ละสาย
นอกจากแม่น้ำทั้ง 3 สายที่ได้รับสถานะเทียบเท่ามนุษย์คนหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศโคลัมเบียก็ได้ประกาศรับรองสิทธิแม่น้ำ Atrato ซึ่งเผชิญกับปัญหามลภาวะรุนแรง โดยแม่น้ำจะมีสิทธิในการ “ปกป้อง อนุรักษ์ ทำนุบำรุง และฟื้นฟู” ตามกฎหมาย
การประกาศให้แม่น้ำมีสถานะเทียบเท่ากับบุคลนั้นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าที่เราคิด โดย Chris Finlayson อัยการสูงสุดประเทศนิวซีแลนด์กล่าวเปรียบเทียบว่า การมอบสถานะทางบุคคลให้กับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น กองมรดก (family trust) บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล รวมถึงคณะบุคคลต่างๆ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2557 นิวซีแลนด์ก็ได้รับรองสถานะบุคคลให้กับอุทยานแห่งชาติ Te Urewera
การตัดสินใจของรัฐบาลนิวซีแลนด์น่าจะเป็นหนึ่งในอิทธิผลต่อคำตัดสินของศาลรัฐอุตตราขัณฑ์ รวมไปถึงศาลในประเทศโคลัมเบีย ซึ่งยากที่จะคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่ แต่การถกเถียงว่าทรัพยากรธรรมชาติควรมีสิทธิทางกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่พูดคุยกันมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมทุกคนที่จะเห็นพ้องต่อแนวคิดดังกล่าว
“แค่ประกาศว่าแม่น้ำเป็นสิ่งมีชีวิตอาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น” Vimlendu Ja นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่อสู้เพื่อทำความสะอาดแม่น้ำยมุนาให้สัมภาษณ์กับ Associated Press “เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนยังต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญให้การฟื้นฟูแม่น้ำแห่งนี้ และหยุดปล่อยของเสียลงสู่ลำน้ำ”