ในวันที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยห้างร้านและฝุ่นควัน เราแทบจะนึกไม่ออกเลยว่าที่แห่งไหนบ้างที่จะทำให้เราได้ผ่อนคลาย ที่ที่ไร้ซึ่งความวุ่นวายและความหม่นหมองในห้วงความคิด
กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่เคยหลับไหลเต็มไปด้วยแสงไฟ และรถรางบนท้องถนน ที่นี่อาจจะเป็นดินแดนศิวิไลซ์ของนักท่องราตรีในยามค่ำคืน แต่หากย้อนถามคนที่ต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้แล้ว คงหาความสุนทรีย์ให้กับชีวิตได้ไม่มากนัก ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกเส้นทางการทำงานในกรุงเทพฯ มาลองใช้ชีวิตแบบชาวแบงค็อกเกี้ยนดู
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เห็นการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วทั้งผู้คน การเมือง แฟชั่น เทคโนโลยี ตลอดจนเส้นทางรถไฟฟ้าที่แผ่ขยายเกือบทั้งหมดของกรุงเทพฯ แต่สิ่งหนึ่งที่เติบโตอย่างเชื่องช้านั่นก็คือ พื้นที่ที่พร้อมรองรับเหล่ามนุษย์กรุงเทพฯ ในการออกมานั่งพักผ่อน หรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหลังจากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเรียนและการทำงานมาทั้งอาทิตย์
เมื่อถามถึงพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ คุณนึกถึงสถานที่แห่งไหนบ้าง ?
สำหรับผู้เขียนแล้ว ช่างเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาในการนึกคิดพอสมควร เพราะมีไม่กี่ที่ ที่เป็นสวนสาธารณะขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ และสะดวกต่อการเดินทาง จากข้อมูลสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมพบว่า 10 อันดับสวนสาธารณะที่มีพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ สวนหลวง ร.๙ มีพื้นที่ 500 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) มีพื้นที่ 375 ไร่ สวนลุมพินี มีพื้นที่ 360 ไร่ สวนเสรีไทยมีพื้นที่ 350 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพื้นที่ 196 ไร่ สวนจตุจักร มีพื้นที่ 155 ไร่ สวนเบญจกิติ มีพื้นที่ 130 ไร่ สวนวารีภิรมย์ มีพื้นที่ 122 ไร่ สวนนวมินทร์ภิรมย์ มีพื้นที่ 76 ไร่ และสวนธนบุรีรมย์ มีพื้นที่ 63 ไร่
ประชากรในกรุงเทพฯ จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง อยู่ที่ 5.6 แสนคน ส่วนพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ ๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน ป่าในเมืองโดยเฉพาะสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว มีส่วนช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ในงานของ Ulrich (1984) พบว่า ประโยชน์ของภูมิทัศน์ในเขตเมืองนั้นส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศอุตสาหกรรม (รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ)
ทุกประเทศสามารถเรียนรู้ได้จากข้อผิดพลาดของบางประเทศว่า การพัฒนาเมืองโดยตัดสัมพันธ์กับต้นไม้และป่าอย่างสิ้นเชิงนั้นมันสร้างผลร้ายอะไรได้บ้าง ” สเตฟาโน โบเอรี
ยิ่งคุณมีพื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่ คุณยิ่งสามารถต่อสู้กับศัตรูได้มากเท่านั้น
ในบทสัมภาษณ์ กู้โลกด้วยการออกแบบเมือง ของสเตฟาโน โบเอรี สถาปนิกชื่อดังชาวอิตาลี ผู้ออกแบบ ‘ป่าในเมือง’ ได้ให้สัมภาษณ์บนเว็บไซต์ theurbanis กล่าวถึงประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ
“ความจริงที่คุณเปลี่ยนไม่ได้คือ ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% ซึ่งหมายความว่า ต้นไม้คือพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของคุณ ยิ่งคุณรักษาหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองคุณได้มากเท่าไร คุณยิ่งสามารถต่อสู้กับศัตรูในบ้านของคุณเองได้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น เป็นวิธีที่ไม่ได้ซับซ้อน แต่เป็นวิธีอัศจรรย์ที่สามารถต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งมันหมายถึงการอยู่รอดของเมืองและสิ่งมีชีวิต” สเตฟาโน โบเอรี
แนวคิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองของสเตฟาโนมี 2 วิธีด้วยกัน หนึ่งคือการการสร้างป่าในเมืองที่มันมีอยู่ ด้วยการทดแทนหรือปกคลุมพื้นผิวของเมืองที่เป็นคอนกรีต หินอ่อน หรือหินด้วยพื้นที่สีเขียว (Demineralization) เพราะวัสดุก่อสร้างเหล่านี้เพิ่มความร้อนให้กับเมือง และส่งผลต่อชั้นบรรยากาศโลก สองคือการสร้างป่าในเมืองที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เราแทบจะหลีกเลี่ยงการสร้างเมืองใหม่ไม่ได้ ฉะนั้นการพัฒนาเมืองจำเป็นต้องคำนึงถึงพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับแรก
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คุณออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านบ้างหรือยัง ?
คำนิยามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้เขียนในที่นี้ ไม่ใช่การออกไปเรียน ทำงาน หรือทำธุระอื่น ๆ ที่คุณจำเป็นต้องก้าวออกจากบ้าน แต่มันหมายถึงการออกไปพักผ่อนหย่อนใจ ห่อข้าวกล่องไปปิคนิค หรือพาเหล่าสัตว์เลี้ยงสี่ขาไปเดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์แถวสวนสาธารณะ รวมไปถึงการเดินชมเมือง หรือส่องงานศิลปะที่หอศิลป์ กิจกรรมที่กล่าวมานี้คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก เมื่อเมืองไม่เอื้อให้คนอยากออกนอกบ้าน เพราะนอกจากจะเดินทางลำบากแล้ว ยังต้องทนกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุ แถมยังต้องทนกับสภาพการจราจรติดขัดตลอดวัน หลายคนจึงเลือกนอนนิ่ง ๆ ดูซีรี่ส์ เปิดเน็ตฟลิกซ์อยู่ที่บ้าน ดีกว่าต้องออกมาฝ่าฟันกับมลภาวะต่าง ๆ ในเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้
มันคงจะดีไม่น้อยหากพื้นที่สีเขียวอยู่ใกล้กับที่พัก หรือสถานที่ทำงานของคุณ ตึกสูงของห้างสรรพสินค้าที่มีต้นไม้น้อยใหญ่เลื้อยคดเคี้ยวออกมาจากลานจอดรถ หรือแม้แต่โครงการสร้างที่อยู่อาศัยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียว เพื่อให้คุณได้นั่งมองในวันที่ห้วงความคิดและชีวิตเริ่มสับสนวุ่นวาย เพราะอย่างน้อย ๆ การได้นั่งมองต้นไม้เหล่านั้นก็ช่วยให้ความรู้สึกของคุณสงบลงได้
ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ที่มา
‘พื้นที่สีเขียว’ สิ่งที่ขาดของคนกรุงเทพฯ
กู้โลกด้วยการออกแบบเมือง คุยกับสเตฟาโน โบเอรี – สถาปนิกผู้ออกแบบ ‘ป่าในเมือง’
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร