พบสาเหตุการตายวาฬหัวทุยแล้ว ผลชันสูตรระบุตายเพราะป่วย ฟันบางส่วนถูกตัดออกด้วยของมีคม

พบสาเหตุการตายวาฬหัวทุยแล้ว ผลชันสูตรระบุตายเพราะป่วย ฟันบางส่วนถูกตัดออกด้วยของมีคม

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับรายงานพบซากวาฬหัวทุยลอยตายอยู่กลางทะเล บริเวณระหว่างเกาะลันตาใหญ่-เกาะไหง ห่างจากเกาะลันตาประมาณ 3 ไมล์ทะเล โดยเจ้าหน้าที่ได้ลากวาฬตัวดังกล่าวเข้ามาที่บริเวณเกาะกวง หน้าบ้านสังกะอู้ หมู่ 7 ต.เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่

จากการชันสูตรซากวาฬหัวทุยโดยทีมสัตวแพทย์ ทช. และสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตตรัง พบว่าวาฬหัวทุยตายเพราะป่วย ฟันบางส่วนถูกตัดออกด้วยของมีคม จากการรายงานของ ทช. ผ่านเฟซบุ้คกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า

วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน รายงานผลชันสูตรวาฬหัวทุย เพศผู้ วัยรุ่น ขนาดความยาว 11.33 เมตร สภาพซากเริ่มเน่า บริเวณรอบลำตัวพบรอยถลอกจากการจัดการซากโดยการลาก ปลายหางแหว่ง แต่เป็นแผลที่สมานแล้ว ไม่พบบาดแผลอื่น ๆ ที่ชัดเจน จากการผ่าชันสูตรพบปลายกรามล่าง และฟันบางส่วนถูกตัดออกด้วยของมีคม และบริเวณเหงือกรวมถึงผิวหนังด้านล่าง พบรอยแผลจากของมีคมซึ่งเกิดภายหลังการเสียชีวิต โดยฟันกรามล่างที่เหลืออยู่มีจำนวน 18 คู่ 

สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ จากระบบหายใจล้มเหลว ร่วมกับการติดเชื้อทั่วร่างกาย เนื่องจากพบผนังช่องอกมีหนองขนาดใหญ่ โดยดูดของเหลวออกมาได้ประมาณ 3 มิลลิลิตร และภายในเนื้อปอดพบการคั่งเลือด นอกจากนี้ยังพบรอยปลาฉลามกัดจำนวน 1 รอย โดยเป็นรอยที่เกิดขึ้นก่อนการเสียชีวิต เนื่องจากพบการอักเสบอยู่รอบบาดแผล ภายในกระเพาะอาหารพบจงอยปากหมึกจำนวนมาก และขยะเป็นขวดพลาสติก 3 ใบ และถ้วยพลาสติก 1 ใบ ซึ่งขยะที่พบไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต เนื่องจากยังไม่พบการอักเสบของผนังกระเพาะ แต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ และพบพยาธิอยู่ในทางเดินอาหารและตับ อย่างไรก็ตามไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิต เนื่องจากมีจำนวนเล็กน้อย ซึ่งเป็นภาวะปกติที่สามารถพบได้ในสัตว์ป่า อวัยวะภายในอื่น ๆ ไม่พบรอยโรคที่ชัดเจน เนื่องจากสภาพเน่าและเสียสภาพแล้ว จากนั้นได้เก็บตัวอย่างผิวหนังเพื่อตรวจสอบทางพันธุกรรมและตัวอย่างพยาธิเพื่อระบุชนิดต่อไป

 

 

จากผลการศึกษาของ ทช. พบว่าในช่วง 28 ปีที่ผ่านมามีการพบซากจากการเกยตื้นของวาฬหัวทุยแล้วถึง 21 ครั้ง โดยพบมากที่สุดที่ภูเก็ตถึง 11 ครั้ง สถานะปัจจุบันของวาฬหัวทุยจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก (สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535)

โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว พบเป็นโลมาและวาฬ 38% ส่วนสาเหตุเกยตื้นของสัตว์กลุ่มนี้คือป่วยตามธรรมชาติมากกว่า 60% 

 

 


ที่มา : สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากไทย ปี 2560
เฟซบุ้ค กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ Somboon Temchuen