“สัตว์ป่าไม่ใช่เครื่องประดับบารมีของใคร” เมื่อออร์เดอร์ นกเงือกชนหิน กำลังคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย ในวงการอนุรักษ์เราต่างก็รู้ดีว่าสัตวป่าแต่ละชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่แตกต่างกัน
เสือโคร่ง เป็นดัชนีชี้วัดความอุดสมบูรณ์ของป่าไม้ เพราะเสือโคร่งแต่ละตัวมีอาณาเขตพื้นที่หากินที่ไม่ซ้อนทับกับตัวอื่น ดังนั้นแล้วผืนป่าที่เสือโคร่งจะสามารถอาศัยอยู่ได้ต้องมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก ๆ เพื่อให้เสือแต่ละตัวอาศัยอยู่ และต้องมีปริมาณอาหารที่เหมาะสม เช่น จำนวนสัตว์กีบที่เพียงพอ สัตว์กีบตัวไหนอ่อนแอก็จะกลายเป็นเหยื่อของสัตว์ที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารอย่างเสือโคร่ง นี่คือกระบวนการคัดสรรโดยวิธีทางธรรมชาติ
นกเงือกเอง ไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าเสือโคร่งเลย เพียงแต่สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน นกเงือกเปรียบเสมือนนักปลูกป่าที่มีศักยภาพสูง ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการปลูกป่า พวกเขาสามารถกระจายพันธุ์ไม้ทั่วป่าแม้ในพื้นที่สูงชันที่มนุษย์ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปได้
จากการศึกษาวิจัย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า นกเงือกอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ ต้นไม้เหล่านี้จะมีอัตรารอดตายเติบโตเป็นไม้ใหญ่ราว 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือก จึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ป่าได้ถึงราว 500,000 ต้น
นกเงือกทั้งหมดมี 54 ชนิดทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยมีจำนวน 13 ชนิด โดยมีพื้นที่ศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นอยู่ 3 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา
สถานการณ์นกเงือกในปัจจุบันนั้นไม่ค่อยจะสู้ดีมากนักเมื่อนกเงือกกลายเป็นที่นิยมในตลาดมืด โดยเฉพาะหัวนกชนหิน สัตว์ป่าที่ IUCN (องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ) ได้ปรับสถานภาพการอนุรักษ์นกชนหินจากสัตว์ป่าใกล้ถูกคุกคาม เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
หัวนกเงือกชนหินได้กลายเป็นวัตถุดิบมีค่าในการแกะสลักแปรรูปเป็นเครื่องประดับ อัญมณี หรือหัวเข็มขัด กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่ง แหล่งรับซื้อสำคัญของตลาดมืดนี้คือจีน และสิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลในตลาดมืดระบุว่า เฉพาะหัวนกชนหินนั้นหากส่งไปถึงมือผู้ซื้อได้จะมีราคาสูงถึงหัวละ 30,000 บาท
ปัจจุบันการล่านกชนหินพบมากที่สุดบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุกชุมที่พบนกชนหิน แต่ก็ถูกไล่ล่าจนแทบหมดไปจากเกาะบอร์เนียว ความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับประชากรนกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธุ์นั้น ทำให้ขบวนการล่านกชนหินจึงพุ่งเป้ามาที่บ้านเรา อีกไม่นานออร์เดอร์การสั่งซื้อจะคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาพูดถึงความกังวลต่อเหตุการณ์ล่าหัวนกชนหินในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยในเนื้อหาที่ปรีดาโพสต์ผ่านเฟซบุ้คส่วนตัว Preeda Budo ระบุว่า
“ขณะที่พิมพ์ข้อความอยู่นี้ ผมนอนอยู่ในเปลบนเขาตะโหนด อ.รือเสาะ ใจสับสนและกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาว่า ตอนนี้มีพรานจากรือเสาะและยะลากำลังขึ้นเขามาล่าสัตว์ และสัตว์ที่เขามาล่าคือหัวนกชนหิน.. มีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนราเขาให้ราคาถึงหัวละหมื่น ชาวบ้านมาบอกว่าสองวันก่อนเขาเจอพรานมาซุ่มยิงนกเงือกที่ต้นไทรสุก..พบยิงนกชนหินถึง 4 ตัว ใจหายและรู้สึกโกรธจะทำอย่างไรกันดี ?
สิ่งที่เราช่วยกันดูแลรักษากำลังถูกทำลาย และผมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพียงแค่บันทึกบอกกล่าวและได้ระบายอะไรบ้าง ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเขาก็กลัวเพราะพวกมันมีปืน
ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “ผมเคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิงนกเงือก เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก
…………….
หลายปีที่ผ่านมาสำหรับผมคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง..หากปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป.. จะมีประโยชน์อะไรสำหรับงานอนุรักษ์นกเงือกที่บูโด
ขอพื้นที่ตรงนี้ได้บอกเล่าความจริงเผื่อว่าจะมีทางออกที่ดีกว่าและมาช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป..
ซึ่งเวลานี้ผมก็เพียงแค่ภาวนาต่อเจ้าป่าเจ้าเขาบูโดขอให้คุ้มครองพวกมันด้วยเถิด…”
ด้านหมอหม่อง นพ. รังสฤษฏ์ กาญจนายวณิชย์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ได้ออกมาโพสต์บนเฟซบุ้คส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit เช้าวันที่ 26 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย ในเนื้อหาระบุว่า
“นกชนหิน ต้องการการปกป้องจากพวกเราโดยด่วน
นกชนหิน เป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณ มีลักษณะโดดเด่นต่างกับนกเงือกอื่น คือมีโหนกตันคล้ายงาช้าง ซึ่งกลายเป็นความต้องการของตลาดนักสะสม นกชนหินจึงมีราคาค่าหัว ถูกไล่ล่า จนใกล้สูญพันธุ์
ในประเทศไทยเหลือนกชนหิน ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่เพียง ประปรายในป่าดิบภาคใต้
ที่ผ่านมา ใบ order ยังมาไม่ถึงเมืองไทยเพราะการล่าที่อินโดนีเซีย ทำได้ง่ายกว่า
แต่ปัจจุบันนกชนหินแทบจะหมดไปจากบอร์เนียว และพื้นที่อื่น ๆ ทีเคยพบชุกชุม ความต้องการทางตลาดจึงพุ่งเป้า มาที่นกชนหินบ้านเรา
ขณะนี้เริ่มมีการขบวนการล่านกชนหินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บูโดสุไหงปาดี นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด อาจไม่สามารถ ป้องปรามภัยคุกคามนี้ได้ ผมขอพวกเราช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้มีการระดมกำลัง ทรัพยากรในการเข้าปราบปรามขบวนการล่า ค้า นกชนหินอย่างเด็ดขาด ทั้งวงจร ทั้งในพื้นที่จนถึงเครือข่ายออนไลน์ใต้ดิน
ผมใคร่ขอความกรุณาจากผู้บริหารระดับสูง กระทรวงทรัพย์ ใส่ใจวาระนี้อย่างเร่งด่วน ก่อนเราสูญเสีย มรดกธรรมชาติอันมีค่านี้ของชาติและของโลก ไปตลอดกาล”
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านงานอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อม ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงแทนสัตว์ป่าและเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ ร่วมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการ ฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น
ร่วมส่งเสียงแทนสัตว์ป่ากับเราที่นี่ : ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย #SaveHornbill (คลิ้ก)
ที่มา : “นกชนหิน” ถูกล่าตัดหัว สังเวยค่านิยมเครื่องประดับ
เมื่อนกเงือกถูกไล่ล่าเพื่องาเลือด
ชะตากรรมบนเส้นด้ายของนกชนหินที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากน้ำมือพราน การล่าเพื่อเอาโหนกของพรานกำลังยิ่งทำให้นกชนหินที่มีไม่ถึง 20 คู่ในเทือกบูโดตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)