วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิภาคเอเชียนับว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยมีพื้นที่อย่างน้อย 6 แห่ง จาก 25 แห่งที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity hotspot) หมายถึงพื้นที่ที่มีชนิดพันธุ์ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (endangered species) อาศัยอยู่อย่างหน้าแน่น

ภูมิภาคดังกล่าวมีชนิดพันสัตว์มีกระดูกสันหลังและพืชราวร้อยละ 20 จากชนิดพันธุ์ทั้งหมดที่พบบนโลก และมีพื้นที่ป่าเขตร้อนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยนักวิทยาศาสตร์ไปค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ถึง 2,216 ชนิดพันธุ์ระหว่าง พ.ศ. 2540 ถึง 2557

อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามมากมายกำลังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในสภาวะน่าเป็นกังวล

 

ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย

ความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในสภาวะถูกคุกคามอย่างหนัก นักวิจัยคาดว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า บางพื้นที่ในภูมิภาคอาจสูญเสียพื้นที่ป่าราวร้อยละ 98 ของผืนป่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลก คือราวร้อยละ 14.5 จากพื้นที่ที่เคยมีอยู่เดิม

บางพื้นที่ เช่น ป่าในประเทศฟิลิปปินส์ ถูกทำลายลงราวร้อยละ 89 จากพื้นที่ป่าดั้งเดิม การสูญเสียดังกล่าวสามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นจากเทคโนโลยภาพถ่ายดาวเทียมที่ทันสมัย เช่น Google Earth ที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ป่าดั้งเดิมได้ถูกแปลงให้กลายพื้นที่ทางการเกษตร การสูญเสียพื้นที่ป่านับว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญพันธุ์ โดยมีอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ การปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผืนป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียพื้นที่ป่าร้อยละ 14.5 ระหว่าง 15 ปีที่ผ่านมา

 

เขื่อนและการทำเหมือง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแผนการก่อสร้างเขื่อนมากที่สุดในโลก แม้ว่าเขื่อนจะถูกมองว่าเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ การสร้างเขื่อนจะทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในชนบท

ปัจจุบัน มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนถึง 78 แห่งในลุ่มน้ำโขง หากมีการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดตามแผน คาดว่าจำนวนปลาที่อพยพจะลดลงราวร้อยละ 20 ในแม่น้ำโขง ยังไม่นับการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นอ่างเก็บน้ำ และความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำแล้งในพื้นที่ปลายน้ำ แม่โขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก และการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์จำนวนมากในลำน้ำนั้นคือวิกฤตการณ์

พื้นที่ชุ่มน้ำที่เริ่มเผชิญภาวะแห้งแล้งก็นับเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญและพื้นที่สืบพันธุ์ของนกอพยพกว่า 50 ล้านชีวิต พื้นที่ชุ่มน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวร้อยละ 80 กำลังแปลงสภาพเป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรือการพัฒนาอื่นๆ โดยผันน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ปัจจุบัน เราได้สูญเสียพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึงไปราวร้อยละ 45 และการสูญเสียดังกล่าวทำให้ประชากรของนกชายเลนลดลงถึง 79 เปอร์เซ็นต์

การทำเหมืองแร่มักเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม แต่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการทำเหมืองหินปูนที่มีพื้นที่กว่า 800,000 ตารางกิโลเมตรรอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งระบบนิเวศเขาหินปูนเป็นพื้นที่สำคัญของชนิดพันธุ์อย่างน้อย 10 ชนิดที่จะไม่พบที่ไหนในโลก นอกจากนี้ พื้นที่เขาหินปูนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ไม่มีทางรู้เลยว่าชนิดพันธุ์สัตว์ไปสูญพันธุ์ไปแล้วเท่าไร

 

การล่าและการค้า

อีกภัยคุกคามหนึ่งต่อความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาค คือการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งตลาดดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเป็นตลาดผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การล่านับว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการอยู่รอดในอนาคตของหลายชนิดพันธุ์ โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมจำนวนเพียงหยิบมือที่จะอยู่รอดนอกพื้นที่อนุรักษ์ การล่าคุกคามทุกชนิดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์มูลค่าสูงเพื่อการซื้อขาย และธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งชนิดพันธุ์ชนาดเล็กที่ถูกล่าเพื่อเป็นยา อาหาร หรือเพื่อความบันเทิง

การค้าสัตว์ป่าในเอเชียสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เพื่อใช้เป็นยา เพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง สวนสัตว์ หรือศูนย์แสดงสัตว์น้ำ แม้ว่าผู้มีชื่อเสียงจะรณรงค์ปกป้องบางชนิดพันธุ์ แต่ในรายชื่อนั้นก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดและยังมีอีกหลายชนิดพันธุ์ที่ไม่ถูกกล่าวถึง

อย่างไรก็ดี นักวิจัยและนักอนุรักษ์ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยากที่ในทศวรรษหน้า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูญเสียชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic species) แต่จำนวนชนิดพันธุ์ที่หลงเหลือจะมีอยู่เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการทำงานอนุรักษ์

.


ถอดความและเรียบเรียงจาก Southeast Asia is in the grip of a biodiversity crisis โดย Alice Catherine Hughes
ถอดความและเรียงเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์